"ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์" ประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ

ต่างประเทศ
22 พ.ย. 58
14:38
1,084
Logo Thai PBS
"ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์" ประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรีพร้อมผู้นำอาเซียน ร่วมลงนามปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ พร้อมรับรองวิสัยทัศน์และแผนงานของประชาคมในอีก 10 ปีข้างหน้า

วันนี้ (22 พ.ย.2558) ที่ศูนย์ประชุม KLCC กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำประเทศอาเซียน ได้ร่วมในพิธีลงนามปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ค.ศ.2015 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญในการประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 รวมถึงได้รับรองปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ.2025 มุ่งหน้าไปด้วยกัน (Forging Ahead Together) ซึ่งเป็นการรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2025 และแผนงานประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก คือ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการมองภาพรวมของอาเซียในอีก 10 ปีข้างหน้า

ในโอกาสนี้ในการเสนอแนวทางของประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ยังได้เสนอแนวทางการสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคเพื่อป้องกันการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ระหว่างที่ผู้นำอาเซียนได้ร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นเวทีที่ได้หารือร่วมกับผู้นำจากสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดียและญี่ปุ่น โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกตัวอย่างเหตุก่อการร้ายในกรุงปารีสที่แสดงถึงความจำเป็นที่ประเทศต่างๆ ต้องประสานข้อมูลเชิงลึกอย่างทันท่วงที และป้องกันการใช้ระบบไอทีในทางที่ผิด

สำหรับปัญหาคาบสมุทรเกาหลีนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฎิบัติตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายโดยเร็ว ขณะเดียวกันยังเห็นควรให้เร่งแก้ปัญหาการโยกย้านถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียเพื่อหยุดยั้งการค้ามนุษย์ และเรียกร้องให้ผู้นำโลกทุ่มเทกับการแก้ปัญหา การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นเดียวกับภูมิภาคอาเซียนที่ต้องเร่งขจัดปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่เป็นภัยต่อสุขภาพประชาชน

ขณะที่วันนี้ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องในวันสุดท้าย ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ได้กลายเป็นประเด็นร้อน หลิว เฉิน หมิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงระหว่างการประชุมระบุว่าการที่สหรัฐอเมริกาส่งเรือรบเข้าใกล้เกาะเทียมของจีนที่อยู่ในทะเลจีนใต้ในรัศมี 12 ไมล์ทะเล ถือเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตของเสรีภาพแห่งการเดินเรือ ถือเป็นการคุมคามทางการเดินเรือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการสนองตอบของรัฐบาลจีน พร้อมกล่าวว่าจีนเคารพเสรีภาพทางการเดินเรือในทะเลจีนใต้ และหวังว่าประเทศที่อยู่ทั้งในและนอกภูมิภาคจะร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ การเดินเรือทำได้เสรี แต่ก็ต้องเคารพประเทศอื่นด้วย นอกจากนี้จีนยังระบุถึงสาเหตุที่สร้างฐานทัพบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ว่าเป็นเพราะจีนต้องการสร้างฐานทัพไว้เพื่อป้องกันตนเอง ซึ่งถือเป็นระเบียบปฏิบัติในการปกป้องประเทศและเกาะเทียมดังกล่าว

มีรายงานว่านายเบนิกโน อาคิโน ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ กล่าวในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ (EAST ASIA SUMMIT 10th) ซึ่งมีนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ร่วมประชุมด้วย ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวว่าโลกกำลังจับตาดูและตั้งความหวังกับจีนในฐานะที่จีนเป้นประเทศมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ

ด้านบารัค โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในการประชุมกับอาเซียนกับสหรัฐฯ วานนี้ว่าสมาชิกอาเซียนควรจะทำงานร่วมกันเพื่อรับประกันว่าทุกประเภทจะยึดถือกฎหมายและหลักปฏิบัติสากลต่อปัญหาข้อพิพาททะเลจีน หาทางออกด้วยสันติเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง รักษาเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน พร้อมขอบคุณอาเซียนที่ทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of conduct) และเพื่อเห็นแก่เสถียรภาพของภูมิภาคนี้ ผู้ที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ควรยุติการถมพื้นที่ในทะเล ยุติสร้างสิ่งปลูกสร้าง และยุติการใช้กำลังทหารในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ยังย้ำถึงการปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอสว่าจะปราบปรามไอเอสให้หมดสิ้น

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนที่จะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธ.ค.2558 หลังการประชุมเสร็จสิ้นได้มีพิธีปิดและส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง