ครึ่งทางอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ มองผ่านคอลัมนิสต์ "ย้อนยุคการเมืองน้ำเน่าหรือปิดสวิตช์รัฐประหาร"

การเมือง
23 เม.ย. 58
13:02
178
Logo Thai PBS
ครึ่งทางอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ มองผ่านคอลัมนิสต์ "ย้อนยุคการเมืองน้ำเน่าหรือปิดสวิตช์รัฐประหาร"

เข้าสู่วันที่ 4 ของการอภิปรายเสนอแนะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ การอภิปรายซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย.2558 ขณะที่การอภิปรายโดยสปช.มีความร้อนแรงในหลายประเด็น โดยเฉพาะที่มาของนายกรัฐมนตรี การอภิปราย "นอกสภา" บนหน้าหนังสือพิมพ์ก็เข้มข้นไม่แพ้กัน โดยมีความเห็นหลากหลายจากคอลัมนิสต์ ทั้งสนับสนุนและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ

เปลว สีเงิน : หนุน กมธ.ยกร่าง เปิดทาง "นายกฯ คนนอก" ทางออกสุญญากาศการเมือง
"เปลว สีเงิน" เขียนในคอลัมน์คนปลายซอยในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 23 เม.ย.2558 แสดงความเห็นสนับสนุนเนื้อหาในมาตรา 172 ที่มานายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าการวิพากษ์วิจารณ์ที่พุ่งประเด็นว่ารัฐธรรมนูญจงใจเขียนเฉพาะเจาะจงว่าเปิดทางให้คนที่ไม่ใช่ ส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คือ การ "มโน" เพราะเจตนารมณ์ของมาตรานี้ไม่ได้มุ่งเปิดให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่เป็น "ประตูฉุกเฉิน" ไว้ใช้หนีตายยามเกิดสุญญากาศทางการเมืองเท่านั้น ส.ส.ในสภาจะเป็นผู้ที่ถือกุญแจไขประตูฉุกเฉินนี้ โดยได้ยกถ้อยความในมาตรา 172 ในวรรคสุดท้ายที่ระบุว่า หากบรรดา ส.ส.ในสภาต้องการเลือกผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรมาเป็นนายกฯ ต้องมีเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ซึ่งต้องเป็น ส.ส.ทุกพรรครวมกัน 300 เสียงขึ้นไป พร้อมระบุว่า ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ ส.ส.จะเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ เนื่องจากมีบุคคลของพรรคตัวเองเข้าไปนั่งอยู่ใสภาอยู่แล้ว แต่หากร่วมมือร่วมใจกันเลือกคนนอกจริง นั่นหมายความว่าสภานั้นเกิดวิกฤตศรัทธา แก้กันเองไม่ได้  สรุปแล้วมาตรา 172 นี้ มีเจตนารมณ์ที่จะให้ "ส.ส.เป็นใหญ่ในแผ่นดิน"

ทั้งนี้เปลวสีเงิน ได้ชื่นชม กมธ.ยกร่างฯ ว่าอยู่ในโลกความเป็นจริง ออกแบบรัฐธรรมนูญจากประสบการณ์ที่สร้างทางฉุกเฉินไว้ สุญญากาศทางการเมืองจะไม่เกิด และทหารจะไม่เข้ามายึดอำนาจ

ลม เปลี่ยนทิศ : รัฐธรรมนูญย้อนยุคสู่การเมืองน้ำเน่า พลเมืองไม่ได้เป็นใหญ่
ขณะที่ "ลม เปลี่ยนทิศ" จากคอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 23 เม.ย. 2558 เสนอความเห็นผ่านไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เห็นจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญ "ฉบับบวรศักดิ์" ว่า หากให้ผ่านร่างออกไปใช้งาน ไม่เพียงทำให้การรัฐประหาร "เสียของ" หากแต่สร้างความ "เสียหาย" แก่ประเทศชาติ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีจุดอ่อนจำนวนมาก โดยเฉพาะหมวดผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ที่เป็นส่วนกำหนดอนาคตของประเทศ โดยระบุว่าระบบเลือกตั้งที่นำไปสู่รัฐบาลผสมจะทำให้เห็นการเมืองย้อนยุคกลับสู่อดีตที่พรรคการเมืองจะต่อรองโควตารัฐมนตรีในการจัดตั้งรัฐบาล 

คอลัมน์นิสต์แห่งค่ายไทยรัฐอธิบายว่า ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่นำแบบมาจากเยอรมนีมีเจตนามุ่งให้เกิดรัฐบาลผสมเพื่อแก้ปัญหาผเด็จการเสียงข้างมากจนนำไปสู่การยึดอำนาจ เขาเห็นว่าเหตุผลที่ กมธ.ยกร่างฯ บอกว่ารัฐบาลผสมไม่อ่อนแอ เพราะความมีเสถียรภาพของรัฐบาลขึ้นอยู่กับคุณภาพคนในรัฐบาลและพรรคการเมือง เป็นเหตุผลทางกฎหมายที่ "แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา" จนทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้เหมือนเป็นการเขียนนิยายน้ำเน่า นอกจากนี้ยังวิพากษ์ประเด็นที่มา ส.ว. 200 คนที่ออกแบบมาจาก 3 ทาง มีการสรรรหาและการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ "พลเมืองเป็นใหญ่" อย่างที่ กมธ.ยกร่างฯ ประกาศไว้ "นอกจากไม่เห็นหัวประชาชนแล้ว ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอีกด้วย"

บท บก. "เดอะ เนชั่น" – เราต้องการรัฐธรรมนูญที่มีหลักนิติรัฐ ไม่ใช่เครื่องมือของผู้ปกครอง
บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 21 เม.ย.2558 ระบุว่า รัฐธรรมนูญนี้ได้สร้างให้พลเมืองบางส่วนมีอภิสิทธิ์เหนือพลเมืองกลุ่มอื่น เดอะเนชั่นระบุว่าประเด็นสำคัญที่ประชาชนไทยควรตระหนักในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญควรดูที่หลักนิติรัฐที่รัฐธรรมนูญสร้างไว้ และการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ตัดเส้นทางที่จะนำไปสู่การมีสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยการริบอำนาจในการเลือกตัวแทนเข้าไปทำงานในสภา เช่น บทบัญญัติว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา 200 คน ที่ส่วนหนึ่งมาจากการเสนอชื่อ และอีก 77 คนมาจากการลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อไว้แล้ว

"กมธ.ยกร่างฯ มีแนวคิดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลว่า คนบางคนรู้ดีกว่าคนอื่นว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับประเทศ และคนเหล่านีควรมีสิทธิ์ในการเลือกผู้สมัครที่จะลงรับเลือกตั้ง กมธ.ยกร่างฯ อ้างว่าถ้าเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปแบบเดิม บรรดา 'คนดี' อย่างผู้นำชาวนา ปราชญ์ชาวบ้าน ก็จะไม่มีวันได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในสภา"

บทบรรณาธิการเดอะเนชั่นสรุปว่า วิธีที่มองว่าคนกลุ่มหนึ่งรู้ดีและพึงมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่าคนอื่นๆ ไม่เพียงค้านกับหลักเหตุผลแต่ยังไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐอีกด้วย และรังแต่จะนำไปสู่ความล้มเหลว รัฐธรรมนูญพึงให้หลักประกันการคงอยู่ของหลักนิติรัฐมากกว่าการเป็นเพียงกฎหมายที่เอื้อให้ผู้ปกครอง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง