อาหารที่เราทานกำลังมี “สารอาหาร” น้อยลง อันเนื่องมาจาก “ภาวะโลกร้อน”


Logo Thai PBS
อาหารที่เราทานกำลังมี “สารอาหาร” น้อยลง อันเนื่องมาจาก “ภาวะโลกร้อน”

“คาร์บอนไดออกไซด์” คือวัตถุดิบสำหรับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช แต่เมื่อวัตถุดิบนี้เพิ่มปริมาณมากขึ้นในทุก ๆ วัน มันกลับกลายเป็นตัวขัดขวางกระบวนการสะสมสารอาหารของพืช และกลายเป็นว่า อาหารที่เรากำลังรับประทานอยู่ในตอนนี้ มี “สารอาหาร” ที่จำเป็นน้อยลงกว่าอดีตที่ผ่านมา

ตลอดเวลา 10,000 ปีที่ผ่านมา มนุษยชาติพยายามเพาะปลูกและคัดเลือกพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตและมีสารอาหารสูงเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหาร เราจะพบว่าพืชผลทางการเกษตรที่มนุษย์เรารับประทานอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น กล้วย ข้าว ข้าวโพด มันฝรั่ง ฯลฯ ล้วนเปลี่ยนแปลงรูปร่างของมันจากญาติร่วมสายพันธุ์อย่างที่แทบจะจำลักษณะเดิมของมันไม่ได้ ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากการคัดเลือกโดยมนุษย์ (Artificial Selection) ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดช่วงเวลาของอารยธรรมมนุษย์ เราพยายามสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ มาโดยตลอด

ภาพไร่ปลูกธัญพืช ภาพจาก glasseyes view

แต่กลับกลายเป็นว่าอาหารที่เราพยายามปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารค่อย ๆ มีปริมาณสารอาหารที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตน้อยลง ในปี 2004 ได้มีการศึกษาปริมาณสารอาหารของพืชผลทางการเกษตรผ่านการเปรียบเทียบผลการศึกษาจากปี 1950 และ 1999 ผลจากการเปรียบเทียบพบว่าสารอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และที่เห็นผลต่างอย่างชัดเจนนั้นคือจำพวกโปรตีนที่ลดลง 6% และ ไรโบฟลาวิน หรือวิตามินบี 2 ที่ลดลงมากถึง 38%

นักวิจัยจำนวนมากได้หันมาศึกษาการลดลงของสารอาหาร สาเหตุดังกล่าว เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

กราฟปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ภาพจาก NASA

จากก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม บรรยากาศของโลกมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศอยู่ที่ 280 ส่วนในล้านส่วน (ppm) แต่มันได้เพิ่มขึ้นจนสูงเกิน 400 ppm ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศนั้นจะดูเหมือนจะเป็นผลดีกับพืช เนื่องจากพืชจะมีวัตถุดิบสำหรับการสังเคราะห์ด้วยแสงที่มากขึ้นอย่างเหลือเฟือ แต่การเพิ่มขึ้นนั้นกลับทำให้พวกมันสังเคราะห์น้ำตาลออกมามากจนเกินไป พืชจึงพัฒนาโครงสร้างรวดเร็วเกินไป ส่วนต่าง ๆ ของลำต้นจึงถูกเติมเต็มไปด้วยน้ำตาลและสารอื่น ๆ ที่สังเคราะห์ได้และสะสมไว้จนไม่เหลือพื้นที่สำหรับสารอาหารชนิดอื่นที่ควรจะถูกดึงขึ้นมาจากดินเหมือนกับในสภาวะปกติ

ถึงแม้ธาตุอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ในดินจะมีปริมาณที่เท่าเดิม แต่การดูดซึมและสะสมธาตุอาหารของพืชนั้นทำได้น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้นเกือบ 2 เท่าในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 200 ปี พืชไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นได้ จึงกลายเป็นตัวฉุดรั้งการสะสมธาตุอาหารไปเสียอย่างนั้น

จากการวิจัยในปี 2018 มีการทดลองปลูกข้าวทั้งหมด 18 สายพันธุ์ในพื้นที่ของประเทศจีนและญี่ปุ่น จำลองสภาวะแวดล้อมในเรือนกระจกให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงกว่าระดับในปัจจุบันที่ 568-590 ppm ผลการวิจัยพบว่าเมล็ดข้าวที่ได้จากการทดลองมีการสะสมของธาตุคาร์บอนในเมล็ดสูงขึ้นมาก แต่ปริมาณสารอาหารอื่น ๆ ลดลง

nutrients

การลดลงของสารอาหารในพืชพันธุ์ธัญญาหารนั้นเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชากรโลกทุกคนนั้นรับประทานธัญพืชเป็นอาหารหลักในมื้ออาหาร สารอาหารที่น้อยลง หมายถึงการที่มนุษย์ต้องบริโภคมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนอาหาร ซ้ำร้ายมันยังหมายถึงการที่ต้องรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่เป็นสารอาหารหลักของพืชมากขึ้นด้วย เราจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนกันมากยิ่งขึ้น

กลับกัน สำหรับประชากรที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง การเข้าถึงแหล่งอาหารเป็นไปอย่างยากลำบาก การมีสารอาหารน้อยลงจะนำมาซึ่งภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการพัฒนาและซ่อมแซมร่างกาย เช่น โฟเลต หรือวิตามินบี 9 ที่จำเป็นต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ในอนาคต เราจึงอาจได้เห็นทารกที่พิการแต่กำเนิดมีจำนวนมากขึ้น

ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่มันเกิดขึ้นแล้ว ณ จานข้าวตรงหน้า หากไม่เร่งรีบแก้ไขและรับมือ ผลร้ายจะกระทบไปถึงลูกหลานของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน

เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล: sciencedirect, youtube, pubmed

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาวะโลกร้อนโลกร้อนสารอาหารคาร์บอนไดออกไซด์วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ