ชาวจันทบุรี คัดค้านเหมืองทอง

ภูมิภาค
9 ก.พ. 64
09:34
1,758
Logo Thai PBS
ชาวจันทบุรี คัดค้านเหมืองทอง
ชาวบ้าน จ.จันทบุรี ร้องเรียนนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำใน อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี หลังพบบริษัทเอกชนพยายามขอสำรวจเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ยืนยันว่าหากมีการสร้างเหมืองแร่จะส่งผลกระทบต่อทั้งชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมมหาศาล

วันนี้ (9 ก.พ.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง รวมตัวเข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี

 

น.ส.อินทิรา มานะกุล

น.ส.อินทิรา มานะกุล

น.ส.อินทิรา มานะกุล

 

น.ส.อินทิรา มานะกุล รองประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า การขออาชญาบัตรพิเศษครั้งนี้มีเนื้อที่กว่า 14,650 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของ จ.จันทบุรี ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาได้ร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรม จ.จันทบุรี และกระทรวงอุตสาหกรรมมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ความคืบหน้า

ยืนยันเดินหน้าคัดค้านทุกกรณี

วันนี้ จึงมาร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาการยกเลิกอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าว เพราะเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใน จ.จันทบุรี เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่เชิงเกษตร โดยเฉพาะการปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ผลผลิตออกมาปีละไม่ต่ำกว่า 6 แสนตัน สร้างมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท แต่หากเทียบกับรายได้ที่ภาครัฐจะได้จากการสร้างเหมืองแร่เห็นว่าจะไม่คุ้มกับการทำลายธรรมชาติ

 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังเคยมีการทำเหมืองแร่ทองคำในหลายจังหวัด และเห็นว่าไม่มีที่ไหนที่จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ การเข้ามาเรียกร้องในครั้งนี้ เพื่อต้องการตัดไฟแต่ต้นลม และหากบริษัทดังกล่าวยังเดินหน้าขออนุญาต ทางกลุ่มก็จะเดินหน้าคัดค้านในทุกกรณี

ชี้เหมืองทองกระทบลุ่มน้ำวังโตนด

ขณะที่ ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรี กล่าวว่า พื้นที่ที่จะขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ เป็นพื้นที่ต้นน้ำวังโตนด ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญทางตะวันตกของ จ.จันทบุรี ที่กินเนื้อที่กว่า 1,700 ตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นที่เกษตรกรใช้ดำรงชีพ หากมีการก่อสร้างเหมืองแร่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตทั้งลุ่มน้ำวังโตนด รวมไปถึงโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี นอกจากนี้ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจ EEC ยังมีการผันน้ำจากวังโตนดไปใช้ด้วย หากมีเหมืองแร่ทองคำ ก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อโครงการนี้ไปด้วย

 

ผศ.เจริญ ปิยารมย์

ผศ.เจริญ ปิยารมย์

ผศ.เจริญ ปิยารมย์

 

นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังเห็นว่านอกจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านแล้ว มลพิษจากเหมืองยังอาจจะเจือปนในแหล่งน้ำโดยเฉพาะตามชายหาด จนถึงในทะเล ซึ่งจะทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในจังหวัด และอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล

นายกฯ ส่งตัวแทนมารับฟังปัญหา

ทั้งนี้ การมาเรียกร้องของสมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง และคนจันท์เอาหมอนทองไม่เอาเหมืองทอง ในวันนี้ได้นำทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรสำคัญของทางจังหวัดที่เป็นเกรดส่งออกต่างประเทศ ปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 150-160 บาท และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นต่อเนื่องอีกปีละ 10% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่กลุ่มชาวบ้านต้องการอนุรักษ์ไว้

 

 

หลังจากนั้น ทางกลุ่มได้ส่งตัวแทน 20 คน เข้าไปเสนอเรื่องร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีภายในตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้ส่งตัวแทนมารับฟังปัญหาและรับเรื่องร้องทุกข์ไปพิจารณาต่อไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวจันทบุรีเข้ากรุงเทพฯ ค้าน ก.อุตสาหกรรมไฟเขียวสำรวจแร่ทองคำ 

ถอดรหัส พิรุธอาชญาบัตรสำรวจเหมือง "จันทบุรี"

กพร.ชี้ "ริชภูมิ ไมนิ่ง" ได้แค่อาชญาบัตรสำรวจเหมืองทอง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง