รู้จัก "ถนนพระราม 2" ถนนสายหลักสู่ภาคใต้ กับปัญหา "ซ่อม-สร้าง"

ภูมิภาค
1 ส.ค. 65
10:27
9,513
Logo Thai PBS
รู้จัก "ถนนพระราม 2" ถนนสายหลักสู่ภาคใต้ กับปัญหา "ซ่อม-สร้าง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ย้อนประวัติถนนพระราม 2 เส้นทางสายหลักสู่ภาคใต้ ที่มีการก่อสร้างและซ่อมแซมมาในหลายโครงการจนถูกขนานนาม "ถนน 7 ชั่วโคตร " จนถึงอุบัติเหตุ 2 ครั้งล่าสุดที่เกิดจากการก่อสร้างและซ่อมแซมในพื้นที่ถนนสายดังกล่าว

เหตุคานสะพานกลับรถตกลงบนถนน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และ บาดเจ็บ 2 คน บนถนนพระรามที่ 2 ถือเป็นเหตุการณ์ล่าสุด ที่เกิดขึ้นบนถนนพระราม 2 หรือ ทางหลวงหมายเลข 35

ถนนสายหลักเส้นทางสู่ภาคใต้

ถนนพระราม 2 หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง–วังมะนาว เป็นถนนที่ตัดผ่านกรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร และ ราชบุรี เป็นเส้นทางหลักที่มุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทย 

ถนนพระราม 2 แยกจากถนนสุขสวัสดิ์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 303) ในพื้นที่เขตจอมทอง และตัดผ่านพื้นที่เขตบางขุนเทียน ผ่าน จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม แล้วสิ้นสุดที่ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) บริเวณทางแยกต่างระดับวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

ถนนสายดังกล่าวมีระยะทางที่ผ่านในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้ กรุงเทพฯ ระยะทาง 14.66 กม., จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 39.215 กม., จ.สมุทรสงคราม ระยะทาง 26.951, และ จ.ราชบุรี ระยะทาง 3.215 กม. รวมระยะทาง 84.041 กม.

ทั้งนี้ ถนนพระรามอื่น ๆ เช่น พระรามที่ 1, 3, 4, 5, 6 และถนนพระราม 9 อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ยกเว้น ถนนพระราม 2

ก่อสร้างหลายโครงการรถติดหนัก

ถนนพระราม 2 เริ่มก่อสร้างในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งแต่ พ.ศ.2513 แล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เม.ย.2516 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักมุ่งสู่ภาคใต้ ช่วยร่นระยะทางสั้นกว่าถนนเพชรเกษมประมาณ 40 กม. จึงทำให้ประชาชนใช้เส้นทางนี้แทนถนนเพชรเกษม เป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อมีผู้สัญจรเส้นทางดังกล่าวจำนวนมาก ทำให้มีการก่อสร้างทั้งการขยายถนน ส่วนถึงก่อสร้างทางแยกต่างระดับหลายโครงการจึงทำให้การจราจรติดขัดในหลายช่วงของถนนพระราม 2 รวมถึงการซ่อมแซมถนนที่มาโดยตลอด

และยังมีโครงการที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างคือ โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 2 ที่ กม.17+500 (ขาเข้า กทม.) จ.สมุทรสาคร

การก่อสร้างบนถนนพระราม 2 กลายเป็นภาพจำของผู้สัญจรไปมา จนถูกขนานนามว่า "ถนน 7 ชั่วโคตร" คือ การก่อสร้างที่ยาวนาน เสมือนว่าจะไม่มีวันจบสิ้น

ชาวบ้านดมฝุ่น-เสียงดัง-เครื่องจักร-น้ำท่วม

ขณะที่ ในปี 2562 เนื่องจากถนนพระราม 2 มีโครงการทั้งซ่อมและสร้างหลายโครงการผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากนอกเหนือจากผู้ใช้เส้นทางที่เผชิญปัญหารถติดมาอย่างยาวนาน ประชาชนในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบจากมลพิษต่าง ๆ เช่นกัน ทั้งเครื่องจักรที่ส่งเสียงดัง ปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง จนต้องเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา 

อุบัติเหตุ 2 ครั้งใน 1 เดือน ปี 65

ต่อมาวันที่ 17 ต.ค.2565 เกิดเหตุอุปกรณ์ก่อสร้างหล่น จนทำให้มีรถยนต์เสียหาย 3 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 3 คน เหตุดังกล่าวเกิดระหว่างการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 2 ที่ กม.17+500 (ขาเข้า กทม.) จ.สมุทรสาคร

ขณะที่ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2565 เกิดอุบัติเหตุคานสะพานลอยกลับรถ กม.34 ถนนพระราม 2 บริเวณหน้าโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร ขาเข้ากรุงเทพฯ ที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซมโครงสร้าง หล่นทับรถที่วิ่งผ่านมา เบื้องต้นได้รับความเสียหาย 3 คัน เสียชีวิต 1 คนติดอยู่ในรถ บาดเจ็บอีก 3 คน

 

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า สะพานกลับรถดังกล่าวก่อสร้างเมื่อปี 2536 มีอายุการใช้งานเกือบ 30 ปี และได้ดำเนินการซ่อมแซมมาตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. พร้อมระบุว่า สะพานดังกล่าวเคยเกิดเหตุรถบรรทุกน้ำมัน 18 ล้อ พลิกคว่ำและเกิดเพลิงลุกไหม้เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้วและได้มีการซ่อมแซมจนกลับมาใช้งานได้

ทั้งนี้ อธิบดีกรมทางหลวง ได้เน้นย้ำมาตรการความปลอดภัยทุกโครงการ หลังเกิดเหตุการณ์ล่าสุด รวมถึงตามปกติการก่อสร้างหรือซ่อมแซมบนถนนพระราม 2 จะให้ดำเนินการได้ช่วง 22.00 - 04.00 น. เพื่อไม่ให้กระทบการจราจร

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รถติดหนึบ 3 ชั่วโมง แยกวังมะนาว-พระราม 2 ผลพวงคานปูนถล่ม

ทล.ยันพร้อมเยียวยาผู้สูญเสีย-ทรัพย์สิน กรณีสะพานกลับรถถล่ม

เปิดภาพมุมสูงจุดคานปูนถล่มพระราม 2 ปิด 1 วันเช็กความแข็งแรง  

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง