ทั่วโลกเต็มตา "ซูเปอร์บลูบลัดมูน" -รอชมอีกครั้ง 28 ก.ค.นี้

Logo Thai PBS
ทั่วโลกเต็มตา "ซูเปอร์บลูบลัดมูน" -รอชมอีกครั้ง 28 ก.ค.นี้
ทั่วโลก ไม่ผิดหวังชม "ซูเปอร์บลูบลัดมูน" ในรอบ 152 ปีกับภาพพระจันทร์สีแดงอิฐขนาดใหญ่ กินเวลานานกว่าชั่วโมง เตรียมชมอีกครั้งในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 28 ก.ค.นี้ คราสเต็มดวงในช่วงเวลา 02:30-04:13 น.

วันนี้ (1 ก.พ.2561) ปรากฏการณ์จันทรุปราคาสุดพิเศษที่เห็นชัดจากหลายทวีปทั่วโลก เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.)สร้างความตื่นเต้นกับผู้คนทั่วโลก ไทยพีบีเอส รวบรวมภาพ"ซูเปอร์บลูบลัดมูน" จากทั่วไทยและทั่วโลก ตั้งแต่จันทรุปราคาเข้าสู่เงามัวจนถึงเต็มดวง

 

ภาพซูปเปอร์บลูบลัดมูน จันทรุปราคาเต็มดวง จากทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือสดร.บันทึกไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ช่วงค่ำเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) จากภาพจะเห็นตั้งแต่พระจันทร์เป็นสีเหลืองนวลขนาดใหญ่เต็มดวง เริ่มเว้าแหว่งทีละน้อย ก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์พระจันทร์สีแดงอิฐขนาดใหญ่เต็มดวง กินเวลานานกว่าชั่วโมง สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นภาพที่สร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก

 


สำหรับในประเทศไทยสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.30 น. เวลาคราสเต็มดวงตั้งแต่ 19.51 - 21.07 น. และสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 23:08 น.ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคจำนวนมาก

 

 

ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศทั่วโลก ได้ร่วมบันทึกภาพปรากฏการณ์ "ซูเปอร์บลูบลัดมูน" ไว้ตามประ เทศต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มสังเกตเห็น พระจันทร์เต็มดวงกำลังโคจรเข้าสู่เงามัวของโลก จนเข้าสู่เงามืดของโลกเต็มดวง มีประชาชนจำนวนมาก ร่วมกันออกมาบันทึกภาพปรากฏการณ์ครั้งสำคัญนี้

 



ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในคืนวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่พิเศษสุดอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกิดในช่วงที่ดวงจันทร์โคจรใกล้โลก และตรงจันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือน จะเห็นจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หรือเรียกว่า "ซูเปอร์บลูบลัดมูน"

 

 

จันทรุปราคาเต็มดวงจะกลับมาให้คนไทยได้ชมกันอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 28 ก.ค.นี้ คราสเต็มดวงในช่วงเวลา 02:30-04:13 น. นอกจากนี้ในคืนวันที่ 28 ก.ค.นี้ ยังเป็นคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งไกลโลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่างประมาณ 406,086 กิโล เมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย หรือเรียกว่า “Micro Full Moon”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง