สื่อสารเพื่อรักษาเขาโต๊ะกรัง จ.สตูล


16 ก.ค. 66

เปิดบ้านไทยพีบีเอส

Logo Thai PBS
สื่อสารเพื่อรักษาเขาโต๊ะกรัง จ.สตูล

 

“หนูรู้สึกว่าทะเลเป็นสิ่งที่สร้างไม่ได้

เขาโต๊ะกรังก็สร้างไม่ได้ 

หนูเลยออกไปถ่ายรูปเพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่า ที่นี่สวยอย่างไร” 

     นี่คือความตั้งใจของ “ฮาสนะ ดินนุ้ย” หรือ “ซัลมา” อดีตประธานนักเรียน รร.อรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ อ.ควนโดน จ.สตูล ที่ฝึกฝนการถ่ายภาพ การเขียนบท และการตัดต่อ เพื่อถ่ายทอดความรัก ความหวงแหนทรัพยากรในบ้านของเธอผ่านบทบาท “นักข่าวพลเมือง”    


     พื้นที่ภาคใต้มีภูเขาหินปูนจำนวนมาก และเขาหินปูนเหล่านี้ถูกประกาศเป็นของรัฐเพื่อให้เอกชนทำสัมปทานระเบิดภูเขา ซึ่งในปี 2552 รัฐบาลประกาศเดินหน้าสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา  “เขาโต๊ะกรัง” จ.สตูล จึงเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่รัฐเปิดสัมปทานระเบิดภูเขาเพื่อนำหินไปถมทะเล สร้างท่าเรือน้ำลึก   

     โรงเรียนที่ซัลมาศึกษาอยู่ คือ รร.อรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ มีพื้นที่ใกล้กับ “เขาโต๊ะกรัง” เพียงไม่กี่เมตร การเปิดสัมปทานระเบิดเขาโต๊ะกรังจึงเป็นเรื่องที่ทำให้ครู นักเรียน และชาวบ้านรอบเขาโต๊ะกรังกังวลใจต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ในขณะนั้นภาคประชาชนไม่มีข้อมูลทางวิชาการหรือหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันให้ภาครัฐหันมารับฟัง


     จากปัญหานี้ไทยพีบีเอสได้ลงพื้นที่นำเสนอเรื่องราวของ “เขาโต๊ะกรัง” อย่างต่อเนื่อง โดยข่าวและรายการต่าง ๆ นำเสนอให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่อยู่บริเวณเขาโต๊ะกรัง เช่น การพบฟอสซิลอายุกว่า 200 ปี , การพบซากโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่มีอายุกว่า 3,500 ปี ทำให้ในปี 2561 ยูเนสโกประกาศรับรองแหล่งธรณีวิทยาของ จ.สตูล เป็นอุทยานธรณีโลก (Satun UNESCO Global Geopark) ระบุว่าพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เชื่อมโยงจากภูเขาถึงทะเล และสะท้อนให้เห็นว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราส่งผลกระทบหลายด้าน


     ปัจจุบันภาคประชาชนในพื้นที่เขาโต๊ะกรังได้นำข่าวและรายการของไทยพีบีเอสไปเป็นสื่อในเวทีประชุม เสวนา เพื่อสื่อสารให้ชาวบ้านเรียนรู้และเข้าใจทรัพยากรของตนเอง และตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน ไทยพีบีเอสยังลงพื้นที่อบรมนักข่าวพลเมืองให้กับนักเรียน รร.อรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่เรียนรู้ทรัพยากรในชุมชนและสื่อสารเรื่องราวของชุมชนสู่สาธารณะ

     ขณะนี้เขาโต๊ะกรังกลายเป็นแหล่งธรณีเพื่อการท่องเที่ยว  และการอนุรักษ์ภูเขาหินปูนกลายเป็นยุทธศาสตร์จังหวัดสตูลที่หน่วยงานท้องถิ่นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและศึกษาเรื่องฟอสซิล ส่งผลให้โครงการระเบิดภูเขาเพื่อถมทะเลถูกชะลอลง และหลังจากการอนุรักษ์ทรัพยากรของคนในชุมชน  ปัจจุบัน “เขาโต๊ะกรัง” ถูกสำรวจชุมชนและทำเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวธรรมชาติที่น่าสนใจ


 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สตูลเขาโต๊ะกรังนักข่าวพลเมือง
เปิดบ้านไทยพีบีเอส
ผู้เขียน: เปิดบ้านไทยพีบีเอส

รับฟังข้อเสนอแนะ ติชม จากผู้ชมทางบ้าน และชวนคุณผู้ชม "รู้เท่าทันสื่อ" ผ่านเบื้องหลังการทำงานของสื่อสาธารณะ

บทความ NOW แนะนำ