ผู้ชมอิหร่านไม่ยอมรับ Argo ชี้บิดเบือนเหตุการณ์ช่วยเหลือตัวประกัน

Logo Thai PBS
ผู้ชมอิหร่านไม่ยอมรับ Argo ชี้บิดเบือนเหตุการณ์ช่วยเหลือตัวประกัน

Argo ได้รับการยกย่องจากสถาบันภาพยนตร์มากมาย แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ชมในอิหร่าน ที่มองว่าเป็นหนังที่บิดเบือนเหตุการณ์ช่วยเหลือตัวประกัน และสร้างภาพให้ผู้ประท้วงชาวอิหร่านกลายเป็นวายร้ายในสายตาชาวโลก

ความโกลาหลของกลุ่มประท้วง ระหว่างบุกสถานทูตสหรัฐฯ กลางกรุงเตหะราน ซึ่งนำเสนอในฉากเปิดตัว Argo ภาพยนตร์ย้อนรอยการจับเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐฯเป็นตัวประกันในอิหร่านปี 1979 ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการนำเสนอที่คลาดเคลื่อน เพราะในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์ครั้งนั้นดำเนินไปอย่างมีระเบียบโดยกลุ่มนักศึกษาทั้งชายและหญิงซึ่งไม่พอใจสหรัฐฯที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองในประเทศ

ปัจจุบันสถานทูตสหรัฐฯในกรุงเตหะรานกลายเป็นตึกร้าง หลังจากไม่ได้เปิดใช้งานมาตั้งแต่เหตุการณ์จับตัวประกันครั้งนั้น โดย ดร. มาซูเมฮ์ เอ็บเตคาร์ อดีตนักศึกษาที่ร่วมยึดสถานทูตสหรัฐฯครั้งนั้น ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเมืองเตหะราน ยอมรับว่าเธอรู้สึกแปลกใจว่าทำไมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Argo ไม่เสนอเรื่องราวตามความเป็นจริง ทั้งๆที่ภาพเหตุการณ์อ้างอิงถูกบันทึกเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนที่ถ่ายทอดในภาพยนตร์

Argo คือหนึ่งในภาพยนตร์ตะวันตกหลายเรื่องที่ถูกห้ามฉายในอิหร่าน แต่แฟนหนังสามารถหาชมได้จากแผ่นละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีจำหน่ายทั่วไป ซึ่งในสายตาของ อาเมีย ซามาน วัยรุ่นอิหร่านผู้ชื่นชอบในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ยอมรับว่าการเสนอภาพผู้คนถูกทุบตีและถูกฆ่าตามท้องถนนใน Argo เป็นการสร้างภาพอิหร่านในมุมมองที่โหดร้ายเกินจริง

รายการ CinePolitics ซึ่งวิจารณ์ประเด็นการเมืองผ่านภาพยนตร์ของอิหร่าน ได้เดินทางไปสัมภาษณ์ทีมงานของ Argo ถึงความเห็นด้านการเมืองในภาพยนตร์ โดย จอห์น กูดแมน นักแสดงของเรื่องปฎิเสธว่า Argo ไม่ใช่หนังโฆษณาชวนเชื่อเพื่อป้ายสีอิหร่าน ส่วน เบน อัฟเฟลค ผู้กำกับกล่าวว่าหนังแค่ต้องการจับประเด็นการช่วยเหลือตัวประกัน และไม่ต้องการเลือกข้างระหว่างความขัดแย้งทางการเมืองของทั้งสองประเทศ

แม้การคว้ารางวัลเกือบทุกสถาบันจะทำให้ Argo กลายเป็นตัวเต็งออสการ์ แต่ความเห็นของผู้ชมในอิหร่านกลับเป็นไปในแง่ลบ ทั้ง อาลี มูอัลเลม นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอิหร่าน ที่มอง Argo เป็นหนังฮอลลีวูดคุณภาพปานกลางเมื่อเทียบกับคู่แข่งชิงออสการ์เรื่องอื่นๆ ส่วน มาซูด โฟรูตาน นักวิจารณ์อีกรายมองว่า Argo โดดเด่นด้านงานสร้างแต่เนื้อเรื่องตื้นเขินจนคาดเดาตอนจบไม่ยาก แต่ยังเชื่อว่าหนังน่าจะคว้าออสการ์ในที่สุด เนื่องจากสหรัฐฯ มีความขัดแย้งทางการเมืองกับอิหร่าน และต้องการใช้หนังเรื่องนี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อต่อชาวโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง