วัดไร่ขิง กำลังกลายเป็นที่พูดถึงจากกรณีเจ้าอาวาสถูกกล่าวหาว่ามีการยักยอกเงินวัดมากกว่า 300 ล้านบาท
Thai PBS ชวนทุกคนเปิดประตู ดูกรณี “วัดไร่ขิง” ที่กำลังกลายเป็นที่สนใจ มองผ่านงานวิจัย ที่ผ่านมาการทุจริตในวัดเกิดขึ้นได้อย่างไร ? และสามารถแก้ไขได้อย่างไร ?
มองกรณี “วัดไร่ขิง” ให้เห็นการทุจริตในวงการพระพุทธศาสนา
วัดไร่ขิง เป็นวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีผู้ศรัทธาเข้าไปทำบุญเป็นจำนวนมาก เอกลักษณ์ของวัดไร่ขิงที่ผู้คนนึกถึง คือ การแก้บนด้วยไข่ต้ม ทำให้พื้นที่โดยรอบมีกิจการร้านค้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการทำบุญเกิดขึ้นมากมาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2568 ศาลได้ออกหมายจับ พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง กับปมยักยอกเงินวัดไร่ขิงเล่นพนันออนไลน์กว่า 300 ล้านบาท กรณีดังกล่าวยังคงต้องรอการพิสูจน์ในการพิจารณาของศาลต่อไป ทว่าที่ผ่านมากรณีของ “การทุจริตในวงการพระพุทธศาสนา” เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง
จากงานวิจัย “กระบวนการทุจริตในวงการพระพุทธศาสนา” พบว่า วัดนั้นถือเป็นศาสนสมบัติที่ต้องมีการบริหารตามที่มีกำหนดในกฎหมาย ซึ่งก็คือกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2511 ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 40 ซึ่งมีข้อกำหนดหลายข้อ แต่ก็ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยมีทั้งในรูปแบบของเงินบริจาค รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่วัด ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์มหาศาล แต่ยังคงมีการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส
งานวิจัยดังกล่าวเก็บข้อมูลจากทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลคดีคำพิจารณาของศาล คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้น มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากภาครัฐ ผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้บริหารกองธรรมสนามหลวง ผู้บริหารกองบาลีสนามหลวง ผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนธรรม บาลีในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่มประชาชนและภาคเอกชน และนักวิชาการผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก สาเหตุหลัก ๆ ของการทุจริตในวงการพระพุทธศาสนา ไม่เพียงแค่กรณีวัดไร่ขิง พบว่า กระบวนการทุจริตเกิดขึ้น ดังนี้
1 การทุจริตแบบระบบอุปถัมภ์ และความสมประโยชน์ ทำให้เกิดแรงจูงใจในตัวบุคคลขึ้น โดยมีความต้องการทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ เงิน เป็นปัจจัยพื้นฐาน หากยังไม่ได้เงินเพียงพอ จะทำการทุจริตต่อ จนเมื่อได้มาแล้วก็จะเรียกร้องในระดับที่สูงขึ้น นำมาซึ่งการทุจริตในตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ ที่ดิน รถยนต์ วัตถุต่าง ๆ ที่ผู้คนนิยมยกย่อง การได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่ ยิ่งอำนวยให้เกิดการกระทำผิด ปกปิด ส่งผลต่อเนื่องไปสู่โอกาสในการทุจริต ตามทฤษฎีระบบอุปถัมภ์ (Patron – Client) ที่เกิดขึ้นในองค์กรและสมประโยชน์กัน ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือคุ้มครองกับผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีฐานะสูงกว่า จึงเกิดช่องโอกาสในการทุจริตได้ง่ายขึ้น
2 ช่องโหว่ของระเบียบปฏิบัติ ข้อปฏิบัติของระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบการควบคุมงาน ความบกพร่องของการจัดทำบัญชีและทะเบียนต่าง ๆ เนื่องจากวัดส่วนใหญ่ยังไม่มีโครงสร้างในการบริหารการเงินวัดอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดพฤติกรรมทุจริตเงินวัดที่มีการวางแผนกันไว้ แบ่งหน้าที่กันกระทำผิด
เจาะการเงิน “วัดไร่ขิง” เงินทำบุญมีกฎระเบียบควบคุมอย่างไร ?
นอกจาก “วัดไร่ขิง” แล้ว วัดในไทยอยู่ในภายใต้กฎกระทรวงซึ่งมีการควบคุมผ่านหลายหน่วยงาน โดยมีหน่วยงานสำคัญคือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดไร่ขิงที่ถือเป็นวัดขนาดใหญ่การจัดการเงินทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เรียกกันว่า “ศาสนสมบัติ” จึงมีการดำเนินการภายใต้กฎกระทรวง การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. ๒๕๖๔
โดยรายละเอียดการควบคุมจะมีการจัดการแบ่งตามประเภทของศาสนสมบัติดังนี้
1 ที่ดิน รวมทั้งที่ดินของวัด พื้นที่ธรณีสงฆ์ รวมถึงที่กัลปนา (ที่ดินที่พุทธศาสนิกชนมอบให้วัด) ต้องมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน. นส3, สด.1 ฯ ต้องมีการจัดทะเบียนโอนกรรสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีการเก็บรักษาเอกสารสิทธิ์ไว้ที่หน่วยงานที่กำหนด เช่น วัดในกรุงเทพฯ ต้องเก็บที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดในจังหวัดต่าง ๆ อย่างวัดไร่ขิง ต้องเก็บที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด
2 ทรัพย์สินที่หมดสภาพ ส่วนของสิ่งปลุกสร้าง เช่น วัด กุฏิ ที่ดิน หากหมดสภาพจากการเป็นศาสนสมบัติ วัดต้องดำเนินการจำหน่าย จ่าย แจก สลับเปลี่ยนหรือโอน โดยระบุเหตุแห่งการจำหน่ายอย่างชัดเจน เช่น กุฏิถูกรื้อถอน ที่ดินถูกเวนคืน
3 เงินของวัด การจัดการเงินแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- เงินทั่วไป คือ เงินค่าเช่าพื้นที่วัดเพื่ออาศัย ค้าขาย เกษตรกรรม ต้องมีการออกใบเสร็จรับเงิน ลงบัญชีและลงเลขใบเสร็จ
- เงินการกุศาล เช่น เงินบริจาค เงินทำบุญ เงินกฐินและผ้าป่า ต้องมีการออกใบอนุโมทนาบัตร มีขั้นตอนลงบัญชีและลงเลขใบอนุโมทนา
นอกจากนี้ ยังมีระเบียบการเก็บรักษาเงิน หากเงินเกิน 100,000 บาท ต้องฝากธนาคารในนามวัดเท่านั้น เงินกุศลที่ระบุใช้งานในโอกาสต่าง ๆ ต้องเก็บรักษาตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค ต้องทำบัญชีรับ – จ่ายประจำเดือนและงบปี โดยไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ที่ได้รับแต่งตั้ง
อย่างไรก็ตาม ระเบียบข้อบังคับเหล่านี้ก็ยังคงมีช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตได้ ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับวัดไร่ขิงนี่เอง
ก้าวข้าม “วัดไร่ขิง” โกงเงินวัดควรจัดการอย่างไร ?
วัดไร่ขิงเป็นเพียงอีกกรณีที่สังคมจับตา ทว่าสิ่งที่น่าติดตาม คือก้าวต่อไปของวงการพระพุทธศาสนา ที่เดินคู่ขนานไปกับความศรัทธาของผู้คน จำเป็นต้องมองว่า หนทางที่จะช่วยจัดการผลประโยชน์ที่มีอย่างมหาศาล เพื่อลดการทุจริตที่เกิดขึ้นนั้น ควรเป็นอย่างไร
จากสาเหตุเบื้องต้น ทำให้ได้ข้อสรุปเพื่อแก้ปัญหา มีข้อสรุปหลัก ๆ 3 ข้อด้วยกัน
1 แก้ปัญหาจากข้อกฎหมาย กฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2511 ควรมีการแก้ไขให้ทันสมัยขึ้น โดยมีระเบียบแนวปฏิบัติให้ชัดเจน
2 จัดทำการเงินวัดอย่างเป็นระบบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดให้วัดได้ทำการจัดทำรายทางการเงินเป็นประจำทุกปี และนำส่งโดยมีการกำหนดผู้สอบบัญชี อาจดำเนินการสุ่มตรวจในระยะแรก ก่อนตรวจสอบเป็นประจำทั้งหมด รวมถึงจัดรายงานการเงินวัดอย่างเป็นระบบ
3 พัฒนาบุคคลากรและเทคโนโลยีสารสนเทศของวัดเพื่อให้เกิดความโปร่งใส วัดต้องมีความพร้อมเพื่อจัดการผลประโยชน์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรช่วยพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อบริหารจัดการทางการเงินให้วัดมีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการทำข้อมูลการเงินให้สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนทางออนไลน์ให้เกิดความโปร่งใสได้
อ้างอิง
- บทความวิชาการ กระบวนการทุจริตในวงการพระพุทธศาสนา* THE PROCESS OF CORRUPTION IN BUDDHIST CIRCLES วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 10
- สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม