หากถามถึง “ดาวเทียม” ดวงแรกของมนุษย์ทุกคนอาจตอบได้ว่า “สปุตนิก 1” แต่หากถามถึงดาวเทียมที่เล็กที่สุดกับดาวเทียมดวงที่ใหญ่ที่สุด หลายคนอาจตอบไม่ได้ ในครั้งนี้จะพาไปทำความรู้จักสิ่งโคจรรอบโลกที่เล็กและใหญ่ที่สุดที่บนคำจำกัดความ Satellite
สำหรับความหมายของคำว่า “Satellite” หรือที่ภาษาไทยแปลว่า ดาวเทียม ตามบริบทของภาษาอังกฤษแล้ว Satellite หมายถึงวัตถุที่ลอยโคจรอยู่รอบโลกหรือดาวเคราะห์ดวงอื่น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น
เมื่อเราหยิบยกคำจำกัดความและความหมายเช่นนี้ขึ้นมา คำถามของสิ่งที่ใหญ่ที่สุดที่โคจรอยู่รอบโลกนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่ไหนไกล แต่มันคือ ดวงจันทร์ของโลกที่เรามองเห็นมันอยู่แทบทุกวันนั่นเอง ดวงจันทร์คือวัตถุที่ใหญ่ที่สุดที่โคจรอยู่รอบโลกของเรา และคงไม่มีวัตถุใดที่ใหญ่กว่าดวงจันทร์ของเราไปได้
สำหรับวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นและใหญ่ที่สุดที่อยู่ในวงโคจรของโลกเรานั้น คำตอบก็คือ สถานีอวกาศนานาชาติ มันคือสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นและใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในวงโคจรของโลก ขนาดของสถานีอวกาศนานาชาติใหญ่เท่ากับสนามอเมริกันฟุตบอลหนึ่งสนาม มีความกว้างถึงหนึ่งร้อยยี่สิบหลาหรือ 109 เมตร ใหญ่กว่าสถานีอวกาศที่เคยใหญ่ที่สุดอย่างสถานีอวกาศเมียร์ถึง 2 เท่า
ความใหญ่โตของสถานีอวกาศนานาชาตินั้นมโหฬารจนเราสามารถมองเห็นโครงสร้างต่าง ๆ ของสถานีอวกาศนานาชาติจากบนพื้นโลกได้ และด้วยขนาดของโซลาร์เซลล์หลักที่ใหญ่มากถึง 73 เมตร ทั้งหมด 8 แผง มันใหญ่โตมากพอที่จะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้มากถึง 90 กิโลวัตต์เลยทีเดียว
ส่วนดาวเทียมที่เล็กที่สุดที่สามารถทำงานในวงโคจรได้นั้น คือดาวเทียมคิวบ์แซต (CubeSat) จากเยาวชนชาวอินเดียชื่อว่า ริฟัตห์ ชารุก (Rifath Sharook) เยาวชนอายุ 18 ปีจากรัฐทมิฬนาฑู เขาได้สร้างดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อส่งเข้าร่วมประกวดในรายการ Cubes in Space ซึ่ง NASA จัดขึ้นร่วมกับบริษัท Idoodle ริฟัตห์ตั้งชื่อดาวเทียมของเขาว่า "กาลามแซต" (Kalamsat) เพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานาธิบดีอับดุล กาลาม (Abdul Kalam) ของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาวิทยาการด้านอวกาศของประเทศ
ดาวเทียมดวงเล็กนี้ขึ้นโครงโดยคาร์บอนไฟเบอร์โดยอาศัยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มันมีขนาดเล็กกว่าฝ่ามือ กว้างเพียงด้านละ 3.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักรวมเพียง 64 กรัมเท่านั้น ริฟัตห์ได้ติดตั้งเครื่องวัดความเร่งและการหมุนของตัวดาวเทียม และตัวตรวจวัดสนามแม่เหล็กโลกไว้บนรอบตัวของดาวเทียมทั้งหมด 8 จุด
NASA ได้ปล่อยดาวเทียมกาลามแซตขึ้นไปสู่อวกาศเมื่อเดือนมิถุนายน 2017 ด้วยจรวด Terrier Orion ดาวเทียมของริฟัตห์ได้ขึ้นไปในระดับวงโคจรย่อย (Sub-orbital) ซึ่งเป็นเพียงช่วงหนึ่งของวงโคจรโลก ก่อนที่ตกกลับลงมา
ดาวเทียมกาลามแซตนั้นสามารถปฏิบัติงานได้เป็นเวลา 12 นาทีเพื่อเป็นการสาธิตว่าดาวเทียมขนาดเล็กจิ๋วดวงนี้สามารถทำงานภายในอวกาศได้จริง และเป็นการพิสูจน์ว่าดาวเทียมขนาดเล็กจากฝีมือของนักเรียนก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการอวกาศได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ว่าพวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจอวกาศได้เช่นกัน
เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ที่มาข้อมูล: cubesinspace, nasa, bbc, spoc.rtaf