“ศ.ธนวัฒน์” ระบุ ต้นเหตุน้ำท่วมกรุง 14 ต.ค. ระบบระบายน้ำ เก่า –ทรุด –ตะกอนสะสม

ภัยพิบัติ
17 ต.ค. 60
17:10
647
Logo Thai PBS
 “ศ.ธนวัฒน์” ระบุ ต้นเหตุน้ำท่วมกรุง 14 ต.ค. ระบบระบายน้ำ เก่า –ทรุด –ตะกอนสะสม
วันนี้กลุ่มนักวิชาการที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำตั้งแต่ต้นปี นำข้อมูลเชิงวิชาการมาแลกเปลี่ยนกับสาธารณะเพื่อให้ทุกฝ่ายมีข้อมูลรอบด้านและมีเวลาเตรียมพร้อมเผชิญเหตุพิบัติภัยในอนาคต เผย น้ำท่วมรอระบายวันที่ 14 ต.ค.เกิดจากท่อระบายน้ำ กทม. มีประสิทธิภาพลดลง

วันนี้ (17 ต.ค.2560) ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่กลางดึกคืนวันที่ 13 ต.ค.60 จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 14 ต.ค.60 มีฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างใน กทม. ทำให้ชาว กทม. ต้องเผชิญกับมวลน้ำรอการระบายนานในหลายบริเวณทั่ว กทม. ซึ่งเป็นเรื่องเคยชินของคน กทม.สามารถคาดเดาได้ว่า วันไหนมีฝนตกหนัก น้ำจะต้องท่วม และรถต้องติดแน่นอน บางครั้งต้องรอการระบายกันอีกทั้งวัน เรื่องราวเหล่านี้สามารถสะท้อนคุณภาพชีวิตของคนกรุเทพฯ ได้อย่างชัดเจน

ปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องในช่วง 6 ชั่งโมง วัดได้สูงสุดที่สำนักงานเขตพระนคร ที่มีปริมาณฝนตกรวมสูงสุด 214.5 มิลลิเมตร (มม.) ถือว่ามากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี แต่ถ้าเฉลี่ยแล้วพบว่าไม่ถึง 40 มม.ต่อชั่วโมง ซึ่งนับได้ว่า ไม่ได้มากไปกว่าศักยภาพการระบายน้ำของ กทม.ที่ได้วางระบบไว้ที่ 60 มม.ต่อชั่วโมง ดังนั้นสาเหตุของน้ำท่วมจึงสะท้อนถึงปัญหาระบบการระบายน้ำของ กทม.ได้ชัดเจนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ศ.ธนวัฒน์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่าระบบระบายน้ำของ กทม. ถูกสร้างและปรับปรุงมากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสภาพระบบระบายน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตอนนี้เก่าแก่มาก มีการทรุดตัวและเต็มไปด้วยตะกอน ขยะติดค้าง พูดง่ายๆคือหมดสภาพ ศักยภาพการระบายน่าจะน้อยกว่า 40 มม.ต่อชั่วโมง ดังนั้นเมื่อฝนตกหนัก หรือมีฝนตกปานกลางต่อเนื่องหลายชั่วโมง จึงมีปัญหาน้ำรอการระบายจำนวนมาก

 

นอกจากศักยภาพการระบายน้ำที่ลดลงแล้ว พบว่าการทรุดตัวของท่อที่ไม่เท่ากัน ทำให้ค่าระดับการไหลของน้ำตามแรงโน้มถ่วงเปลี่ยนไป กล่าวคือสมัยก่อนวางระบบท่อระบายที่มีปลายท่อลงสู่คูคลองต่าง ๆ โดยให้ปลายท่อระบายสูงกว่าระดับน้ำในคลอง แต่ปัจจุบันพบว่าระดับน้ำในคลองต่างๆ อยู่สูงกว่าปลายท่อระบายน้ำ ดังนั้นระบบระบายน้ำจากท่อตามถนนต่างๆ ทั้งน้ำฝนที่ตกลงมา และน้ำทิ้งจากการใช้น้ำของชุมชน มารวมกันไหลลงสู่คลองและจากคลองต่างๆ จะไปลงสู่แม่น้ำในที่สุด

แต่หลังจากที่ กทม. มีระบบพื้นที่ปิดล้อมป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่ปี 2526 โดยทำผนังป้องกันน้ำท่วมตลอดแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมีการปรับปรุงเพิ่มความสูงของผนังกั้นน้ำให้สูงขึ้นมาโดยตลอด โดยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 250 เมตร (MSL) ในช่วงหน้าน้ำหลาก หรือช่วงน้ำขึ้น หรือช่วงน้ำทะเลหนุนสูง พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำในคลองมาก ดังนั้น การระบายน้ำจากท่อระบายน้ำตามถนนสายต่างๆ ลงสู่คลอง และจากคลองไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีระดับน้ำสูงกว่ามากจึงไปได้ยากมาก ยากพอๆ เหมือนเรากำลังปีนภูเขาลูกเล็กๆ พอมวลน้ำปีนไปไม่ไหว มวลน้ำทั้งหมดก็มีอาการเอ่อในคลอง ซึ่งตรงกับคำว่า “น้ำรอการระบาย” คือน้ำพอระบายได้ แต่ต้องใช้เวลานาน ผลกระทบของการทำผนังป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สูงขึ้น ส่งผลให้คลองต่าง ๆ มีตะกอนสะสมตัวมากขึ้นกว่าปีละ 2-3 เซนติเมตร

อีกปัจจัยที่ส่งผลให้น้ำรอระบายนานคือ คนทั้งกรุงเทพฯ ใช้น้ำวันละประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงทำให้การระบายน้ำต้องเจอกับภาระที่หนักมากขึ้น ลำพังน้ำจากการใช้ของเราก็หนักอยู่แล้ว ถ้าเจอฝนตกหนักลงมา หรือฝนตกแช่นานต่อเนื่อง อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ กรุงเทพฯ มีน้ำรอระบายพร้อมกัน 55 จุด และต้องใช้เวลาระบายน้ำกว่า 24 ชั่งโมง จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกจุด

บททดสอบนี้กำลังเป็นคำถามใหญ่ในอนาคต ต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานของ กทม.ในทุกระดับว่า ปริมาณฝนตกจากผลกระทบของเศษพายุขนุนที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ เรายังไม่มีศักยภาพในการเผชิญเหตุต่อพิบัติภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ หากในอนาคตอันใกล้มีพายุพัดผ่านบริเวณ กทม.นำฝนตกในพื้นที่ประมาณ 200 – 300 มม.ต่อชั่วโมง แล้วเราจะตั้งรับหรือบริหารกันอย่างไรดี

 

ศ.ธนวัฒน์ กล่าวว่า จากการติดตามลักษณะความแปรปรวนของอากาศในปี 2560 มีการแปรปรวนอย่างมากตั้งแต่ต้นปี ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคอีสาน จนมาถึงกรุงเทพฯ

สำหรับปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่หลายคนเป็นห่วงว่าจะเกิดขึ้นเหมือนน้ำท่วมที่เคยเกิดในปี 2554 ซึ่งมีมวลน้ำทางภาคเหนือไหลมาท่วมในภาคกลาง อาจจะมีความเป็นไปได้น้อย

แต่ในช่วงปลายปี 2560 คือในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ควรเฝ้าระวังเรื่องฝนตกหนักจากร่องมรสุม และอาจจะมีพายุพัดดังเช่นปี 2495 และปี 2526 อย่างไรก็ตาม ควรเตรียมการรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดบ่อยขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลระบบการแจ้งเตือนพิบัติภัยล่วงหน้า ควรเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชน เรื่องฝนตกหนักและพายุ

ขณะเดียวกันต้องเตรียมความพร้อมเรื่องระบบระบายน้ำ เพื่อรองรับฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องขยะกีดขวางและอุปกรณ์เครืองมือช่วยในการระบายน้ำให้รวดเร็วขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง