ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทม.ยืนยันจำเป็นต้องสร้างอุโมงค์ทางลอดมไหสวรรย์แก้รถติด

13:47
32
กทม.ยืนยันจำเป็นต้องสร้างอุโมงค์ทางลอดมไหสวรรย์แก้รถติด

คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก และกรุงเทพมหานครยืนยันถึงความจำเป็นในโครงการก่อสร้างทางลอดถนนตากสินกับถนนรัชดาภิเษก เพื่อช่วยระบายการเจรจาที่หนาแน่นทั้งในพื้นที่และบริเวณแยกใกล้เคียงได้ แม้ว่าบริบทสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไป โดยผลการวิเคราะห์จราจรปี 2554 พบว่าความเร็วเฉลี่ยของรถละแวกดังกล่าวอยู่ที่ระดับประมาณ 13 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือว่าค่อนข้างช้า และหนาแน่นเพิ่มขึ้นจากปี 2547

ป้ายประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างทางลอดถนนตากสินกับถนนรัชดาภิเษกของกรุงเทพมหานครถูกติดตั้งตลอดแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ว่า บริเวณดังกล่าวจะมีการก่อสร้างทางลอดใต้แยกมไหสวรรย์ ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตธนบุรี สั่งรื้อย้ายต้นไม้กว่า 400 ต้น บริเวณเกาะกลางถนนและทางเท้าออก แม้ชาวบ้านละแวกดังกล่าว จะรับรู้มาโดยตลอดว่าจะมีการก่อสร้างโครงการ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่าการติดป้ายประชาสัมพันธ์ คือการได้รับคำชี้แจงรายละเอียดโครงการจาก กทม. และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการก่อสร้าง ว่า สามารถแก้ปัญหาการจราจรในปัจจุบันได้จริงหรือไม่

โครงการดังกล่าวเป็น 1 ใน 16 โครงการ ที่เคยถูกร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสในการประมูล เมื่อครั้งที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2549 และท้ายสุดต้องประกาศยกเลิกโครงการทั้งหมดเป็นเวลานานกว่า 1 ปี จากนั้น กทม.ได้ปรับโครงการและเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้โครงการต้องชะลอไปอีกครั้ง จนกระทั่งปี 2552 ได้จัดประกวดราคา และล่าสุดได้ลงนามสัญญาจ้างบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างลงวันที่ 11 กรกฏาคม 2554

จากการวิเคราะห์การจราจรและเก็บข้อมูลความเร็วรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนตากสิน-ถนนพระราม 2 ช่วงเวลาเร่งด่วนของกองจัดระบบจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ปี 2554 พบว่า ความเร็วเฉลี่ยของรถละแวกดังกล่าวอยู่ที่ระดับประมาณ 13 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือว่าค่อนข้างช้าและหนาแน่นเพิ่มขึ้นจากปี 2547

แม้ปัจจุบันลักษณะทางกายภาพบริเวณดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีโครงการถนนตัดใหม่เพิ่มหลายจุด แต่การก่อสร้างทางลอด ยังเป็นสิ่งที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. ยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าโครงการต่อไป เพราะจะช่วยระบายปริมาณรถที่มาจากสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินตัดกับถนนรัชดาภิเษกให้คล่องตัวขึ้น ลอดผ่านทางอุโมงค์โดยไม่ต้องติดสัญญาณไฟจราจร และยังรับกับการจราจรเชื่อมโยงไปยังอุโมงค์ บริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก และอุโมงค์จรัญสนิทวงศ์กับถนนบรมราชชนนีให้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะเชื่อมต่อกันตลอดแนว โดยผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ต้องติดสัญญาณไฟ เพราะจะช่วยลดจุดตัดทางแยก เพิ่มประสิทธิภาพการจราจรให้ดียิ่งขึ้น

ขณะที่นายจุมพล สำเภาพล รองปลัดกรุงเทพมหานครชี้แจงว่า ได้ทบทวนและศึกษารายละเอียดความเหมาะสมทุกด้านอย่างรอบคอบ และเห็นว่าการดำเนินนี้ จะเชื่อมโยงโครงข่ายถนนวงแหวนรัชดาภิเษกของกทม. และรองรับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาจราจรเร่งด่วนระยะกลางของกทม.

โครงการก่อสร้างทางลอดถนนตากสินกับถนนรัชดาภิเษกอยู่ในพื้นที่เขตธนบุรีในแนวตากสิน เป็นอุโมงค์ทางลอดขนาด 4 ช่องการจราจร มีความกว้าง 17 เมตร ความยาว 887 เมตร รวมระยะทาง 1 พัน 515 เมตร ใช้งบประมาณกว่า 969 ล้านบาท สิ้นสุดสัญญาวันที่ 9 กันยายน 2556 รวมระยะเวลา 700 วัน โดยจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณซอยตากสิน 35/2 บริเวณหน้าชุมสายโทรศัพท์ดาวคะนอง จุดสิ้นสุดอยู่ที่บริเวณซอยตากสิน 22/1 หน้าโรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรื้อย้ายระบบน้ำประปา ไฟฟ้า และโทรศัพท์
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง: