“กี้” ธาตุทองซาวน์ สู่บทบาททนายสาวแม่เลี้ยงเดี่ยว


16 ก.ค. 66

เปิดบ้านไทยพีบีเอส

Logo Thai PBS
“กี้” ธาตุทองซาวน์ สู่บทบาททนายสาวแม่เลี้ยงเดี่ยว

     หากบทบาทของ “กี้” ในมิวสิควิดีโอเพลง “ธาตุทองซาวน์” ปลุกให้ใครหลาย ๆ คนย้อนกลับไปนึกถึงความทรงจำเก่า ๆ ในยุค Y2K ได้อีกครั้ง การสวมบทบาทเป็น “แพท” ทนายความแม่เลี้ยงเดี่ยวในละครชุดใหม่ของไทยพีบีเอส เรื่อง “สืบสวนสำนวนรัก Investigation of love”   ก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ หลิน-มชณต สุวรรณมาศ อยากให้ผู้ชมได้รับความรู้ด้านกฎหมายผ่านการแสดงของเธอ

     สืบสวนสำนวนรัก” (Investigation of love) เป็นละครแนวโรแมนติกดราม่าที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยหลิน-มชณต สุวรรณมาศ รับบทนักแสดงนำ เป็นทนายความที่มีจิตใจแข็งแกร่ง อยากช่วยเหลือผู้คนให้ได้รับความยุติธรรม โดยหยิบยกคดีความที่เคยเกิดขึ้นจริงมานำเสนอผ่านละครทั้ง 12 ตอน 
     หลิน เล่าถึงบทบาทการแสดงที่ท้าทายความสามารถของเธอว่า  “รู้สึกดีใจที่ได้รับบทบาทเป็น “แพท” ทนายความที่รักความถูกต้อง ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ตัวละครนี้จะแสดงออกว่า การเป็นทนายความที่มีข้อกฎหมายเป็นเครื่องมือ เขาพร้อมที่จะต่อกรกับอะไรก็ได้ “แพท” จึงมีความมั่นใจว่า ความรู้ของเธอจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ 

     แต่ด้วยการเรียนการสอนและสื่อบันเทิงในปัจจุบัน ไม่ค่อยเห็นการสอดแทรกความรู้เรื่องข้อกฎหมายให้ผู้ชมมากนัก เพราะหลายๆคนอาจจะมองว่ามันไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวัน หลินจึงคาดหวังว่าละครเรื่องนี้ที่พูดถึงข้อกฎหมายมาตราต่าง ๆ อาจจะช่วยสื่อสารให้ผู้ชมมีความรู้พื้นฐานด้านกฎหมาย คุณลุง คุณป้า หรือใคร ๆ เมื่อได้ยินมันผ่าน ๆ อาจทำให้เอ๊ะขึ้นมาได้ในวันที่ต้องเจอสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับในละคร มันถึงเวลาแล้วที่สื่อจะต้องสอดแทรกความรู้เหล่านี้ให้กับคนในสังคมได้รับรู้มากขึ้น”

     ละครเรื่อง “สืบสวนสำนวนรัก Investigation of love” เป็นละครเรื่องที่สองที่ไทยพีบีเอส อยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมผ่านเรื่องราวของผู้คนในวิชาชีพต่าง ๆ โดยละครเรื่องแรกภายใต้แนวคิดนี้คือละครเรื่อง “The Interns หมอ มือ ใหม่” ซึ่งหลังจากออกอากาศไทยพีบีเอสได้รับข้อเสนอแนะติชมหลายมุมมอง แต่มุมมองที่ผู้ชมให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือเรื่องความถูกต้องของเนื้อหา และการกระทำของตัวละครที่ต้องเสมือนจริง สามารถสะท้อนความเป็นมืออาชีพของวิชาชีพนั้น ๆ 

ภาพจาก AERTHA Channel

    ด้วยความใส่ใจของคุณผู้ชมที่ส่งถึงไทยพีบีเอส ทำให้ละครเรื่อง “สืบสวนสำนวนรัก Investigation of love” มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาก่อนออกอากาศ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยวันที่ 22 มีนาคม 2566 ฝ่ายรายการละครไทยพีบีเอสได้เชิญ คุณปรเมศวร์  อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน, คุณปราณพงษ์  ติลภัทร  อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด, คุณภัทรานิษฐ์  มหัทธนวิสิทธิ์ ทนายความ จากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และ คุณกนกพรรณ  อุดมสมบูรณ์ เจ้าพนักงานคดีชำนาญการ มาให้ข้อเสนอแนะต่อละคร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายละเอียดของเสื้อผ้านักแสดง เนื้อหาที่กล่าวถึงข้อกฎหมาย หรือความสมจริงในฉากที่ตัวละครขึ้นศาล

บรรยากาศการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาก่อนละครออกอากาศ

      ทีมงานฝ่ายรายการละครไทยพีบีเอส – “จากปรากฏการณ์ความคิดเห็นของผู้ชมที่มีต่อละคร “The Interns หมอ มือ ใหม่” ทำให้เห็นว่า กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาละครมันไม่พอ นอกจากจะมีคุณหมอช่วยดูเรื่องบทหรืออยู่หน้ากองถ่ายแล้ว จะทำอย่างไรให้การตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนกว่านั้น ซึ่งไทยพีบีเอสพยายามทำให้ละครสมจริงในทุกมิติ ดังนั้นจึงมีแนวทางพัฒนาละครเพิ่มขึ้นอีก 1 ขั้นตอน คือหลังจากตัดต่อละครเสร็จ เราจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ มาช่วยให้ความเห็น เก็บรายละเอียดกันอีกครั้ง เพื่อให้ละครสมบูรณ์มากที่สุด”

 

     คุณปรเมศวร์  อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน ให้ความคิดเห็นต่อกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของละครเรื่องนี้ - “ละครสืบสวนสำนวนรัก เป็นการนำเสนอข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันที่ประชาชนทั่วไปควรรู้ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อสังคมในแง่มุมของกฎหมาย ประชาชนจะได้รู้เรื่องการดำเนินคดีว่า มีสิทธิมีข้อต่อสู้อย่างไรที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมแก่คนในสังคม และเรื่องราวที่อยู่ในละครก็เป็นคดีที่เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์สังคมในปัจจุบัน 

      ข้อเสนอแนะที่ให้ไว้มีหลายเรื่องที่ทีมละครสามารถปรับปรุงภายหลังการถ่ายทำได้ เช่น เรื่องบทละครที่ยังสื่อความด้านข้อกฎหมายไม่ชัดเจน สามารถทำเสียงบรรยายเพิ่มไปในละครได้ ยิ่งทำให้เสมือนจริงมากเท่าไร ละครก็จะสมบูรณ์มากขึ้น หลาย ๆ ตอนที่ได้ดูถือเป็นการเปิดมุมมองที่ดีว่า ทนายไม่ต้องชนะคดีตลอดก็ได้ เพราะมีบางประเด็นที่สะท้อนให้เห็นว่า หากจำเลยบอกความจริงไม่ครบต่อทนาย การว่าความก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หรือการยกตัวอย่างให้เห็นว่าแม้จะฟ้องร้องคดีแพ้หรือชนะ แต่ฝ่ายโจทก์และจำเลยอาจจะจบที่การประนีประนอมยอมความก็ได้ ซึ่งหวังว่าผู้ชมจะได้ประโยชน์จากละครเรื่องนี้”

 

5.JPG

     จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ไทยพีบีเอสได้รับข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขละครเรื่อง สืบสวนสำนวนรัก ดังนี้
1. พบการสื่อสารข้อกฎหมายบางจุดที่คลุมเครือได้รับข้อเสนอแนะให้เพิ่มเติมบทละครเพื่อความชัดเจนมากขึ้น
2. ข้อเสนอแนะเรื่องการใช้ภาษาของตัวละครที่ควรเป็นธรรมชาติ เช่น ในฉากที่นักกฎหมายคุยกับนักกฎหมาย อาจกล่าวถึงรายละเอียดข้อกฎหมายได้อย่างเข้มข้น แต่หากเป็นฉากนักกฎหมายคุยกับประชาชนทั่วไป ตัวละครทนายความควรพูดอธิบายข้อกฎหมายด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เป็นต้น
3. ข้อเสนอแนะเรื่องความถูกต้องของเสื้อผ้านักแสดง เช่น ชุดผู้พิพากษาในศาล เพราะแต่ละศาลมีรายละเอียดชุดผู้พิพากษาและชุดผู้ช่วยผู้พิพากษาที่แตกต่างกัน
4. ข้อเสนอแนะเรื่องความถูกต้องของฉากที่ถ่ายทำในศาล เช่น ความถูกต้องของตราสัญลักษณ์ศาล จำนวนผู้พิพากษา หรือตำแหน่งการยืนของทนายความในศาล
5. ข้อเสนอแนะให้ระมัดระวังฉากที่ตัวละครปฏิบัติไม่ตรงตามข้อกฎหมาย เช่น ฉากการเข้าจับกุมผู้ต้องหา ตำรวจต้องแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ทราบก่อนทุกครั้ง
6. ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเรื่องเกร็ดความรู้ข้อกฎหมายที่ยังสื่อสารผ่านละครไม่ครบถ้วนทั้งหมด ฝ่ายรายการละครไทยพีบีเอสได้เก็บประเด็นเพื่อเตรียมทำเนื้อหาเสริม นำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ควบคู่ไปด้วย
 

ข้อเสนอแนะทั้งหมดจะถูกนำไปพัฒนาปรับปรุงละครเรื่อง  “สืบสวนสำนวนรัก Investigation of love” และเตรียมลงจอให้คุณผู้ชมได้ติดตามเร็ว ๆ นี้                     หากชมแล้วมีความคิดเห็นอย่างไร สามารถส่งข้อเสนอแนะติชมเข้ามาได้ที่ Feedback@thaipbs.or.th 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ละครไทยพีบีเอสกฎหมาย
เปิดบ้านไทยพีบีเอส
ผู้เขียน: เปิดบ้านไทยพีบีเอส

รับฟังข้อเสนอแนะ ติชม จากผู้ชมทางบ้าน และชวนคุณผู้ชม "รู้เท่าทันสื่อ" ผ่านเบื้องหลังการทำงานของสื่อสาธารณะ

บทความ NOW แนะนำ