เปิดภาพ "กาแล็กซีล้อเกวียน จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ "เจมส์ เว็บบ์"

Logo Thai PBS
 เปิดภาพ "กาแล็กซีล้อเกวียน จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ "เจมส์ เว็บบ์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดภาพ "กาแล็กซีล้อเกวียน" จาก "กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์" อยู่ห่างออกไป 500 ล้านปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวช่างแกะสลัก ลักษณะคล้ายกับวงล้อขนาดใหญ่ล้อมรอบวงล้อขนาดเล็ก

วันนี้ (3 ส.ค.2565) นายมติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก NARIT เปิดภาพ"กาแล็กซีล้อเกวียน" (Cartwheel Galaxy) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) แสดงให้เห็นโครงสร้างภายใน กลไกการเกิดใหม่ของกระจุกดาวภาย และหลุมดำ ณ ใจกลางกาแล็กซี เผยให้เห็นถึงวิวัฒนาการของกาแล็กซีหลายพันล้านปีที่ผ่านมา

สำหรับกาแล็กซีล้อเกวียน อยู่ห่างออกไป 500 ล้านปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวช่างแกะสลัก (Sculptor constellation)

กาแล็กซีนี้มีลักษณะปรากฏคล้ายกับวงล้อขนาดใหญ่ล้อมรอบวงล้อขนาดเล็ก เชื่อมต่อด้วยสายธารของดาวฤกษ์ มีลักษณะคล้ายล้อเกวียน เกิดจากการชนกันของกาแล็กซี อันเป็นวิวัฒนาการสำคัญของกาแล็กซีที่ส่งต่อให้เกิดปฏิกิริยาใหม่มากมายตามมาภายหลัง

กาแล็กซีล้อเกวียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกาแล็กซีที่มีโครงสร้างแบบกาแล็กซีวงแหวน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่หาได้ยากกว่ากาแล็กซีแบบกังหัน เช่น กาแล็กซีทางช้างเผือก ที่พบเห็นได้ง่ายกว่าเป็นอย่างมาก ในโครงสร้างวงแหวนนี้ แสดงให้เห็นวงแหวนหลายชั้นกำลังขยายตัวออกคล้ายกับคลื่นผิวน้ำที่ค่อย ๆ แผ่ออกเป็นวงกว้างจากก้อนกรวดที่ถูกโยนลงไป

วงแหวนภายในนั้นเต็มไปด้วยกระจุกดาวขนาดยักษ์ที่เต็มไปด้วยดาวยักษ์ที่กำลังถือกำเนิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ส่วนวงแหวนภายนอกนั้นมีการขยายตัวอย่างช้า ๆ มาตลอดกว่า 440 ล้านปี เต็มไปด้วยดาวฤกษ์เกิดใหม่และซูเปอร์โนวา ในขณะที่แก๊สในวงแหวนค่อน ๆ ประทะเข้ากับมวลสารที่ล้อมรอบอยู่ภายนอก 

 

กล้องโทรทรรศน์อื่น เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลนั้นเคยบันทึกภาพของ Cartwheel Galaxy มาก่อนแล้ว (ภาพล่างขวา) แต่รายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับกาแล็กซีนั้นยังคงถูกบดบังไปด้วยฝุ่นและแก๊สเป็นจำนวนมากที่รายล้อมกระจุกดาวเกิดใหม่เหล่านี้ ซึ่งกล้อง JWST ที่ศึกษาในย่านคลื่นอินฟราเรดนั้นจะสามารถส่องทะลุฝุ่นอันหนาทึบเหล่านี้เพื่อไขความลับที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อนได้

ภาพจากกล้อง NIRCam (ภาพซ้าย) ที่ศึกษาในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้นั้นเปิดเผยให้เห็นดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่ถูกบดบังเอาไว้ด้วยฝุ่นที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นโดยกล้องฮับเบิล แต่กาแล็กซีนี้ในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้นั้น พบเห็นเป็นดาวจำนวนมากมายที่หนาแน่นในช่วงแกนกลาง และดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่ประปรายกว่าในบริเวณโดยรอบ

ในขณะที่ภาพจากกล้อง MIRI (ภาพบนขวา) ทำงานในช่วงย่านคลื่นอินฟราเรดกลาง เผยให้เห็นโครงสร้างของ "ก้าน" ที่เชื่อมต่อระหว่างวงแหวนวงในและวงนอก เปรียบได้กับโครงกระดูกที่เป็นส่วนเชื่อมต่อของกาแล็กซีเอาไว้ด้วยกัน แม้ว่าโครงสร้างนี้จะสามารถพบเห็นได้ในภาพของฮับเบิล แต่ภาพที่ได้จากกล้อง MIRI ของ JWST นั้นแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดที่ซับซ้อนเกินกว่าที่กล้องฮับเบิลจะสามารถบันทึกเอาไว้ได้

ภาพของ Cartwheel Galaxy ที่ JWST บันทึกเอาไว้ได้นั้น เปรียบได้กับ "ภาพนิ่ง" ภาพหนึ่งของกาแล็กซีในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำลังวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ก่อนที่จะเกิดการชนกันนั้น Cartwheel Galaxy น่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกับกาแล็กซีทางช้างเผือกในปัจจุบัน ซึ่งหากเกิดการชนกันของกาแล็กซีอื่น เช่น กาแล็กซีแอนโดรเมดาที่กำลังพุ่งเข้าชนในอีก 5 พันล้านปีในอนาคต กาแล็กซีทางช้างเผือกอาจจะมีการวิวัฒนาการไปในลักษณะที่ใกล้เคียงกับภาพที่เห็นอยู่นี้

การศึกษาเช่นนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจถึงอดีต และอนาคตของกาแล็กซี ในกระบวนการวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับกาแล็กซีอีกเป็นจำนวนมากในเอกภพ

 

ภาพของ Cartwheel Galaxy ที่ถูกบันทึกโดยอุปกรณ์ NIRCam ของกล้อง JWST (ภาพซ้าย) อุปกรณ์ MIRI ของกล้อง JWST (ภาพบนขวา) และภาพในอดีตที่ถูกบันทึกโดยกล้อง HST (ภาพล่างขวา) เปิดเผยให้เห็นถึงวงแหวนของกระจุกดาวฤกษ์เกิดใหม่ ที่เกิดจากการชนกันของกาแล็กซีขนาดเล็กที่ทะลุผ่าน Cartwheel Galaxy คล้ายคลื่นผิวน้ำที่กระเพื่อมออกจากก้อนกรวดที่ถูกโยนลงไป

ภาพโดย NASA, ESA, CSA, STScI, Webb ERO Production Team และ ESA/Hubble & NASA อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง