ขุดอดีต “หอย-หิน” สู่อาชีพนักธรณี

ไลฟ์สไตล์
23 พ.ย. 65
12:24
842
Logo Thai PBS
ขุดอดีต “หอย-หิน” สู่อาชีพนักธรณี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คุยกับ "พรรณิภา แซ่เทียน" นักธรณีวิทยาหญิง ของกรมทรัพยากรธรณี ผู้หลงใหลเสน่ห์ของฟอสซิส หอยและปะการังในชั้นหิน จนก้าวสู่งานชิ้นสำคัญขุดและอนุรักษ์ "วาฬอำแพง" ฟอสซิลวาฬบรูด้าตัวแรกของไทย

เธอชื่ออะไร? ฉันอยากรู้จักเธอ

ไม่ชอบกระดูกชิ้นใหญ่แบบไดโนเสาร์ ชอบพวกปะการัง หอยเล็กๆ ที่อยู่ในหิน มันน่ารัก

พรรณิภา แซ่เทียน นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ พร้อมกับท่าทางขะมักเขม้นในระหว่างที่นำแว่นขยายส่องไปยังก้อนหินขนาดใหญ่ 2-3 ก้อนแบบสนุกสนาน

หินก้อนนี้มีซากดึกดำบรรพ์ขนาดเล็กๆ แทรกในเนื้อหิน เหมือนเม็ดข้าวสาร เรียกว่า ฟิวซูลินิด (fusulinids) ภาษาไทยเรียกว่าคตข้าวสาร

ส่วนอีกก้อนที่เห็นเป็นหินกรวดมนได้ นั่นแสดงว่าหินเกิดการผุพังลงมา และมีการพัดพามาด้วยกระแสน้ำ ทำให้ก้อนหินก้อนกรวดเหล่านั้นถูกขัดสีจนกลมมน และเกิดการสะสมตัวกลายเป็นหินอีกครั้ง

แบกกระเป๋าเข้าป่าหาแร่แบไรต์

พรรณิภา บอกว่า แรงบันดาลใจที่เข้าสู่แวดวงนักธรณีวิทยา เพราะอยากไปเที่ยวต่างจังหวัด จึงเบนเข็มไปเรียนที่คณะเทคโนโลยี ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเลือกสาขา Paleontologist หลังจากมีอาจารย์ และนักธรณีวิทยา มาเล่าเรื่องว่าจากแม่น้ำ ภูเขา จะไล่ตะกอนมาจนถึงทะเล มีกระบวนการต่างๆ มากมาย และรู้สึกว่าตื่นเต้น และสนุกมาก

ประกอบกับจากที่รุ่นพี่ บอกว่าถ้าเรียนธรณี จะได้ไปเที่ยวไปต่างจังหวัด รู้สึกตื่นเต้นอยู่บ้านไม่ได้ไปไหน แต่ถ้าเรียนธรณีจะได้ออกพื้นที่ อยู่กับบัดดี้ในห้อง 3 คนไปอยู่ในป่าเพื่อศึกษาชั้นหิน และหาคำตอบว่าเหมืองแบไรต์อยู่ตรงไหน จำได้ว่าต้องเดินเข้าป่า จ.เลย ครั้งแรก 3 คืนต้องอ้อมเขากว่าจะเจอโจทย์หินแบไรต์ตามที่อาจารย์บอก

เกือบ 30 ปีก่อนไปออกสนามในพื้นที่ จ.เลย ประมาณ 1 เดือน รู้สึกท้าทายมากได้ไปสำรวจภูเขาหินปูน พบเจอฟอสซิลฟิวซูลินิด แอมโมนอยด์ มีอุปกรณ์ประจำตัว ค้อน เข็มทิศ แผ่นที่ เป้สะพายข้าง แว่นขยาย สำหรับเข้าป่าไปเก็บหิน วางไลน์แผนที่ว่าตรงนี้มีหินอะไรบ้าง และที่สำคัญห่อข้าวกลางวัน

หอย-หิน ค้นพบฟอสซิลจากอดีต

เธอ เล่าว่า หลังจากเก็บก้อนหินมาแล้ว ต้องนำมาเข้าห้องแล็ปตัดหิน ทำแผ่นหินบาง ไม่เอาหินก้อนเล็ก ถ้าเอาก้อนเล็กอาจารย์ก็บ่น แต่ต้องเก็บตัวอย่างหินขนาดประมาณ 10x10x15 เซนติเมตร และนำมาตัดแผ่นหินบางๆ ก่อนเก็บก้อนหินเราจะต้องบรรยายหน้าหินโผล่ ไม่เอาชิ้นที่ร่วงลงพื้น พร้อมวาดภาพสเก๊ตช์ และถ่ายรูปประกอบ เมื่อได้แผ่นหินบางแล้วก็มาดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ว่าเป็นหินอัคนี หินตะกอนหรือหินแปร และมาแปลความจากแผ่นหินบาง 1 แผ่น 

ถ้าเจอหินอัคนีชนิดนี้แปลว่าอะไร จากนั้นจะมาเล่าว่าธรณีโครงสร้างของพื้นที่อะไรเกิดก่อน เกิดหลัง ตัวที่บ่งชี้อายุในหินตะกอนคือฟอสซิล ซึ่งจะมีส่วนช่วยบอกอายุของชั้นหินนั้น
ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

พรรณิภา บอกอีกว่า หินตะกอนมีการสะสมตัวเหมือนขนมชั้นก็จะอนุมานว่าหินชั้นล่างแก่กว่า ถ้ามีหินอัคนีอยู่ในพื้นที่ และสัมผัสกับหินตะกอนในพื้นที่ ทำให้บริเวณที่มีการสัมผัสกันจะถูกแปรสภาพ กลายเป็นหินแปร เช่น หินแปรจากจากหินปูน เรียกว่าหินอ่อน

และในหินปูนจะมีฟอสซิลเยอะแยะมากมาย เหมือนกับที่สระบุรี ลพบุรี และฟอสซิลตัวสำคัญหรือฟอสซิลดรรชนี ก็จะบ่งบอกอายุได้

เธอชื่ออะไร? สู่ความเป็นนักธรณีวิทยา

เธอเล่าว่า เสน่ห์ของการค้นหาฟอสซิลในหิน เพราะอยากรู้จัก เพราะรู้สึกตื่นเต้น ตัวนี้ก็สวย ตัวนี้ก็น่ารัก เวลามองผ่านกล้อง เพราะอยากศึกษา โดยเฉพาะฟอสซิลตัวเล็กๆ เช่น ปะการัง พอตัดแผ่นเป็นหินบาง และมองภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาคำตอบ เวลาตัดต้องตัดตามขวาง 1 แผ่นและตัดตามยาวอีก 1 แผ่น เพื่อหาว่าเธอชื่ออะไร

ชอบศึกษาหินปูนเพราะศึกษาง่าย เพราะหลงเสน่ห์ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ในหินปูน อยากรู้จักเธอ ที่นี่มีตัวอะไรบ้าง คล้ายๆตอนเดินชายหาดตื้นๆ สำรวจว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรอาศัยอยู่ในนิเวศนั้นบ้าง

ตอนนี้มีพื้นที่ที่กำลังศึกษาแถวเพชรบุรี ราชบุรี ไปค้นหาฟอสซิลตัวเล็กๆ ประกอบการประเมินแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ตอนนี้มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 21 แหล่ง และชิ้นตัวอย่างฟอสซิลที่ขึ้นทะเบียน 400 กว่าชิ้น

งานประทับใจ “วาฬอำแพง” ฟอสซิลวาฬตัวแรก?

งานที่เคยศึกษาซากดึกดำบรรพ์หอยกาบคู่อายุจูแรสซิกที่ จ.แม่ฮ่องสอน แอมโมนอยด์ และปะการังที่มวกเหล็ก สระบุรี และลพบุรี แม้จะไม่มีงานที่ค้นพบใหม่ แต่ที่ประทับใจ ล่าสุดสำหรับตัวเอง คือการทำงานฟอสซิลวาฬอำแพง

ขุดค้น 1 เดือน และอีก 3 เดือนที่ต้องอนุรักษ์ตัวอย่าง และการที่จะพบซากดึกดำบรรพ์วาฬชิ้นส่วนกระดูกสันหลังส่วนหางวางเรียงตัวกัน 6 ข้อ ช่างน่าตื่นเต้นและประทับใจ

ความยากของการขุดวาฬบรูด้า เพราะใช้เวลา 1 เดือนในการขุดค้นจนค้นพบฟอสซิลที่สมบูรณ์ถึง 80% เมื่อขุดพบแล้ว จะต้องทำการเข้าเฝือก เพราะวันแรกที่พบลักษณะกระดูกวาฬเปราะมาก เริ่มโดยการปิดกระดาษฟอยล์ก่อน และเข้าเฝือกด้วยเฝือกอ่อน (ที่เราใช้เวลาแขนขาหัก)

จากนั้นทำการขุดเพิ่ม เมื่อขุดเพิ่มได้ประมาณครึ่งตัว ทำการตีกริดจัดทำแผนผังการวางตัวของกระดูกและนำไปลงแผนที่สเก็ตภาพทั้งตัว ค่อย ๆ ขุดจนพบเพิ่ม "สมบูรณ์มาก" เมื่อพลิกกระโหลกก็พบครีบแขนอีกข้างอยู่ด้านใต้ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนกระดูกวาฬทั้งตัว หายและแตกหักเพียงส่วนปลายหาง

ระหว่างที่ขุดเป็นช่วงที่มีฝน และน้ำท่วมขัง รู้สึกตกใจว่าตัวอย่างจะพังเสียหายหรือไม่ ก่อนขุดต่อจึงต้องวิดน้ำออก ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ให้ความสนใจ ได้ไปเยี่ยมชมที่ไซต์งาน และบอกว่า ตัวใหญ่จริง

ขั้นตอนแรก ๆ มีการใช้เฝือกอ่อน เมื่อถึงส่วนกะโหลกที่มีขนาดใหญ่มาก ความยาวประมาณ 3เมตร กว้างเมตรกว่าๆ ต้องใช้กระสอบป่านชุบปูนปาสเตอร์ พร้อม ๆ กับขนย้ายตัวอย่างบางส่วนมาที่ปทุมธานี และกลับไปเคลื่อนย้ายกระโหลกเป็นชิ้นสุดท้าย รู้สึกตื่นเต้นมากตอนที่ใช้แบคโฮยกขึ้นมา 

อ่านข่าวเพิ่ม รู้จัก “วาฬอำแพง” อายุ 3,380 ปี ฟอสซิลวาฬตัวแรก

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

วาฬบรรพบุรุษ สู่คำตอบทะเลถอยร่น 15 กม.

นอกจากนี้ ยังมีการรังวัด ทำให้รู้ว่าฟอสซิลวาฬอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 6.5 เมตร ส่วนอีกทีมหนึ่งจะใช้เครื่องเจาะมือหมุนขุดลึกลงไปได้ 10 กว่าเมตร นำตะกอนขึ้นมาและจดบันทึกว่าตะกอนมีสีอะไรบ้าง ขนาดเท่าใด ทำให้ทราบว่า ชั้นดินด้านล่างเป็นตะกอนชั้นดินบางกอก เป็นตะกอนทะเลโบราณ ซึ่งไซต์งานนี้ห่างจากชายทะเลปัจจุบัน 15 กิโลเมตร

เมื่อประมาณ 8,000 ปีก่อน น้ำทะเลเคยท่วมไปถึงสิงห์บุรี อ่างทอง และช่วง 7,000-6,000 ปีก่อน น้ำทะเลค่อยๆ ถอยร่นลงมา โดยทิ้งตะกอนทะเลโบราณสะสมตัวอยู่ มีหลักฐาน เช่น ซากดึกดำบรรพ์หอยนางรมยักษ์ที่วัดเจดีย์หอย อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี จากนั้นน้ำทะเลก็ถอยร่นลงมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ทั้งนี้ ได้ส่งเศษชิ้นส่วนกระดูกวาฬไปทำแล็บที่สหรัฐอเมริกา โดยหาจากคาร์บอนในกระดูก พบว่ามีอายุ 3,380 ปี สามารถอธิบายได้ว่า เมื่อช่วงเวลาประมาณ 4,000-3,000 ปีก่อน น้ำทะเลท่วมสูงไปถึงพื้นที่อ.บ้านแพ้ว เป็นอีกหลักฐานหนึ่งว่าวาฬบรูด้า มีถิ่นอาศัยในพื้นที่อ่าวไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจุบัน

จำลองชิ้นส่วน "วาฬอำแพง" เพื่อการอนุรักษ์ 

ด้วยความที่ชิ้นตัวอย่างวาฬอำแพงมีอายุน้อยทางธรณีกาล และมีความเปราะบางมาก การทำพิมพ์จำลองจากชิ้นตัวอย่างจริง จึงค่อนข้างยากและเสี่ยงต่อการทำให้ชิ้นตัวอย่างเสียหายได้ ดังนั้น เพื่อการอนุรักษ์และป้องกันความเสียหายของชิ้นตัวอย่างวาฬอำแพง กรมทรัพยากรธรณี จึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลชิ้นตัวอย่างวาฬอำแพงในรูปแบบสามมิติ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนจัดการซากดึกดำบรรพ์

ปัจจุบัน ได้ดำเนินการจัดทำชิ้นตัวอย่างจำลองพร้อมแต่งสีเสมือนจริงแล้วเสร็จ โดยมีการจำลอง 3 ขนาด ได้แก่ ขนาดเท่าจริง (1:1) ขนาดย่อส่วน (1:6) และขนาดย่อส่วน (1:10) เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยและการจัดแสดงเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชนผู้สนใจได้ศึกษาข้อมูล และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอีกด้วย
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครั้งแรกในไทย! ขึ้นทะเบียนฟอสซิล "วาฬบรูด้า" อายุ 3,380 ปี

ไขปริศนาอายุ “วาฬอำแพง” บ่งชี้ 3,380 ปีก่อน "บ้านแพ้ว" เป็นทะเล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง