พนักงานไทยพีบีเอสจี้ผู้บริหารชี้แจงกระบวนการคัดเลือก "กฤษดา" เป็น ผอ.

สังคม
26 ม.ค. 59
16:53
1,362
Logo Thai PBS
พนักงานไทยพีบีเอสจี้ผู้บริหารชี้แจงกระบวนการคัดเลือก "กฤษดา" เป็น ผอ.
วันนี้ (26 ม.ค.2559) พนักงานไทยพีบีเอสกลุ่มหนึ่งได้ยื่นจดหมายเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารชี้แจงกระบวนการสรรหาผอ.ไทยพีบีเอสที่แต่งตั้งนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็น ผอ.คนใหม่ ด้าน "ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ" ปธ.กรรมการนโยบายไทยพีบีเอสระบุ ไม่รู้ว่าจะต้องชี้แจงอะไรอีก

เวลา 15.00 น.พนักงานไทยพีบีเอสประมาณ 10 คน นำโดยนายโกวิท โพธิสาร ได้รวมตัวยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และกรรมการสรรหาฯ ของ ส.ส.ท. เพื่อขอให้ชี้แจงกระบวนการสรรหาและเลือกผู้อำนวยการไทยพีบีเอส จดหมายฉบับดังกล่าวมีพนักงานจำนวน 32 คน โดย น.ส.พวงรัตน์ สองเมือง ผู้อำนวยการสำนักรายการ ในฐานะรักษาการตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เป็นผู้รับมอบจดหมาย โดยห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวจากภายนอกทำข่าวและถ่ายภาพ

นายโกวิทกล่าวระหว่างยื่นจดหมายเปิดผนึกให้นางพวงรัตน์ว่า จดหมายเปิดผนึกได้ตั้งคำถามถึงการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ว่าเหตุใดจึงเลือกให้นายกฤษดาเป็นผู้อำนวยการส.ส.ท.คนใหม่ นายกฤษดามีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดหรือไม่

นายโกวิทกล่าวว่ากลุ่มพนักงานที่ยื่นจดหมายในครั้งนี้ไม่ได้ไม่พอใจนายกฤษดาเป็นการส่วนตัว แต่มีคำถามว่านายกฤษดามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นผู้อำนวยการ ส.ส.ท.หรือไม่และมีคุณสมบัติตรงตามที่พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 บัญญัติไว้หรือไม่

"กฎหมายมาตรา 32 (3) เขียนไว้ชัดเจนว่า ผู้อำนวยการส.ส.ท.ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพอสมควรด้านสื่อสารมวลชน นายกฤษดามีคุณสมบัติตรงตามนี้หรือไม่ เราหวังว่าคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท.จะมาชี้แจงว่ามีเหตุผลเพียงพอในการเลือกนายกฤษดามาเป็นผอ.หรือไม่ เราจะได้อุ่นใจว่ากระบวนการสรรหาเป็นไปอย่างโปร่งใสพอ ไม่ใช่กระบวนการสีเทาที่เราตั้งคำถามและไม่มีคำตอบ ถ้าท่านไม่ตอบคำถามผมก็ไม่สามารถอธิบายคนอื่นได้ และถ้าคนในไทยพีบีเอสไม่สามารถอธิบายกันเองได้ ผมก็คิดว่าคนข้างนอกจะมีคำถามประเดประดังเข้ามา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของคุณสมบัติตามที่กฎหมายระบุ" นายโกวิทกล่าว

นายโกวิทให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" หลังยื่นจดหมายเปิดผนึกว่า หลังจากนี้จะรอดูท่าที่ของฝ่ายบริหารและคณะกรรมการสรรหา แต่ส่วนตัวคิดว่าฝ่ายผู้บริหารคงไม่นิ่งนอนใจ เนื่องจากเริ่มมีกระแสการตั้งคำถามเกิดขึ้นแล้ว

"เรายังไม่อยากกดดันเพื่อให้ฝ่ายบริหารชี้แจง แต่ถ้าฝ่ายบริหารยังนิ่งเฉยก็ต้องหารือกับกลุ่มเพื่อนพนักงานอีกครั้ง เพราะถ้ากระบวนการสรรหาครั้งนี้ผิดกฎหมาย ก็คงไม่ใช่ผมคนเดียวที่จะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้" นายโกวิทกล่าว "ไทยพีบีเอสกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ถ้าไม่สร้างบรรทัดฐานให้ดี แต่กลับมีการอะลุ่มอล่วย มันก็ไม่แฟร์ และไม่เคลียร์"

ด้านนางพวงรัตน์กล่าวว่า ตนยินดีนำจดหมายเปิดผนึกนี้ส่งต่อให้ทางกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการสรรหาฯ

"ณรงค์" ยืนยันคกก.สรรหาชี้ "กฤษดา" มีคุณสมบัติเหมาะสม

ขณะที่ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.กล่าวว่า ทางคณะกรรมการนโยบายทุกคนไม่ได้รังเกียจที่จะตอบคำถาม ตามที่จดหมายเปิดผนึกของพนักงานที่เรียกร้องมา แต่ไม่รู้ว่าจะชี้แจงอะไรเพิ่มได้อีก เนื่องจากที่ผ่านมาได้ออกเป็นเอกสารและประกาศตามขั้นตอนการสรรหา ผอ.ส.ส.ท.ไปหมดแล้ว อีกทั้งไม่เข้าใจว่า ทำไมพนักงาน 32 คนที่ลงชื่อไม่เข้าใจ แต่เพื่อนพนักงานอีกพันกว่าคนเข้าใจหมดถึงกระบวนการหา ผอ.ส.ส.ท.

 

"ในส่วนคำถามที่ระบุว่าคุณสมบัติของนายกฤษดาตรงตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 หรือไม่นั้น ต้องเรียนว่าคณะกรรมการสรรหาทั้ง 5 คน ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายระดับประเทศ รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเมื่อทั้ง 5 คนตีความคุณสมบัติของนายกฤษดาว่าไม่มีปัญหา ทางกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.จะบอกว่ามีปัญหาได้อย่างไรกัน" ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ชี้แจง

นายณรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่าคณะกรรมการนโยบายจะประชุมกันอีกครั้งตามระเบียบวาระวันที่ 29 ม.ค.2559 ซึ่งอาจมีการหารือกันว่าจะมีการชี้แจงหรือไม่ อย่างไร ระหว่างนี้ หากพนักงานคนใดมีข้อสงสัยขอให้ถามผู้อำนวยการสำนักของตนเองหรือหัวหน้างานตัวเองก่อน

ลำดับเหตุการณ์การสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส

9 ต.ค.2558 คณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกสัญญาจ้างนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.ไทยพีบีเอส โดยชี้แจงว่านายสมชัยได้กระทำผิดสัญญาจ้าง เรื่องการปฏิบัติงานตามแผนงานที่ได้รับความเห็นชอบให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด และการจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายทุก 3 เดือน การเลิกจ้างผู้อำนวยการไทยพีบีเอสครั้งนี้ มีผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. พ้นจากตำแหน่งตามวาระของผู้อำนวยการด้วย ส่วนคณะกรรมการบริหารทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งทันที ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551

16 ต.ค.2558 ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

22 ต.ค.2558 ประธานคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ออกประกาศเรื่องการรับสมัครบุคคลเพื่อรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.-24 พ.ย.2558

24 พ.ย.2558 ส.ส.ท.ประกาศรายชื่อบุคคลผู้สมัครรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการรับสมัครเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2558 มีผู้สมัครทั้งหมด 13 คน

7 ม.ค.2559 คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ซึ่งมีนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการสัมภาษณ์และรับฟังวิสัยทัศน์ผู้สมัครทั้ง 13 คน เพื่อประกอบการพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครและกลั่นกรองคัดเลือกให้เหลือผู้เหมาะสม จำนวน 5 คน ได้แก่
1) ผศ.นลินี สีตะสุวรรณ
2) นายสุระ เกนทะนะศิล
3) นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
4) นายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค
5) นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์
หลังจากนั้น คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ส่งรายชื่อทั้ง 5 คนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายให้คณะกรรมการนโยบายเพื่อมีมติคัดเลือกผู้อำนวยการ ส.ส.ท.คนใหม่

14 ม.ค.2559 คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.เชิญผู้ผ่านการคัดเลือก 5 คนมาแสดงวิสัยทัศน์ และมีมติเลือกนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

20 ม.ค.2559 ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.ลงนามในประกาศแต่งตั้งนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการ ส.ส.ท.

26 ม.ค.2559 พนักงานไทยพีบีเอสกลุ่มหนึ่งยื่นจดหมายถึงผู้บริหารเรียกร้องให้ชี้แจงกระบวนการสรรหาผอ.ไทยพีบีเอสว่าเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่ โดยตั้งคำถามว่านายกฤษดามีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส กำหนดหรือไม่

ประวัตินายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์

เกิดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2508 อายุ 50 ปี

ประวัติการศึกษา
ปี 2552 ประกาศนียบัตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า
ปี 2537 วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (Computer Science) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2532 ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2527 ระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

ประสบการณ์ทำงาน
ปี 2553 - 2558 ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ปี 2544 - 2550, 2551 - 2553 รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ปี 2550 - 2551 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง

ผลงานและประสบการณ์
ปรับปรุงการบริหารงานของ สสส. ใหม่โดยริเริ่มประยุกต์ใช้ระบบ Branding
ปรับระบบการสื่อสารขององค์กรโดยจัดตั้งส่วนงาน Social Marketing
จัดทำแผนการสื่อสารการตลาด เพื่อสังคมให้เชื่อมโยงกับงานสร้างเสริมสุขภาพ
เพิ่ม Brand Awareness จากร้อยละ 48.8 เป็น ร้อยละ 98.7 ภายในระยะเวลา 3 ปี

เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2559 นายกฤษดาได้ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ต่อกรณีที่ถูกตั้งคำถามเรื่องคุณสมบัติเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานด้านสื่อว่าถึงแม้ตนไม่เคยทำงานอยู่ในสถานีโทรทัศน์โดยตรง แต่มีประสบการณ์ในเรื่องการออกแบบการสื่อสารมานานกว่า 14 ปี เห็นได้จากผลงานแคมเปญใหญ่ๆ ที่ผ่านมา เมื่อครั้งทำงานอยู่ใน สสส. เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา สวดมนต์ข้ามปี ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ฯลฯ ซึ่งทุกประเด็นใช้การสื่อสารทั้งนั้น 

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนทำสื่อไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่ในวงการสื่ออย่างเดียว เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคเป็นคนเลือกคอนเทนต์ ซึ่งเป็นมุมมองสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ นายกฤษดาระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง