ผู้เชี่ยวชาญชี้ "ซิงเกิล เกทเวย์" ทำให้ไทยเสียหายทางธุรกิจ-อดเป็นฮับเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน

Logo Thai PBS
ผู้เชี่ยวชาญชี้ "ซิงเกิล เกทเวย์" ทำให้ไทยเสียหายทางธุรกิจ-อดเป็นฮับเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน

คนแวดวงไอทีวิตกกังวลพอสมควร หลังรัฐบาลเตรียมผลักดันการจัดตั้ง ซิงเกิล เกทเวย์ โดยมอบหมายให้กระทรวงไอซีทีรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลที่ไม่เหมาะสม หรือบล็อคข้อมูลที่ให้เกิดความวุ่นวาย หรือเกิดความเกลียดชังได้ทันที ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจะทำให้ไทยเกิดความเสียหายทางธุรกิจ หรือขาดโอกาสการเป็นฮับทางเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน

เกตเวย์ คือประตูเข้าออกอินเทอร์เน็ตสู่โลกภายนอก เชื่อมระหว่างเครือข่ายหนึ่งไปยังอีกเครือข่ายหนึ่งเทียบง่ายๆ คล้ายกับท่าเรือ สนามบิน ยกตัวอย่างถ้าใช้เฟซบุ๊กจากสมาร์ทโฟน ข้อมูลจากสมาร์ทโฟนจะส่งต่อไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ก่อนที่จะส่งต่อไปที่ผู้ให้บริการเกทเวย์กว่า 10 ราย ส่งไปที่ เกทเวย์ สิงคโปร์ เพื่อไปยังเซิฟเวอร์เฟซบุ๊กที่สิงคโปร์ เซิฟเวอร์เฟซบุ๊กที่สิงคโปร์ จะส่งข้อมูลกลับมาทางผ่านเกทเวย์ของ 2 ประเทศ เข้าผู้ให้บริการไอเอสพี เข้าสมาร์ทโฟนของเพื่อน แม้ว่าเราอยู่ใกล้กัน แต่การสื่อสารต้องออกไปเซิฟเวอร์ในต่างประเทศก่อนจึงกลับมาอีกครั้ง
 
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ใช้ ซิงเกิล เกทเวย์ หรือประตูเข้า-ออก เดียว การเล่นเฟซบุ๊ก ก็จะเข้า-ออก เกทเวย์เดียวประตูเดียวเท่านั้น หรือย้อนไปก่อนปี 2540 ที่ไทยเคยมีเกทเวย์เข้าเดียว แม้จะเป็นเรื่องทางเทคนิคอาจฟังดูไกลตัว แต่เรื่องนี้มีผู้กระทบกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญมีข้อสังเกตช่องโหว่ของ ซิงเกิล เกทเวย์
 
สำหรับข้อดีของ ซิงเกิล เกทเวย์ คือรัฐบาลสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ไม่เหมาะสม หรือบล็อคข้อมูลที่ให้เกิดความวุ่นวาย หรือเกิดความเกลียดชังได้ทันที ส่วนข้อเสีย มีการตั้งคำถามว่าจะไว้ใจการรักษาความปลอดภัยของผู้ให้บริการ เกทเวย์ เจ้าเดียวอย่างไร ราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นจากการขยายแบนวิธีที่เหลือเพียงเจ้าเดียว หากไม่ขยายแบนวิธ จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตลดต่ำลง 
 
ทั้งนี้ ประเทศที่ใช้ ซิงเกิล เกทเวย์ มีหลายประเทศ เช่น จีน, ลาว, เกาหลีเหนือ และแถบตะวันออกกลาง โดยพบว่ารัฐบาลจีนสามารถควบคุมประชากร 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ให้พูดถึงข้อมูลที่กระทบหน่วยงานรัฐ หรือเข้าถึงเว็บไซต์ต่างประเทศอย่าง กูเกิล, เฟซบุ๊ก, ยูทูป
 
ส่วนผลกระทบต่อการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่าหากมีการดำเนินนโยบายนี้จริง จะทำให้ไทยเกิดความเสียหายทางธุรกิจ หรือขาดความเชื่อมั่นจากต่างชาติได้ หรือขาดโอกาสการเป็นฮับทางเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ส่วนรัฐบาลให้เหตุผลว่าเป็นวิธีเพื่อดูแลความมั่นคง โดยกลับไปใช้ช่องทางการเข้า-ออกข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแบบเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง