"ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ" พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

ต่างประเทศ
15 พ.ย. 65
17:30
677
Logo Thai PBS
"ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ" พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค.2566 โดยเน้นพิธีการที่เรียบง่าย และใช้เวลาสั้นลง เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทของกษัตริย์ยุคใหม่และการมองการณ์ไกลสู่อนาคต

วันที่ 15 พ.ย.2565 สำนักข่าว BBC รายงานว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่ จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค.2566 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน ภายใต้รหัสปฏิบัติการ "ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ" หรือ "Operation Golden Orb"

แม้รายละเอียดต่าง ๆ ของพระราชพิธีสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ยังคงเป็นความลับ แต่ก็มีการเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบบ้างแล้ว 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกคืออะไร?

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พิธีทางศาสนา มีการสวมพระมหามงกุฎลงบนพระเศียรของกษัตริย์พระองค์ใหม่ พิธีนี้เป็นสัญลักษณ์ในการถวายพระราชอำนาจ รวมทั้งบทบาทประมุขแห่งศาสนจักรอังกฤษและพระอิสริยยศอื่นๆ ในคราวเดียวกัน

ขั้นตอนต่างๆ ในพระราชพิธี มีอะไรบ้าง?

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นั้น ทางสำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้แถลงเป็นนัยว่าอาจมีความเปลี่ยนแปลงบางประการเพื่อให้ สะท้อนถึงบทบาทของกษัตริย์ยุคใหม่และการมองการณ์ไกลไปสู่อนาคต

โดยคาดว่าจะไม่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เท่าครั้งของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 1953 ขั้นตอนการประกอบพิธีอื่นๆ ก็จะลดเวลาลง 

โดยทั่วไปแล้วพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของอังกฤษ มี 6 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

1. การถวายความจงรักภักดี : อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำศาสนจักรแห่งอังกฤษ ประกาศการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่ จากนั้นผู้เข้าร่วมพระราชพิธี ร่วมกันส่งเสียงขึ้นพร้อมกันว่า "God Save the King" และมีการเป่าแตรตามมา

2. พระบรมราชโองการ : กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงมีพระบรมราชโองการว่าจะยึดถือกฎหมายและพิทักษ์รักษาศาสนจักรแห่งอังกฤษ

3. การเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์: ฉลองพระองค์ที่ใช้ในพระราชพิธีจะถูกถอดออก อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่พระหัตถ์ พระอุระ และพระเศียร 

4. ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ : อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ เริ่มจากการถวายพระลูกโลกประดับกางเขน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจทางศีลธรรมและศาสนา ตามด้วยการถวายพระคทาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรมและความเมตตากรุณา จากนั้นจึงจะสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดลงบนพระเศียร

5. ขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์ : กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงลุกจากพระราชอาสน์เพื่อไปประทับบนพระราชบัลลังก์ 

6. พระราชพิธีสำหรับสมเด็จพระราชินี: หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนในพระราชพิธีของกษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว จะมีการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์และสวมพระมหามงกุฎให้กับสมเด็จพระราชินีด้วยเช่นกัน

พระมหามงกุฎประจำพระราชพิธี

พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St Edward's Crown) จะถูกนำมาสวมลงบนพระเศียรของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 โดยพระมหามงกุฎดังกล่าวซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ทำจากทองคำแท้และหนักถึง 2.23 กก. ซึ่งกษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงสวมในตอนท้ายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และขณะเสด็จออกสีหบัญชรที่พระราชวังบักกิงแฮม

ราชาภิเษกครั้งนี้เสียค่าใช้จ่ายมากแค่ไหน?

เนื่องจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ถือเป็นรัฐพิธี รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่คาดว่ารัฐบาลจะพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจประชาชนที่กำลังลำบาก ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน

ที่มา : BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง