กมธ.ยกร่างฯ ข้อบังคับประชุมสภา เพิ่มอำนาจผู้นำฝ่ายค้าน

การเมือง
4 ก.ค. 62
13:56
1,165
Logo Thai PBS
กมธ.ยกร่างฯ ข้อบังคับประชุมสภา เพิ่มอำนาจผู้นำฝ่ายค้าน
กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นแล้ว โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่แต่งตั้งของผู้นำฝ่ายค้าน ขณะที่การแต่งกายยึดตามข้อบังคับเดิม

วันนี้ (4 ก.ค.2562) น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วว่า การกำหนดโดยจะต้องแล้วเสร็จในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ และขณะนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วในเรื่องของการร่างข้อบังคับโดยใช้เวลาทั้งหมด 10 ครั้ง และในครั้งต่อไปจะนำไปเรียบเรียงเป็นหนังสือรายงานผลการพิจารณาร่างฯ และเสนอวาระเพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

โดยหลักเกณฑ์การพิจารณายึดตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เนื้อหาสาระที่มีการปรับบทที่ 1 เรื่องของการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มในส่วนของผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ให้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ และในหมวดที่ 4 กรรมาธิการได้ข้อสรุปว่ายึดตามหลักข้อบังคับเดิมที่เคยใช้มีคณะกรรมาธิการ 35 คณะ ประกอบไปด้วยกรรมการคณะละ 15 คนได้พิจารณาตามความเหมาะสมของสัดส่วนภารกิจและจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน เช่น คณะกรรมาธิการเด็กเยาวชนสตรีผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในข้อนี้หลังได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศว่า ให้แยกคณะกรรมาธิการออกมาอีกหนึ่งกลุ่ม แต่ที่ประชุมมีมติได้นำมารวมกับคณะกรรมาธิการชุดนี้ โดยจะพิจารณาแยกในชั้นอนุกรรมาธิการ

 

เพิ่มอำนาจผู้นำฝ่ายค้าน

 

 

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวและกีฬามีการบรรจุให้รวมกีฬาอิเล็กทรอนิกส์หรืออีสปอร์ต คณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัยให้เพิ่มในส่วนของการระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติฟื้นฟูหลังจากเกิดภัยทางธรรมชาติและสาธารณภัย คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์วิจัยนวัตกรรมและดิจิทัล มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยและกระทรวงที่มีการเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เพิ่มหมวดผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการประสานงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มการอำนาจหน้าที่แต่งตั้งของผู้นำฝ่ายค้าน ขณะที่เรื่องกระทู้ถามมีกระทู้ถามสดกระทู้ถามทั่วไป ซึ่งในที่ประชุมมีมติให้เพิ่มวาระกระทู้ถามแยกเฉพาะ

 

ยึดการแต่งกายตามเดิม

 

 

ส่วนการแต่งกาย ได้ยึดตามข้อบังคับเดิม คือแต่งเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา ชุดสากลนิยม และชุดพระราชทาน ส่วนชุดอื่นนั่นเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาเป็นผู้กำหนดว่าจะให้สมาชิกแต่งกายอะไรเพิ่มเติมได้หรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานรัฐสภา ได้อนุญาตให้แต่งตามเพศสภาพ และกายสภาพแล้ว โดยสมาชิกจะต้องปฏิบัติระเบียบการแต่งกายเครื่องแบบของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม ในการสวมใส่ชุดไทยนั้น หากสมาชิกต้องการใส่ชุดไทยก็สามารถที่จะทำหนังสือขอประธานรัฐสภา หรือเสนอความเห็นตอน กมธ.เสนอร่างข้อบังคับนี้ในที่ประชุม

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมาสมัยที่นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานรัฐสภา ได้กำหนดไม่ให้ ส.ส.หญิง ใส่กางเกง และใส่เสื้อผ้าได้เพียง 3 สีเท่านั้น คือเทา กรมท่า และดำ ยืนยันข้อบังคับในส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ ส.ส.บางคนสวมใส่ชุดไทยในวันนี้แต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง