ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

10 Facts Number ดาวเทียม “THEOS-2” แต่ละตัวเลขบอกอะไรบ้าง ?


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

29 ก.ย. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

10 Facts Number ดาวเทียม “THEOS-2” แต่ละตัวเลขบอกอะไรบ้าง ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/385

10 Facts Number ดาวเทียม “THEOS-2” แต่ละตัวเลขบอกอะไรบ้าง ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 หรือ Thailand Earth Observation Satellite 2 ซึ่งเป็นความร่วมมือของไทยกับ AIRBUS เตรียมขึ้นสู่วงโคจร ในวันที่ 7 ต.ค. 66 เวลา 08.36 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ด้วยเหตุนี้ Thai PBS Sci & Tech จึงขอพาไปรู้จัก 10 Facts Number ดาวเทียมธีออส-2 ซึ่งแต่ละตัวเลขจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ตามมาอ่านกันได้เลย

“7” 
     ดาวเทียม THEOS-2 มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรวันที่ 7 ต.ค. 66 ในช่วงเช้าตามเวลาในประเทศไทย ประมาณ 8:36 น. ด้วยจรวดนำส่ง VEGA จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เมือง Kourou รัฐ French Guiana ทวีปอเมริกาใต้

“2” 
     ดาวเทียม THEOS-2 สามารถถ่ายภาพได้ทุกพื้นที่ทั่วโลกทั้งในและต่างประเทศ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลายทั้งพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม ซึ่ง THEOS-2 เป็นดาวเทียมรุ่นที่ 2 ต่อยอดมาจาก THEOS-1 หรือดาวเทียมไทยโชตที่ส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 51

“425” 
     ดาวเทียม THEOS-2 มีขนาดกว้าง 1.2 เมตร ยาว 1.2 เมตร และสูง 1.8 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 425 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักเฉพาะตัวดาวเทียม นอกจากนั้นภายในดาวเทียมยังมีเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการปรับวงโคจรหรือเพื่อการบำรุงรักษาในกรณีต่าง ๆ อีกประมาณ 30 กิโลกรัม ดังนั้นดาวเทียม THEOS-2 จะมีน้ำหนักรวมประมาณ 455 กิโลกรัม

“621” 
     ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจสำรวจโลก ประเภทวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) ที่โคจรอยู่ในห้วงอวกาศด้วยความสูง 621 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก โดยปกติกลุ่มดาวเทียมประเภท LEO นี้ จะมีความสูงการโคจรไม่เกิน 2,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก แตกต่างจากกลุ่มดาวเทียมอื่น ๆ เช่น ดาวเทียมสื่อสารที่มีความสูงวงโคจรเหนือพื้นโลกประมาณ 36,000 กิโลเมตร

“10.3” 
     กล้องที่ติดตั้งบนดาวเทียม THEOS-2 เป็นแบบ Optical อาศัยคลื่นแสงจากดวงอาทิตย์ตกกระทบที่ผิวโลกแล้วสะท้อนสู่กล้องของดาวเทียมเพื่อการถ่ายภาพ ดาวเทียม THEOS-2 จะเปิดหน้ากล้องเพื่อถ่ายภาพกวาดเป็นแนวยาวตามแนวเหนือใต้ ซึ่งแต่ละแนวจะมีระยะความกว้างประมาณ 10.3 กิโลเมตร ดาวเทียม THEOS-2 จะสามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลลงมาที่สถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตร/วัน

“50” 
     ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม THEOS-2 มีรายละเอียดภาพหรือขนาดพิกเซล 50 เซนติเมตร ซึ่งสามารถถ่ายภาพวัตถุใด ๆ บนพื้นผิวโลกที่มีขนาดใหญ่กว่า 50X50 เซนติเมตรได้ เช่น รถหนึ่งคันที่มีความยาวประมาณ 4 เมตร และกว้างประมาณ 2 เมตร ก็จะเท่ากับ 8 X 4 พิกเซล หรือ 32 พิกเซล บนภาพถ่ายจากดาวเทียม ด้วยคุณสมบัตินี้ดาวเทียม THEOS-2 จึงได้จัดให้อยู่ในกลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกรายละเอียดสูงมาก (Very High Resolution)

“26” 
     ดาวเทียม THEOS-2 มีวงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit) ซึ่งเป็นระนาบการโคจรในแนวเหนือใต้ ประกอบกับการหมุนตัวของโลกเป็นปัจจัยที่ทำให้ดาวเทียมสามารถเข้าถึงทุกพื้นทั่วโลก โดยดาวเทียม THEOS-2 ถูกออกแบบให้มีแนวการถ่ายภาพ 386 แนววงโคจร และทุก ๆ 26 วันดาวเทียมจะโคจรกลับมายังตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ดาวเทียม THEOS-2 ยังมีความสามารถในการเอียงกล้องเพื่อถ่ายภาพ ทำให้สามารถถ่ายภาพในพื้นที่ต้องการโดยไม่จำเป็นต้องรอถึง 26 วันเพื่อถ่ายภาพซ้ำ ณ พื้นที่เดิม

“1” 
     ดาวเทียม THEOS-2 นับว่าเป็นดาวเทียมสำรวจโลก ประเภททรัพยากรธรรมชาติแบบรายละเอียดสูงมาก (Very high resolution) ดวงแรกของประเทศไทย ด้วยรายละเอียดภาพ 50 เซนติเมตรต่อพิกเซล นอกจากจะเห็นลักษณะของวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 50x50 เซนติเมตรแล้ว ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของวัตถุนั้น ๆ ด้วย เช่น ชนิดของต้นไม้ สีและประเภทของรถยนต์ สภาพของตัวอาคาร ลักษณะความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เป็นต้น

“4” 
     ดาวเทียม THEOS-2 จะโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 4 รอบ แบ่งเป็นช่วงเวลากลางวัน 2 รอบ และช่วงเวลากลางคืนอีก 2 รอบ เมื่อดาวเทียม THEOS-2 โคจรผ่านประเทศไทย สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมซึ่งตั้งอยู่ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จะทำการเชื่อมต่อกับดาวเทียม THEOS-2 เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลภาพที่ดาวเทียมถ่ายและบันทึกไว้บนตัวดาวเทียม อัปโหลดคำสั่งถ่ายภาพสำหรับภารกิจใหม่ รวมถึงตรวจสอบสุขภาพโดยรวมของดาวเทียม โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 15 นาที

“10” 
     ดาวเทียม THEOS-2 มีการออกแบบให้มีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 10 ปี โดยปกติแล้วการพัฒนาดาวเทียมและทดสอบอุปกรณ์หรือระบบต่าง ๆ บนดาวเทียมจะต้องสามารถรองรับการทำงานตามเงื่อนของอายุการใช้งาน แต่ทั้งนี้การทดสอบดาวเทียมจะมีการกำหนด safety factor หรือการทดสอบที่มากกว่าอายุการใช้งานคาดการณ์ไว้ประมาณ 2-3 เท่า จึงเป็นเหตุผลที่ว่าดาวเทียม THEOS-1 หรือ “ดาวเทียมไทยโชต” ที่มีการออกแบบอายุการใช้งาน 5 ปี แต่ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 15 ปี ยังมีการใช้งานได้ปกติ

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS 

--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : GISTDA โดย ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ THEOS-2

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวเทียม THEOS-2THEOS-2ดาวเทียมสำรวจโลกดาวเทียมเทคโนโลยีดาวเทียมดาวเทียมสำรวจดาวเทียมคนไทยThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - AstronomyInnovation Tech Thai
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด