ปลูกมังคุดอินทรีย์ขายนอกฤดูกาล รายได้งามกิโลละ 200 บาท


16 ก.ค. 66

เปิดบ้านไทยพีบีเอส

Logo Thai PBS
ปลูกมังคุดอินทรีย์ขายนอกฤดูกาล รายได้งามกิโลละ 200 บาท

 

     หากพูดถึงราชินีผลไม้อย่าง “มังคุด” ปกติจะมีให้ซื้อหาในตลาดระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม แต่มังคุดใน จ.นครศรีธรรมราช มีความพิเศษกว่ามังคุดในจังหวัดอื่น ๆ เพราะสามารถให้ผลผลิตนอกฤดูกาลได้ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ โดยมังคุดนอกฤดูจะเริ่มออกดอกในเดือนสิงหาคม และให้ผลผลิตในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็น “เวลาทอง” ที่ทำให้ขายมังคุดขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 150-200 บาท เรียกได้ว่าเกษตรกรไม่ต้องกังวลใจกับราคามังคุดตกต่ำ มิหนำซ้ำยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศอีกด้วย
     อย่างไรก็ตามการปลูกมังคุดให้ออกผลนอกฤดูกาลต้องอาศัยองค์ความรู้และการดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ หนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกมังคุดนอกฤดูกาลสำเร็จและเลือกวิธีปลูกแบบอินทรีย์     คือคุณยงยุทธ เกิดมงคล หรือ “ยุทธ” เกษตรกรรุ่นใหม่ ดีกรีบัณฑิตเกียรตินิยมจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เด็กหนุ่มที่ตัดสินใจหันหลังให้เมืองกรุง และขอกลับมาปักหลักในสวนมังคุดของคุณยายที่ จ.นครศรีธรรมราช

แรงบันดาลใจวิถีวัยรุ่นทำเกษตร

     ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 “ยุทธ” เป็นผู้ชมรายการ “แสงจากพ่อ” ของไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นรายการที่นำเสนอเรื่องราวของบุคคลต้นแบบที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต หลังจากรับชมรายการหลาย ๆ ตอน ยุทธได้รับ     แรงบันดาลใจวางแผนชีวิตของตัวเองบ้าง

     ยุทธกล่าวถึงการบ่มเพาะตัวเองก่อนกลับไปตั้งหลักที่บ้าน-“ตอนใกล้เรียนจบ ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยโอเคกับชีวิตในกรุงเทพฯ เลยหาตัวเลือกว่าจะทำอย่างไรที่จะได้ทำงานอิสระ ไม่ต้องอยู่กับงานที่บีบบังคับใจ เลยนึกถึงต้นทุนที่มีคือ “สวนมังคุด” ของคุณยายที่ปลูกมานานหลายสิบปี มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มศึกษาหาความรู้ พยายามดูคลิปวิดีโอจากสื่อต่าง ๆ จนมาเจอกับรายการ “แสงจากพ่อ” ของไทยพีบีเอส แรงบันดาลใจที่ได้ดูรายการในวันนั้น ผมรู้สึกว่าต้องกลับบ้านให้ได้เพราะมีคนทำสำเร็จ แต่เราต้องรู้ให้จริงก่อนว่า ที่เขาสำเร็จต้องผ่านอะไรมาบ้าง เจออุปสรรคปัญหาอย่างไรบ้าง ผมเลยหาโอกาสเดินทางไปเรียนรู้กับคนต้นแบบในรายการหลาย ๆ คน       

      เพื่อไปดูว่าเขาทำได้จริงเหมือนที่เห็นในรายการหรือเปล่า สิ่งที่เขาทำมีข้อดีข้อเสีย มีจุดเสี่ยงตรงไหน เพราะในรายการอาจจะไม่ได้บอกรายละเอียดเท่ากับเราไปสัมผัสเอง และสิ่งที่เห็นคือเขาต้องแลกมาด้วยความพยายาม ความเหนื่อย และสิ่งสำคัญต้องลงมือทำ ซึ่งเราเป็นสายลุยไม่กลัวเรื่องความล้มเหลวอยู่แล้ว เพราะถ้าเราทำต้องมีสักวันที่ประสบความสำเร็จ” 

วางแผน ออกแบบชีวิต

     แม้ว่า “ยุทธ” จะคุ้นเคยกับสวนของคุณยายมาตั้งแต่เด็ก แต่ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเขาไม่เคยจับจอบเสียม การกลับมาเป็นเกษตรกรจึงเป็นสิ่งที่เขาต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
     “ตอนผมกลับมาแรก ๆ ผมไม่เคยทำเกษตร ทุกคนที่บ้านก็จะมองว่าเราจะทำได้จริงไหม เราจะไปได้สักแค่ไหน ทำไมเรียนจบเกียรตินิยมไม่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ เหมือนคนอื่น แต่ผมตั้งใจแล้วว่าจะกลับมาอยู่ที่บ้านและเผื่อความผิดหวังไว้แล้ว ถ้าผมทำไม่สำเร็จก็จะยอมกลับไปทำงานประจำเหมือนกัน แต่เราทุ่มเทกับงานสวนมากทั้งขุดดินเอง หมักปุ๋ยเอง ฉีดน้ำหมักเอง ผมทำให้คนรอบตัวเห็นว่าเราอยู่ได้จริง ๆ คนแถวนี้เขาก็ว่าเราบ้า แต่พอตอนหลังเขามาถามความรู้จากเรา ผมก็ยินดีแบ่งปันเพราะเราพูดจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำจริง”


“ผมไม่มีทุนเหมือนคนอื่น ผมเลยต้องใช้แรงเข้าสู้ก่อน 

เพราะถ้าไม่ลงมือทำเองก็จะไม่มีความรู้"            

     ผมเริ่มจากมองหาต้นทุนที่มีคือ “ที่ดิน” จากนั้นตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะมาทำอะไรที่นี่บ้าง เช่น จะกลับมาทำสวน แล้วจะแปรรูปผลผลิตด้วยไหม ? หรือจะต่อยอดเป็นที่ท่องเที่ยวดี ? พอได้เป้าหมายแล้วก็ย้อนกลับมาที่วิธีการว่า กว่าจะไปถึงเป้าหมายต้องทำอย่างไร ระหว่างนั้นผมก็วางแผนหารายได้ไปด้วย แบ่งเป็นรายได้รายวัน มาจากการออกไปขายน้ำอ้อยที่ตลาดนัด รายได้รายเดือนมาจากการขายของออนไลน์ อย่างแชมพูมะกรูด น้ำมันมะพร้าว และรายได้รายปีมาจากการขายมังคุดอินทรีย์ ซึ่งแต่ละปีจะให้ผลผลิต 2 ครั้ง


ศึกษาเคล็ดลับการปลูกมังคุดอินทรีย์ ขายนอกฤดูกาล

     อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช คือทำเลที่ตั้งของ “สวนแม่เฒ่า” สวนมังคุดที่ “ยุทธ” ขอกลับมาปักหลักเป็นเกษตรกร และดูเหมือนว่าเขาจะตัดสินใจไม่ผิดเพราะที่นี่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่พิเศษ สามารถปลูกต้นมังคุดที่ให้ผลผลิตนอกฤดูกาลได้
     “มังคุดนอกฤดูจะออกผลผลิตได้ ต้องอาศัยสภาพอากาศพิเศษ อำเภอที่ผมอยู่เป็นพื้นที่ที่ร่องอากาศของทะเลและภูเขามาบรรจบกันพอดี เมื่อบำรุงต้นมังคุดให้มันสะสมอาหารเต็มที่แล้ว      พอเจอฝนทิ้งช่วง อากาศแล้ง 15-45 วัน ต้นมังคุดจะเกิดอาการเครียด หน้าดินแห้ง จากนั้นมันจะเริ่มสะสมตาดอก เมื่อร่องมรสุมผ่านเข้ามา ฝนที่ตกหนักช่วงนั้นจะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้ต้นมังคุดออกดอกและออกผลต่อไป ส่วนผลผลิตนอกฤดูกาลจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติเขาจะให้ อาจไม่ได้ผลผลิตทุกปี ส่วนปุ๋ยที่ใช้บำรุงมังคุด จะเลือกใช้กากอ้อยที่ได้จากการคั้นน้ำขายในตลาดนัดและมูลสัตว์ จะเป็นขี้ไก่ ขี้หมู ขี้วัวก็ได้ ใช้เวลาหมักประมาณ 2 เดือน ก็จะกลายเป็นปุ๋ยชั้นดี แล้วนำปุ๋ยไปใส่รอบโคนต้นมังคุด ใบมังคุดก็จะเขียว เพราะจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายให้ต้นมังคุดได้รับธาตุอาหารได้ดี”

     สำหรับศัตรูพืชของต้นมังคุด ยุทธบอกว่าให้หมั่นดูแลที่ “ใบ” เพราะมักจะเจอ “เพลี้ยไฟ” มันชอบกัดกินใบอ่อนในตอนกลางคืน ถ้าไม่จัดการศัตรูพืชในขั้นตอนนี้ก็จะไม่ได้ผลผลิตเลย ยุทธจึงต้องวางแผนการใส่ปุ๋ยบำรุง การฉีดพ่นน้ำหมักในช่วงเช้า  ช่วงบ่าย ช่วงเย็น เพื่อดูแลต้นมังคุดของเขาให้สามารถออกผลผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง 

           อิสระภาพ ราคาแพง
 

     หลังจากยุทธพาเดินชมสวนและเล่าประสบการณ์การลองผิดลองถูกในสวนมังคุดของเขาให้ฟังแล้ว เปิดบ้านไทยพีบีเอสชวนเขาให้ข้อคิดทิ้งท้ายกับผู้ที่สนใจกลับบ้านมาทำเกษตร 


“ชีวิตเกษตรกรมันไม่ง่ายเลย ถึงจะเป็น “อาชีพอิสระ” 

แต่ก็ต้องวางแผน เพราะ “อิสรภาพมันราคาแพงมาก” 

     ต้องใช้แรง ใช้ความคิด ตอนที่ผมกลับมาที่บ้านช่วงแรก ๆ ผมจึงต้องพยายามลดรายจ่ายในครัวเรือนให้ได้มากที่สุด ไม่เคยปลูกผักกินเองก็ต้องลองทำ งานในสวนก็จะไม่จ้างใคร เพราะเราต้องทำเองเพื่อให้ได้เรียนรู้ ซึ่งเราต้องเผื่อใจว่างานบางอย่างมันอาจจะไม่สำเร็จ ฝึกฝนไปจนกว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง และ “อิสรภาพ” แม้ว่าจะมีราคาแพงแต่มันคุ้มค่ามากในการลงทุน
สิ่งที่อยากฝากไว้คือเรื่องวิจารณญาณในการดูสื่อ หลาย ๆ คนดูสื่อแล้วได้แรงบันดาลใจ เห็นต้นแบบของคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจทำ ผมอยากชวนทุกคนมาคิดทบทวนดูก่อนว่า เรามีปัจจัยที่แตกต่างจากเขาหรือเปล่า เช่น เรามีที่ดินไหม ยังมีหนี้สินอยู่ไหม เราต้องดูแลใครอีกบ้าง ถ้าอยากรู้จริง ๆ ให้พยายามติดต่อไปถึงคนที่เราอยากศึกษาความรู้ด้วย การเข้าไปศึกษาด้วยตัวเอง จะได้ความรู้เพิ่มเติมที่มากกว่าเห็นในสื่อ”

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

มังคุดแสงจากพ่อ
เปิดบ้านไทยพีบีเอส
ผู้เขียน: เปิดบ้านไทยพีบีเอส

รับฟังข้อเสนอแนะ ติชม จากผู้ชมทางบ้าน และชวนคุณผู้ชม "รู้เท่าทันสื่อ" ผ่านเบื้องหลังการทำงานของสื่อสาธารณะ

บทความ NOW แนะนำ