ตำบลศรีธาตุ จ.อุดรธานี ปลูกป่าสู้ฝุ่น PM 2.5


16 ก.ค. 66

เปิดบ้านไทยพีบีเอส

Logo Thai PBS
ตำบลศรีธาตุ จ.อุดรธานี ปลูกป่าสู้ฝุ่น PM 2.5

 

     “หิมะดำ” ที่โปรยปรายลงมาในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่          ต.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ต้องเผชิญเป็นประจำทุกปี เพราะพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ปลูกอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจ การดูแลสุขภาพของประชาชนกว่า 2,000 คนในเขตเทศบาลตำบลศรีธาตุ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่คุณยุพาพร  วิชาโคตร ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลศรีธาตุ ชวนภาครัฐ ภาคเอกชน และชาวบ้านในชุมชน ร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการเก็บสถิติคุณภาพอากาศจาก “ศูนย์ข้อมูลฝุ่นควัน สมาคมยักษ์ขาว” มาทำระบบแจ้งเตือนค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐาน และทำศูนย์อนุบาลกล้าไม้ท้องถิ่น วางแผนปลูกป่าแบบ “มิยาวากิ” รอบชุมชน เพื่อให้ต้นไม้เป็นเครื่องกรองอากาศธรรมชาติช่วยดักจับฝุ่นละออง

 

แรงบันดาลใจสู้ฝุ่น

     แม้ว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต้องอาศัยมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ แต่เทศบาลตำบลศรีธาตุ    จ.อุดรธานี ไม่ได้นิ่งเฉย พยายามหาวิธีป้องกันและเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 ด้วยวิธีที่ชุมชนสามารถจัดการได้เองและให้ทุกภาคส่วนของชุมชนมีส่วนร่วม
     คุณยุพาพร วิชาโคตร ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลศรีธาตุ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการสู้ฝุ่นว่า “ตำบลศรีธาตุเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ถึงจะอยู่ไกลอำเภอเมืองอุดร แต่เป็นศูนย์กลางทางการค้า มีทั้งธนาคาร  ร้านค้าปลีก-ส่งขนาดใหญ่ มีตลาดท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีรถบรรทุกจำนวนมากวิ่งผ่านไปมาเพื่อขนส่งผลผลิตทางการเกษตร และแม้ว่าจะไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเทศบาล แต่ออกนอกเขตเทศบาลไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถึงเราจะเห็นปัญหาฝุ่นในเชิงกายภาพ แต่เวลาเราไปขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น บางทีมันต้องมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย” 
 

     ในวันที่คุณยุพาพรค้นหาวิธีสู้ฝุ่นจากสื่อต่าง ๆ เธอได้ชมคลิปรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอนห้องเรียนสู้ฝุ่น “เราเห็นเครื่องมือวัดฝุ่นที่ติดไว้ในโรงเรียนเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนให้เด็ก ๆ เรียนรู้การอ่านค่าฝุ่น PM 2.5  เรามองว่าถ้ามีเครื่องวัดฝุ่นตัวนี้มาใช้ที่เทศบาลบ้าง น่าจะเป็นองค์ความรู้ที่ส่งไปยังประชาชนในเขตเทศบาลว่า “ฝุ่นมันเกินค่ามาตรฐานแล้วนะ ควรเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง”  ถือเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยยืนยันผลให้พี่น้องประชาชนหรือภาคีเครือข่ายที่จะมาช่วยกันป้องกันฝุ่น PM 2.5 ทราบถึงสถานการณ์จริง”

     หลังจากคุณยุพาพรดูรายการจบ เธอได้ติดต่อไปยัง ผศ. ดร.นิอร  สิริมงคลเลิศกุล ที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น สสส. ทันที เพื่อสอบถามการติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น และได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนในพื้นที่ช่วยสนับสนุนการซื้อเครื่องดังกล่าว โดยเครื่องวัดฝุ่นจะเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชัน “ยักษ์ขาว” คอยรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศแบบ Real Time

     คุณยุพาพร -“หลังจากติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นไว้ที่เทศบาล เราพบว่าในปี 2564 พบค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานถึง 49 วัน ตรงนี้เองเป็นที่มาว่าเราจะนั่งมองค่าฝุ่นอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องทำอะไรต่อสักอย่าง เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลศรีธาตุจึงช่วยกันนำค่าฝุ่นที่เกิดมาตรฐานกลับมาวิเคราะห์ แล้วประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในชุมชน วางแผนปลูกป่าเชิงนิเวศเพื่อช่วยลดฝุ่นละออง ซึ่งเราเคยมีประสบการณ์ปลูกป่ามาแล้วตั้งแต่ปี 2559 สิ่งที่เห็นผลชัดเจนคือป่าที่เราสร้างมันช่วยคืนธรรมชาติ คืนความหลากหลายของห่วงโซ่อาหารกลับมาทั้งหมด”


 

จุดเนอสเซอรี่ต้นกล้าพันธุ์ไม้ท้องถิ่น

ปลูกป่า สู้ฝุ่น

     เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลศรีธาตุ พาไปดูป่าเชิงนิเวศที่เคยปลูกไว้ตั้งแต่ปี 2559 และไม่น่าเชื่อว่าภายในเวลาเพียง 6 ปี ต้นไม้เติบโตสูงใหญ่ เป็นแหล่งต้นน้ำของชุมชนได้
     คุณยุพาพร -“เราใช้เทคนิคการปลูกป่าแบบ มิยาวากิ คือใช้กล้าไม้ท้องถิ่นทั้งหมด 75 สายพันธุ์ ปลูกในพื้นที่ที่เคยเป็นสนามรถมอเตอร์ครอส เพียงปีเดียวต้นไม้ท้องถิ่นที่เราปลูกเติบโตเร็วมาก เพราะมันคุ้นเคยกับสภาพอากาศอยู่แล้ว การปลูกป่าช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ     รากแก้วของต้นไม้ใหญ่ที่ดูดซับเป็นฟองน้ำ ช่วยปล่อยน้ำลงไปยังพื้นที่ตอนล่างของตำบลส่งผลให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และต่อไปเราหวังว่าป่าจะเป็นเครื่องกรองฝุ่นธรรมชาติที่ช่วยดักฝุ่น PM 2.5 ด้วย
     ตรงนี้เองจึงเป็นองค์ความรู้ที่เรานำไปคุยกับภาคีเครือข่าย อย่างเช่น โรงงานอุตสาหกรรมใกล้เขตเทศบาล เขายินดีที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบโรงงาน ในส่วนถนนหนทางหรือในครัวเรือนก็สามารถช่วยกันปลูกต้นไม้ได้ จนเป็นที่มาของการสร้างศูนย์อนุบาลกล้าไม้ท้องถิ่น โดยวัดให้ความอนุเคราะห์เรื่องพื้นที่ดูแลกล้าไม้ เทศบาลมีกล้าไม้อยู่แล้ว เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาล ชุมชน อบต. ภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย โดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว เมื่อกล้าไม้โต   เราก็กระจายกันนำไปปลูก”

ต่อยอด “ห้องเรียนสู้ฝุ่น”

     นอกจากแนวคิดการปลูกป่าเชิงนิเวศแล้ว เทศบาลตำบลศรีธาตุยังต่อยอดนำหลักสูตร “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” มาขยายผลในโรงเรียนที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย 
      คุณยุพาพร -“ต้นแบบที่เห็นในรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอนห้องเรียนสู้ฝุ่น ไม่ได้ทำให้เราได้เครื่องวัดฝุ่นมาใช้เท่านั้น แต่เรายังได้เครือข่ายทางการศึกษาด้วย ขณะนี้เราได้ประสานไปยัง 10 โรงเรียนมัธยมในจ.อุดรธานี เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้หลักสูตร “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” และคิดว่าจะขยายให้เต็มพื้นที่ เพราะจ.อุดรธานีเป็นจุด Hotspot เกษตรกรเราปลูกอ้อยเป็นอาชีพหลัก แต่ “หิมะดำ” ก็ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดฝุ่นเพียงอย่างเดียว ฝุ่นเกิดจากรถบรรทุกที่ขนอ้อย ขนมันสําปะหลัง ขนข้าวด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้คือหัวใจทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันมลพิษที่เกิดขึ้นเราต้องหาทางช่วยกันแก้ปัญหา 

        การปลูกป่าอย่างเดียวคงไม่พอ มาตรการการเพิ่มราคาขายอ้อยสดที่ไม่ผ่านการเผา ก็เป็นแรงจูงใจอีกทางหนึ่งให้เกษตรกรลดการเผาได้ เพราะการพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเครื่องตัดอ้อย ราคามันสูงถึง 10 ล้านบาท และการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามามันคือการตัดอาชีพของคนตัดอ้อยปลูกอ้อยด้วย การแก้ปัญหาจึงต้องขับเคลื่อนห่วงโซ่เศรษฐกิจไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นตอนนี้เราได้องค์ความรู้และเกิดการป้องกันฝุ่นที่เดินทางแบบคู่ขนานระหว่างโรงเรียน ชุมชน และภาคเอกชนแล้ว”


 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฝุ่น PM 2.5ปลูกป่าPM 2.5
เปิดบ้านไทยพีบีเอส
ผู้เขียน: เปิดบ้านไทยพีบีเอส

รับฟังข้อเสนอแนะ ติชม จากผู้ชมทางบ้าน และชวนคุณผู้ชม "รู้เท่าทันสื่อ" ผ่านเบื้องหลังการทำงานของสื่อสาธารณะ

บทความ NOW แนะนำ