Post-Election ไทยพีบีเอสชวนคนไทยมอง “ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง”


16 ก.ค. 66

เปิดบ้านไทยพีบีเอส

Logo Thai PBS
Post-Election  ไทยพีบีเอสชวนคนไทยมอง “ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง”

     ในห้วงเวลาที่นับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้ง สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว รอบด้านเพื่อให้ประชาชนนำไปประกอบการตัดสินใจ หรือบทบาทการเป็นเครื่องมือตรวจสอบทางการเมือง แต่การเลือกตั้งปี 2566 ครั้งนี้ ไทยพีบีเอสในฐานะ “สื่อสาธารณะ” ถือโอกาสชวนคนไทยมองอนาคตประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า ภายใต้แนวคิด “Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” ด้วยการชักชวนภาคีเครือข่ายนับร้อยภาคี ร่วมกันออกแบบกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยใช้นวัตกรรมทางสังคมระดมความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาเป็น “นโยบายสาธารณะ” เสนอต่อพรรคการเมืองในงาน “Hack Thailand 2575 พลิกโฉมประเทศไทย” 

     “Hack Thailand 2575 พลิกโฉมประเทศไทย” ใช้เวลา 48 ชั่วโมงในการระดมความคิดเห็นจากผู้สมัครเข้ามาร่วมงานกว่า 120 คน โดยแบ่งออกเป็น 12 ทีม แต่ละทีมร่วมกันคิดนโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งร่วมกันคิดบนฐานข้อมูลที่มาจากทุกภาคส่วน

     ศิระ จันทร์เจือมาศ (โจ๊ก) จากทีมหยุดความรุนแรง แฝงเร้นในสังคมไทย เล่าถึงความรู้สึกที่เข้าร่วมงาน “Hack Thailand 2575 พลิกโฉมประเทศไทย” – ผมทำงานประเด็นเรื่องความรุนแรง       ทั้งความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงภายในครอบครัว ปัญหานี้มันมีความสำคัญมากเพราะเกิดเหตุเพิ่มขึ้นทุกปีแต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข เวทีนี้น่าจะจุดประกายให้ปัญหาความรุนแรงถูกมองเห็นมากขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมสมัครเข้าร่วมกิจกรรม  กลุ่มที่ผมอยู่คือเรื่องหยุดความรุนแรงแฝงเร้นในสังคมไทย เป็นประเด็นที่กว้างและซุกอยู่ใต้พรม คนในกลุ่มมีความหลากหลาย แต่ละคนมีประเด็นมาแลกเปลี่ยนกัน สิ่งที่ทีมเรานำเสนอคืออยากให้รัฐมีระบบบริการที่เป็นมิตรกับผู้ประสบเหตุความรุนแรง เพราะพรรคการเมืองยังให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ค่อนข้างน้อย หากหยิบเอาข้อเสนอนี้ไปเป็นหนึ่งนโยบายของรัฐบาลผมก็คาดหวังอย่างยิ่งว่าจะช่วยลดปัญหาลงได้ประเด็นนี้ลดลง การที่ไทยพีบีเอสเปิดเวที Hackaton ผมเห็นว่าเป็นแนวทางใหม่ที่ทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างถูกมองเห็นชัดขึ้น เห็นความตั้งใจของผู้คนที่อยากมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ และสื่อเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดชุดข้อมูลที่ทำให้คนทำงาน และคนที่กำหนดนโยบายมาเจอกันแล้วแก้ปัญหาในอนาคต

     กิดาการ เอกอัครายุทธ (ทิวลิป) จากทีม Active Aging : Oldy Health Society บอกถึงความตั้งใจในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมคิดนโยบายเพื่อผู้สูงอายุ - งานนี้เป็นการรวมตัวของคนที่อยากขับเคลื่อนประเทศไทยให้ดีขึ้น ไม่ได้มีโอกาสบ่อย ๆ ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นเลยคิดว่าต้องคว้าโอกาสนี้และอยากขับเคลื่อนนโยบายประเทศด้านนโยบายสุขภาพผู้สูงอายุ ในกลุ่ม 8 คน แต่ละคนไม่อยู่ในวัยเดียวกัน มีทั้งนักวิชาการ แพทย์ น้อง ๆ นักศึกษา น้องเยาวชนระดับมัธยม ทำให้ความคิดเห็นแตกต่างกันมาก ๆ แต่การพูดคุยกันต้องตัด Bias ของตัวเองออกไปก่อน แล้วหาจุดตรงกลางว่าทุกคนอยากเสนอนโยบายอะไร ไอเดียของพวกเราที่คิดนโยบายออกมา อาจจะไม่ได้นำไปใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าพรรคการเมืองสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด โดยมีไทยพีบีเอสเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก 

     รตี แต้มสมบัติ (โน๊ต) จากทีมรัฐของกลุ่มคนที่หลากหลาย เล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากการร่วมงาน “Hack Thailand 2575 พลิกโฉมประเทศไทย” – ต้องบอกว่าเวทีนี้ให้ภาคประชาชน คนชายขอบ คนเปราะบางได้ลุกขึ้นมาส่งเสียงถึงปัญหา ประเด็นความต้องการ ให้ policy maker มารับฟัง ภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานครั้งนี้ ทุกคนต่างหอบความหวัง ส่งเสียงจากตัวจริงในประเด็นนั้น ๆ ให้พรรคการเมืองได้รับฟังแล้วส่งเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แต่ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะนำไปใช้ทั้งหมด เพราะเข้าใจว่าการทำนโยบายพรรคการเมืองมีปัจจัยที่แตกต่าง แต่งานในครั้งนี้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันจากภาคีเครือข่ายของภาคประชาสังคม ได้แลกเปลี่ยนรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน สมาชิกในทีมมี 16-18 คน แต่ละคนมีความหลากหลายมาก ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ตกผลึกร่วมกันคือประเทศไทยควรการกระจายอำนาจให้ประชาชนจัดตั้ง “สภาพลเมือง” ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการ จัดสรรงบประมาณ ประชาชนในรากหญ้าจะได้มีอำนาจจัดสรรทรัพยากรและทำให้คนชายขอบได้เข้าถึงทรัพยากรอย่างแท้จริง ไม่ว่าพรรคการเมืองจะรับข้อเสนอไปหรือไม่ แต่กลุ่มของผู้มีความหลากหลายจะเอาไปทำต่อ ในเรื่องการรวมกลุ่มเป็น “สภาประชาชนผู้มีความหลากหลาย” เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพแห่งชาติ โดยจะขับเคลื่อนต่อในภาคประชาชน ถ้าพรรคการเมืองรับข้อเสนอเราจะติดตามต่อว่าเขาไปทำอย่างไร เราจะมีส่วนร่วมในการทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องชื่นชมไทยพีบีเอสที่ดึงการมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง ทั้งด้านวิชาการ สังคม คนรุ่นใหม่ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แต่ก็มีความท้าทายในเวลาที่จำกัด สิ่งที่เราได้นอกจากข้อมูลความรู้คือ ความหวังที่จะคลี่คลายปัญหาของสังคม ถ้าขยายเวลาเรียนรู้กันมากขึ้น จัดเวทีสัญจรแต่ละภูมิภาคที่อาจอยู่พื้นที่หางไกลได้เข้าถึงกระบวนการนี้มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดี อยากบอกไทยพีบีเอสว่าสิ่งที่ทำเพิ่มควรติดตามประเมินผลข้อเสนอต่อไป ไม่อยากให้พรรคการเมืองขายฝัน แต่เอาข้อเสนอไปใช้ได้จริง โดยคำนึงการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ

     ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะเล่าถึงแนวคิด “Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” – สิ่งที่เราทำ มันไม่ใช่เพียงแค่ข่าวเลือกตั้งตามกระแส หรือทำเวทีดีเบตใหญ่ แน่นอนว่าทั้งสองงานนี้สำคัญเพราะทำให้ประชาชนตัดสินใจได้อย่างมีคุณภาพ แต่สิ่งที่เรียกว่า “Post Election” คือการทำภาพอนาคตประเทศไทย จัดกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายสาธารณะ และนำไปตั้งเป็นโจทย์คำถามในเวทีดีเบต เพื่อให้เห็นว่าพรรคการเมืองมีจุดยืนอย่างไรต่อเรื่องที่ประชาชนต้องการแก้ไขปัญหา หลังจากวันเลือกตั้งผ่านพ้นไป ช่วงเวลาที่เรียกว่า “Post Election” คุณผู้ชมจะเห็นไทยพีบีเอสทำหน้าที่ติดตามต่อว่า สิ่งที่พรรคการเมืองเคยพูดคุยไว้ก่อนหน้านี้ พวกเขาจะขับเคลื่อนอย่างไร ซึ่งเป็นงานที่ไทยพีบีเอสจะทำต่อเนื่องในระยะยาว

ชวน Hack ปัญหาประเทศไทย

     คุณณาตยาเล่าให้ฟังต่อถึงการจัดงาน Hack Thailand 2575 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบนโยบายร่วมกันระหว่างประชาชนกับพรรคการเมือง - ตอนที่ชวนกันทำ Hackathon คิดแค่ว่าทำให้กระบวนการทำนโยบายนำไปสู่เวทีดีเบตของผู้สมัคร  เพราะเราเห็นต้นแบบช่วงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. มีการจัดงาน “Hack BKK เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม” ซึ่งตอนนั้นมีการนำกระบวนการคิดของกลุ่ม Start up มาใช้ แม้ว่าจะเอาไปใช้บางนโยบาย แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สามารถมีส่วนร่วมพัฒนานโยบายสาธารณะได้ จึงได้คุยกับ สมาคม Thai StartUp และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ว่าเรามาใช้นวัตกรรมมาทำนโยบายสาธารณะกันไหม เลยชวนกันมาจัดงาน Hack Thailand 2575 ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นงานที่ใหญ่เกินความคาดหมาย เพราะ 12 นโยบายที่เปิดรับสมัครคนเข้ามาร่วม ถึงเวลาจริง ๆ มีคนที่สนใจเกิน 96 คน กลายเป็น 120 คน คนที่เข้ามาร่วมเป็น Mentor ช่วยแนะนำกระบวนการทำนโยบายก็เข้าร่วมเกินที่กำหนดไว้  ยังไม่นับรวมกับคนมาสังเกตการณ์ มีคนสนใจกิจกรรมนี้มากจริง ๆ ทุกคนทำตามกระบวนการที่ออกแบบไว้อย่างมุ่งมั่น ทุ่มเท บางคนจริงจังมาก นั่งต่อเนื่อง ข้าวปลาไม่กิน ศรัทธาในความทุ่มเทจริงจัง  ซึ่ง 12 นโยบายที่ได้ เป็นสิ่งที่ตกผลึก เป็นนโยบายที่ดีสำหรับการนำเสนอให้กับตัวแทนพรรคการเมืองนำไปต่อยอดได้  องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทำนโยบายต่าง ๆ ก็สนใจ เข้ามาถามว่าอยากขอข้อมูลเอาไปคุยกันต่อ บางพื้นที่เช่น เกาะสมุย ก็ไปคุยกันต่อเลยว่าจะเอาสิ่งที่คุยกันที่นี่ไปทำอย่างเช่น ไอเดียนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก Local to Global หรือกลุ่มหยุดความรุนแรงแฝงเร้นในสังคมไทยที่มีตัวจริงของคนทำงานเรื่องนี้มายาวนานได้เทข้อมูลรวมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุย อีกหนึ่งหลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่ม Green Space เป็นกลุ่มที่ทำพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ต่างๆ ก่อนหน้านี้เขายังไม่เคยเจอกับภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชน มางานนี้เป็นโอกาสที่พวกเขาได้ช่วยกันคิดพื้นที่สีเขียวในเมือง การได้รู้จักคนเพิ่มขึ้นก็จะกลายเป็นสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นใหม่ น่าจะเป็นสิ่งที่ชวนกันคิดต่อเนื่อง ทำต่อเนื่อง และคนที่ออกมารวมตัวกันในครั้งนี้ภารกิจไม่จบใน 48 ชม. แน่ ๆ  ยังสามารถร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่องในอนาคต 

ความร่วมมือ Hack Thailand 2575

งาน Hack Thailand 2575 เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่มองเห็นว่าเวทีนี้จะสะท้อนเสียงของประชาชนไปสู่ภาคการเมืองเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศโดยภาคประชาชน คุณณาตยากล่าวถึงพลังของภาคีเครือข่ายที่ร่วมงานในครั้งนี้ – สิ่งที่ไทยพีบีเอสทำ คือการดึงจุดแข็งขององค์กรต่าง ๆ ออกมาโดยเราวางตัวเป็นผู้ประสานที่ยืดหยุ่น ไม่คิดว่าต้องทำรายการโทรทัศน์เป็นตัวตั้ง แต่ให้กิจกรรมนี้เป็นพื้นที่การมีส่วนร่วม รายการโทรทัศน์อาจเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการทำกระบวนการทางสังคม โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้ทุกองค์กรเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ไม่ได้ทำตามบทที่เขียนไว้ เราประสานความหลากหลายของกลุ่มคน กลุ่มองค์กร วัยของคนที่มาร่วมงาน เป็นเรื่องที่ท้าทายของการทำงานกับคนจำนวนมาก เราต้องเปิดใจกว้าง ๆ เอาไว้ ต้องเชื่อว่าทุกคนมีเจตนาที่ดี มันสามารถนำมาสู่เป้าหมายเดียวกันได้ในที่สุด นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้การทำงานสื่อในครั้งนี้ 

แม้ว่างาน Hack Thailand 2575 จะปิดฉากลงเมื่อวันที่ 18 – 20 เม.ย. 2566 แต่ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะยังเดินหน้าต่อ เตรียมชวนผู้เข้าร่วมงานทั้ง 12 ทีมร่วมถอดบทเรียนกิจกรรมเพื่อวางแผนผนึกกำลังขับเคลื่อนนโยบายภาคประชาชนในอนาคตและพร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้ชมเพื่อพัฒนางานต่อ คุณณาตยาทิ้งท้ายว่า 


“ไทยพีบีเอสคิดเองไม่ได้ เราไม่กล้าคิดว่าแผนข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต้องอาศัยความคิดประสบการณ์หลายๆ ท่านมาช่วยกันออกแบบเพื่อให้ Post Election ครั้งนี้เป็นโครงการที่ต่อเนื่อง
และมีส่วนร่วมที่หลากหลายจากประชาชน”

 

 

เปิดบ้านไทยพีบีเอส
ผู้เขียน: เปิดบ้านไทยพีบีเอส

รับฟังข้อเสนอแนะ ติชม จากผู้ชมทางบ้าน และชวนคุณผู้ชม "รู้เท่าทันสื่อ" ผ่านเบื้องหลังการทำงานของสื่อสาธารณะ

บทความ NOW แนะนำ