"บอร์ดเกมไทย" ยืนอยู่ตรงไหนในตลาดโลก

ไลฟ์สไตล์
11 พ.ย. 65
10:17
1,146
Logo Thai PBS
"บอร์ดเกมไทย" ยืนอยู่ตรงไหนในตลาดโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระแสบอร์ดเกมเริ่มกลับมาคึกคักและขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องในไทย แต่ในตลาดโลก "บอร์ดเกมไทย" ก้าวไปถึงไหน ติดตามเส้นทางของอุตสาหกรรมนี้กับ "เอ็ก - พีรัช ษรานุรักษ์" ผู้พัฒนาและออกแบบบอร์ดเกมชาวไทย

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสบอร์ดเกมเริ่มกลับมาคึกคักและขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป็นกิจกรรมที่ถูกใจทั้งคนรุ่นใหม่ที่เล่นเพื่อแข่งกันเอาชนะกับเพื่อน และคนรุ่นใหญ่-รุ่นเล็กที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันพร้อมหน้าครอบครัวเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกันได้ในช่วงวันหยุด

อย่างไรก็ตาม ใครจะรู้ว่าจริง ๆ แล้ว บอร์ดเกมอยู่คู่กับชีวิตผู้คนมานานนับตั้งแต่สมัยโบราณที่มีการขุดพบซากหมาก ลูกเต๋า เมื่อ 4,000 ปีก่อน หรือขยับเข้ามาใกล้อีกหน่อย ก็คือหมากรุก หมากฮอส บันไดงู เกมเศรษฐี หรือไพ่สำรับที่หลายคนคุ้นเคยกันดี 

บอร์ดเกม คือ การสร้างเงื่อนไขเกมอะไรบางอย่างที่เล่นบนโต๊ะ มี Eye Contact มีครอบครัวอยู่พร้อมหน้ามาเล่นด้วยกัน แต่เดี๋ยวนี้ก็มีบอร์ดเกมออนไลน์แต่ความรู้สึกจะไม่เหมือนกัน ดังนั้น บอร์ดเกมออนไลน์เหมือนเอาไว้ซ้อม เล่นเพื่อผ่อนคลาย สนุก ๆ

เอ็ก - พีรัช ษรานุรักษ์ (Wizards of Learning) ผู้พัฒนาและออกแบบบอร์ดเกม บอกเล่าเรื่องราวของบอร์ดเกมให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ได้รู้จักจุดเริ่มต้นและความหมายของกิจกรรมที่กลายเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ ที่แม้ก่อนหน้านี้จะมีบทบาทในด้านการให้ความบันเทิงและพัฒนาทักษะนอกห้องเรียน แต่ปัจจุบันบอร์ดเกมถูกนำมาใช้ในบริบทเป็นสื่อการสอนในห้องเรียนมากขึ้น หรือบางครั้งก็ถูกนำไปผสมผสานอีเวนต์ใหญ่ อย่างล่าสุดกับดนตรีในสวน ก็มีบอร์ดเกมในส่วนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของ กทม.ด้วย


ในฐานะตัวแทนสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย เอ็ก พีรัช มองว่า ตลาดบอร์ดเกมขณะนี้ยังไม่โตมากนัก แต่ความนิยมค่อนข้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนทั่วไปพูดถึงบอร์ดเกมมากขึ้น แต่ร้านบอร์ดเกมกลับได้รับผลกระทบหนักจากช่วงโควิด-19 ทำให้จำนวนร้านบอร์ดเกมลดลงไปจนใจหาย แต่ขณะเดียวกันการขายบอร์ดเกมออนไลน์ก็เติบโตมากขึ้น

เคยประเมินว่าตัวเลขอุตสาหกรรมบอร์ดเกมอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านบาท ฝั่งยุโรปเขา Developed แล้ว แต่ไทยยัง Developing อยู่ เราเรียนรู้จากฝั่งไต้หวันพบว่า บอร์ดเกมถ้า collab กับการศึกษา จัดเป็นกิจกรรมในโรงเรียนมันเอื้อทั้งคู่ ฝั่งการศึกษาก็จะสนุกขึ้น มีเครื่องมือสอนมากขึ้น ฝั่งบอร์ดเกมก็ทำให้มีพื้นที่มากขึ้น เราเลยเดินหน้าทางนี้ด้วย

ทั้งนี้ สมาคมบอร์ดเกมประเทศไทยได้จัดทำเว็บไซต์ Thailand Board Game database เป็นฐานข้อมูลบอร์ดเกมไทย และเปิดให้คนไทยมาลงทะเบียนเกี่ยวกับบอร์ดเกมตัวเอง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยนักออกแบบหน้าใหม่ที่ต้องการดูข้อมูลทั้งชื่อดีไซน์เนอร์ คนทำภาพประกอบ โรงพิมพ์ที่ใช้ให้ได้ศึกษากันก่อน 


สำหรับตลาดในไทยขณะนี้ เอ็ก พีรัช ประเมินว่า ถ้าฐานแข็งแรงก็สามารถกระโดดไปตลาดโลกได้ง่ายขึ้น เช่น เกมของ Hexa House ที่มุ่งตลาดไทยประมาณหนึ่ง แต่ไประดมทุนใน Kickstarter 2 ชั่วโมงมียอดถล่มทลายถึง 6 ล้านบาท ก่อนจะผุดโปรเจ็กต์แรกอย่าง Victim บอร์ดเกมแนว Co-op ผจญภัยในป่า โดยมีตัวละคร "เดอะโกสต์ผีนางรำ" สอดแทรกความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลกด้วย ความสำเร็จของ Victim เรียกได้ว่าผลตอบรับดีทั้งช่วงระดมทุนและยอดพรีออร์เดอร์จนต้องออกบอร์ดเกมใหม่ที่ชื่อว่า Barbaric และก็เป็นไปตามคาด กับความสำเร็จที่สูงสุดในประวัติศาสตร์บอร์ดเกมไทย นับว่าเป็นผู้ผลิตบอร์ดเกมที่ตีตลาดต่างประเทศ แต่ก็ไม่ทิ้งตลาดในไทยด้วย

ถ้าคนต่างชาติมาดูบอร์ดเกมไทย เขาก็ว้าวเหมือนกัน แม้จะมีอุตสาหกรรมบอร์ดเกมไม่นาน แต่เราเสพบอร์ดเกมต่างประเทศมานาน คนไทยที่เป็นนักออกแบบก็มีพื้นฐานแล้วต่อยอดไป คุณภาพของงานไม่ต่างกัน

ล่าสุด งานบอร์ดเกมระดับสากลอย่างงาน Spiel ปีล่าสุดที่เยอรมนี ก็มีบริษัทนักออกแบบคนไทยไปออกบูธถึง 4 เจ้า และได้รับความสนใจจากชาวยุโรปอย่างล้นหลาม เพราะหลายคนจะรู้สึกว่าเกมจากฝั่งเอเชียไม่ได้หาซื้อได้ง่าย ๆ เมื่อเข้าไปดูแล้วพบว่าทั้งคุณภาพดี เกมสนุก ทำให้เลือกซื้อกันไปจนประกาศ Sold Out ทุกเจ้าก่อนงานจบเลยทีเดียว

ขณะเดียวกันในไทยเองก็มีพื้นที่สำหรับจัดแสดงบอร์ดเกมเพิ่มมากขึ้นหลังโควิด-19 โดยในวันที่ 11-13 พ.ย.2565 จะมีงานประจำปีของชาวบอร์ดเกม Thailand bordgame show 2022 เพื่อให้นักออกแบบ ผู้นำเข้า ร้านบอร์ดเกม ดีไซน์เนอร์ สถาบันการศึกษา คนเล่น หรือบุคลากรในแวดวงการบอร์ดเกมมาเจอกัน โดยภายในงานจะมีบอร์ดเกมใหม่ ๆ มาให้ได้ลองเล่นกัน และมีการแข่งขันเพื่อหาแชมป์บอร์ดเกมประจำปีด้วย สำหรับใครที่สนใจก็สามารถติดตามและสนับสนุนนักออกแบบบอร์ดเกมไทยกันได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง