บทวิเคราะห์ : รายงานอ้างเอกชนต่างชาติช่วยเมียนมาผลิตอาวุธ

ต่างประเทศ
17 ม.ค. 66
11:58
199
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : รายงานอ้างเอกชนต่างชาติช่วยเมียนมาผลิตอาวุธ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เหลืออีกเพียง 2 สัปดาห์ ก็จะครบรอบ 2 ปี การก่อรัฐประหารในเมียนมาที่กลายเป็นเหตุบานปลายและจุดชนวนความรุนแรงขึ้นในหลายจุดทั่วประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะมีกระแสกดดันจากนานาชาติ แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีทีท่าว่าความรุนแรงนี้จะยุติลง
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแรงกดดันยังมีไม่มากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความร่วมมือในระดับโลก 

แม้ว่าเมียนมาจะถูกคว่ำบาตรจากรัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปในหลายด้าน แต่มาตรการที่ไม่ได้มีการบังคับใช้เป็นวงกว้างจากทุกประเทศทั่วโลกเช่นนี้ ก็ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะกดดันรัฐบาลทหารเมียนมามากนัก รวมทั้งยังเปิดช่องให้มีการหลบเลี่ยงมาตรการดังกล่าวได้อีกด้วย

สภาที่ปรึกษาพิเศษเพื่อเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา และก่อตั้งขึ้นหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับธุรกิจแห่งความตาย

โดยไปรวบรวมหลักฐาน ทั้งจากคำให้การของพยาน เอกสารทางการ รวมทั้งภาพและคลิปวิดีโอต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของบริษัทต่างชาติ ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือกองทัพเมียนมาผลิตอาวุธเพื่อใช้ปราบปรามกลุ่มต่อต้าน

รายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่ามีบริษัทมากกว่า 45 แห่ง ในเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป รวมอย่างน้อย 13 ประเทศ ที่เดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมกลาโหมของกองทัพเมียนมา ทั้งๆ ที่ประเทศนี้ไม่ได้เป็นผู้ส่งออกอาวุธและไม่มีความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมรับมือกับการโจมตีจากนอกประเทศ

จากรายชื่อนี้ ไม่แปลกอะไรเลย ถ้าจะมีรัสเซียและจีนรวมอยู่ด้วยในฐานะพันธมิตรของกองทัพเมียนมา แต่จะเห็นว่าบริษัทสัญชาติอเมริกัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและพันธมิตรตะวันตกก็ถูกรวมอยู่ในรายชื่อนี้ด้วย แม้ว่ารัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อโดดเดี่ยวเมียนมาก็ตาม

การสนับสนุนการผลิตอาวุธในเมียนมามาในหลายรูปแบบ ทั้งการออกใบอนุญาตการผลิตและถ่ายโอนเทคโนโลยี จัดหาวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบอาวุธต่างๆ ไปจนถึงการจัดหาและซ่อมบำรุงเครื่องจักรสำหรับใช้ในการผลิตอาวุธ ซึ่งเหล่านี้ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตอาวุธในเมียนมายังคงเดินหน้าต่อไปได้

รายงานฉบับนี้ชี้ว่าอาวุธที่ผลิตขึ้นจากความช่วยเหลือของบริษัทต่างชาติ มีตั้งแต่เครื่องกระสุน ปืนหลากหลายประเภท เครื่องยิงขีปนาวุธ ทุ่นระเบิด โดรน ไปจนถึงยานหุ้มเกราะ รถถัง เฮลิคอปเตอร์โจมตีและเรือรบ

นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 และการก้าวขึ้นมาของรัฐบาลทหารในปี 1988 กองทัพเมียนมาลงทุนมหาศาลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตอาวุธภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพิงต่างชาติ โดยในปีนั้นกองทัพสร้างโรงงานผลิตอาวุธในแถบย่างกุ้งเป็นหลัก รวมแล้วมีไม่ถึง 6 แห่ง

ก่อนที่จะขยายพื้นที่ตั้งโรงงานไปตามภูมิภาคต่างๆ ทางตอนกลางของประเทศ โดยเฉพาะ "พะโค" และ "มาเกว" เพราะมองว่า จุดนี้เป็นฐานที่มั่นของกองทัพ ซึ่งจะช่วยรับประกันได้ว่า โรงงานจะปลอดภัยจากการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งปัจจุบัน คาดว่า เมียนมามีโรงงานผลิตอาวุธมากถึง 25 แห่ง ในจำนวนนี้ 2 แห่ง กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

อุตสาหกรรมผลิตอาวุธของกองทัพเมียนมาป้อนอาวุธสังหารเข้าสู่ปฏิบัติการโจมตีหลายภารกิจ ซึ่งรวมถึงเหตุระเบิดและยิงถล่มโรงเรียนใน "สะกาย" เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 7 คน แต่เหตุโจมตีดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานชิ้นเดียวที่ระบุในรายงานฉบับนี้

ภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ภาพนี้เป็นภาพการสังหารหมู่ชาวโรงฮิงญาที่หมู่บ้านในรัฐยะไข่ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2017 ซึ่งปืนไรเฟิลที่ทหารสะพายอยู่บนบ่าผลิตขึ้นในประเทศ โดยจุดนี้ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้วกองทัพเมียนมาใช้อาวุธที่ผลิตเองมาตั้งแต่ช่วงก่อนการรัฐประหารและใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

รายงานของผู้เชี่ยวชาญฉบับนี้ ระบุว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า บริษัทและพนักงานที่เกี่ยวข้องทราบหรือไม่ว่า กำลังสนับสนุนการผลิตอาวุธเพื่อใช้โจมตีพลเรือนในเมียนมา แต่ที่แน่ๆ ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นในเมียนมา จริงๆ แล้วยังคงมีกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการทำธุรกิจกับกองทัพเมียนมาอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

 วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง