ประชาชนมองประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างไร ?


16 ก.ค. 66

เปิดบ้านไทยพีบีเอส

Logo Thai PBS
ประชาชนมองประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างไร ?

    “อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ?”  นี่คือคำถามที่ไทยพีบีเอสและภาคีเครือข่ายชวนคนไทยกว่า 400 คนทั่วประเทศร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีเสวนา Post-Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง  



     ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน 2566 ไทยพีบีเอสร่วมกับภาคีเครือข่าย ออกเดินทางไปรับฟังเสียงของประชาชน ผ่านรายการฟังเสียงประเทศไทยใน  8 จังหวัดทุกภูมิภาค ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.สงขลา จ.ขอนแก่น จ.นครปฐม จ.อุบลราชธานี  จ.เชียงใหม่ จ.ปัตตานี และจ.พิษณุโลก เพื่อชวนประชาชนในแต่ละพื้นที่สะท้อนมุมมองที่มีต่อภาพอนาคตประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ครอบคุลม 6 ประเด็นทางสังคม ได้แก่ เรื่องการศึกษา, สุขภาพ, เศรษฐกิจ, สังคม, สิ่งแวดล้อม และรัฐ/ราชการ/ความมั่นคง 
 

ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง 
รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. 

     ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. เล่าถึงการร่วมงานกับไทยพีบีเอสในวาระการเลือกตั้ง ปี 2566 พอใกล้ถึงวาระการเลือกตั้ง ไทยพีบีเอสได้เข้ามาคุยกับ สกสว. เพื่อหารือว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายของภาคพลเมืองขยับไปถึงนโยบายภาคการเมือง เราจึงออกแบบร่วมกันว่าจะนำข้อมูลวิจัยมาเป็นฐานในการคิดนโยบายของประเทศได้อย่างไรบ้าง ซึ่ง 6 ประเด็นทางสังคมที่หยิบยกมาเป็นโจทย์ชวนประชาชนคิดถึงภาพอนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง มีที่มาจากข้อมูลงานวิจัยของ สกสว. ที่ทำมาตลอด 3 ปี เรามีข้อมูลสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 6 ภูมิภาค เรียกว่า “Area Need” 

     ซึ่งประเด็นปัญหาและความต้องการของประชาชน สกสว. ได้นำมาทำเป็นโจทย์วิจัยต่อ และคิดว่าข้อมูลเหล่านี้สามารถส่งต่อให้ไทยพีบีเอสนำมาทำวงเสวนา “Post-Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” เพราะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ชวนให้ประชาชนช่วยกันคิดว่า การศึกษา, สุขภาพ, เศรษฐกิจ, สังคม, สิ่งแวดล้อม และรัฐ/ราชการ/ความมั่นคง ในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเมื่อรวบรวมความคิดเห็นจากทุกเวทีแล้ว สามารถนำความต้องการของประชาชน มาเปรียบเทียบกับนโยบายพรรคการเมืองว่าเป็นอย่างไร สอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้ง และที่สำคัญเสียงของประชาชนจะถูกส่งต่อให้คนที่จะเข้ามาพัฒนาบ้านเมือง 

      แต่การทำงานของ สกสว.และไทยพีบีเอสจะไม่จบลงเท่านี้ หลังการเลือกตั้งเรายังจะร่วมกันติดตามการทำงานของพรรคการเมืองว่าได้ทำตามนโยบายที่หาเสียงกับประชาชนไว้หรือไม่ ซึ่งการเก็บรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้จะถูกจัดทำให้เป็น “องค์ความรู้” ตามกระบวนการวิจัย เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นแนวทางในการนำเสนอข่าวและรายการต่าง ๆ ของไทยพีบีเอส เพราะนี่คือเสียงสะท้อนของประชาชนต่อ “นโยบายสาธารณะ” ที่คนไทยต้องการ


เบื้องหลังทีมวิจัย

     

 ดร.นภาภรณ์ พิพัฒน์ วิจัยอิสระ

     ทีมนักวิจัยเริ่มสังเกตการณ์และบันทึกความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงานตั้งแต่ก่อนเปิดเวทีพูดคุยสนทนา เพื่อเก็บรายละเอียดความคิดเห็นของประชาชนให้ได้มากที่สุด ดร.นภาภรณ์ พิพัฒน์ วิจัยอิสระ เล่าถึงเบื้องหลังการทำงาน –  ทีมวิจัยเก็บข้อมูลทั้งหมดเพื่อต่อจิ๊กซอว์ว่าความฝันของประชาชนเมื่อเทียบกับนโยบายพรรคการเมืองและยุทธศาสตร์ชาติแล้ว มันล้อไปด้วยกันไหม หรือมีอะไรที่ยังขาดอยู่ ทีมวิจัยเก็บข้อมูลตั้งแต่ก่อนเปิดวงเสวนา 

      ทุกคนจะเริ่มทำกิจกรรม “My Tax My Future ภาษีฉัน อนาคตฉัน เราเลือกได้” โดยให้ลูกบอลเปรียบเหมือนเงินภาษี อยากให้รัฐนำภาษีไปใช้กับเรื่องใดก็ให้หย่อนลูกบอลลงไปในกล่องนั้น ความคิดเห็นของประชาชนในกิจกรรมนี้เป็นความคิดของเขาจริง ๆ ที่ยังไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งจากข้อมูลอื่น ๆ ที่กำลังจะเริ่มคุยในวง จากนั้นเก็บข้อมูลจากการเขียนข้อความใน Post it ทีมวิจัยจะดูว่ามีประเด็นอะไรที่น่าสนใจเพิ่มเติมบ้าง ความคิดเห็นของประชาชนจะเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า และกิจกรรมที่สาม เรียกว่า “Word Cloud” ผู้ร่วมเสวนาจะแสกน QR CODE เพื่อส่งข้อความเข้าไป ถ้ากิจกรรม 3 อย่างนี้มีประเด็นความต้องการของประชาชนที่สอดคล้องกัน เราก็จะนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับนโยบายพรรคการเมืองว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ แล้วความคิดเห็นในวงเสวนาที่ชวนมองอนาคตประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือเปล่า ถ้าสอดคล้องก็มีโอกาสที่ความหวังของประชาชนจะถึงฝั่งฝัน ทีมวิจัยมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อให้เรามองเห็นความต้องการของประชาชนได้ชัดเจนขึ้น” 


 

เช็กสมดุลการมีส่วนร่วม

ศศิธร ศิลป์วุฒยา อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

     เพื่อให้เวทีเสวนา Post-Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้งเป็นพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ไทยพีบีเอสจึงเชิญนักวิจัยร่วมสังเกตการณ์และใช้กระบวนการวิจัยศึกษาการออกแบบการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ด้วย ศศิธร ศิลป์วุฒยา อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในทีมนักวิชาการ กล่าวถึงการทำงานวิจัยในเวทีเสวนา Post-Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง – 

     โจทย์วิจัยครั้งนี้เราตั้งไว้ว่า เวทีเสวนาที่ไทยพีบีเอสจัดขึ้น ออกแบบกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่ เพื่อไม่ให้เวทีนี้เป็นเพียงเสียงตัวแทน เพราะเสียงเล็ก ๆ จากคนที่หลากหลายในพื้นที่มีความสำคัญ จากที่สังเกตการณ์และเก็บข้อมูลมาหลายเวทีมองเห็นว่า สัดส่วนผู้ร่วมเวทีมีความสมดุลทั้งเรื่องอายุ อาชีพ เพศ แต่สิ่งที่นักวิจัยให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คือการปรับกระบวนการให้มีการพูดคุยในกลุ่มย่อยด้วย เพราะการพูดคุยในวงใหญ่อาจทำให้กลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่พูดไม่ทันหรือไม่พูดเก่งมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นน้อย เมื่อแบ่งกลุ่มย่อยผู้ร่วมงานทุกคนจะมีโอกาสให้ข้อมูลในเชิงบริบทพื้นที่ได้ดี มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่มีประเด็นตกหล่น และทีมนักวิชาการก็จะเข้าไปรับฟังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มย่อยเพื่อเก็บรายละเอียดประเด็นอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึก และเก็บแบบสอบถามจากผู้ร่วมงานและแบบสอบถามออนไลน์กว่า 2,000 ชุดด้วย สำหรับทีมนักวิจัยทุกคนเราตั้งใจว่าอยากให้เวที Post Electionเกิดการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

     จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่าน 8 เวที ใน 6 ภูมิภาค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน  ผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์กว่า 2,000 คน และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อนโยบายต่าง ๆ มากกว่า 10 ครั้ง ใน 6 กลุ่มประเด็น คือ การศึกษา, สุขภาพ, เศรษฐกิจ, สังคม, สิ่งแวดล้อม และรัฐ/ราชการ/ความมั่นคง ได้ถูกประมวลออกมาเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ของต้นไม้ 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ 


ฉากทัศน์ 1 – ใต้ร่มเงา  ประเทศไทยอีก 10 ปีข้างหน้า เปรียบเหมือนสังคมที่มีต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านกว้างใหญ่ไพศาล ให้ร่มเงา สรรพชีวิตได้พึ่งพาอาศัย แต่กิ่งใบที่แผ่ขยายสร้างร่มเงาปกคลุมเป็นวงกว้างกลับส่งผมให้ต้นไม้เล็ก ๆ ไม่สามารถงอกงามได้ เปรียบเหมือนประชาชนและท้องถิ่นต่างๆ ที่ไม่เติบโตภายใต้รัฐส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่ปกครองดูแลประชาชนด้วยความปรารถนาดี แม้จะมีพันธุ์ไม้บางชนิดเกาะเกี่ยวเติบโตเป็นกาฝากอาศัยอาหารจากกิ่งก้านและลำต้น แต่ความเป็นไปของระบบนิเวศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา เศรษฐกิจ ระบบสุขภาพ การบริหารท้องถิ่น การทุจริตคอร์รัปชัน นลฯ ก็จะขึ้นอยู่กับความั่นคงและการอยู่รอดของต้นไม้ใหญ่เท่านั้น

ฉากทัศน์ 2 – เดี่ยวโดดเด่น ประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า เปรียบเสมือนต้นไม้เศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่เติบโตอย่างโดดเด่น แบบ “ต่างคนต่างโต” บนพื้นดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ไม่มีธาตุอาหารธรรมชาติจากระบบนิเวศที่หลากหลาย ทำให้แต่ละต้นต้องหยั่งรากแย่งสารอาหาร ลำต้นเร่งความสูงแข่งกันเพื่อรับแสง มีเพียงต้นไม้ที่แข็งแรงเท่านั้น ที่สามารถอยู่รอด สูงใหญ่ โดดเด่น ขณะที่บางต้นก็พยายามเอาตัวรอดด้วยวิธีการเฉพาะตน ซึ่งต้นที่ไม่แข็งแรง ก็ต้องเหี่ยวเฉา ล้มตายไป เปรียบเหมือนสังคมไทยจะมีเพียงกลุ่มคนที่ถูกเลือก หรือ แข็งแรงเท่านั้น ที่จะเติบโตได้ ขณะที่พืชพรรณอื่นๆ อีกมากมายยากที่จะอยู่ร่วมและอยู่รอดได้ 

ฉากทัศน์ 3 – ร่วมเกื้อกูล ประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า เปรียบเหมือนป่าไม้ 5 ระดับ เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย คืนความสมบูรณ์ให้ผืนดินเป็นทั้งแหล่งน้ำและสะสมธาตุอาหารที่ต้นไม้ใช้หล่อเลี้ยงชีวิต สร้างอรรถประโยชน์กลับคืนแก่สรรพชีวิตได้อาศัยดำรงชีวิตและเติบโต เปรียบเมือนภาพอนาคตของสังคมไทยที่คนกลุ่มต่าง ๆ อยู่ร่วม มีความสัมพันธ์ และเกื้อกูลต่อกันด้วยความสมดุลและยั่งยืน

     ซึ่งภาพอนาคตประเทศไทยทั้ง 3 ภาพนี้ จะเป็นโจทย์ตั้งต้นสำคัญสำหรับงาน Hack Thailand 2575 ที่ไทยพีบีเอสร่วมกับภาคีเครือข่าย ชวนประชาชนและพรรคการเมืองมาออกแบบนโยบายร่วมกัน โดยจะจัดงานในวันที่ 18-20 เมษายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่ไทยพีบีเอส 
 

เปิดบ้านไทยพีบีเอส
ผู้เขียน: เปิดบ้านไทยพีบีเอส

รับฟังข้อเสนอแนะ ติชม จากผู้ชมทางบ้าน และชวนคุณผู้ชม "รู้เท่าทันสื่อ" ผ่านเบื้องหลังการทำงานของสื่อสาธารณะ

บทความ NOW แนะนำ