เปิดสถิติอุบัติเหตุบนถนนคร่าชีวิต "ผู้สูงวัย"

สังคม
25 เม.ย. 66
15:02
855
Logo Thai PBS
เปิดสถิติอุบัติเหตุบนถนนคร่าชีวิต "ผู้สูงวัย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไตรมาสแรกไทย พบ กทม.เกิดเหตุสูงที่สุด ช่วงเวลาก่อน 6 โมงเช้า เหตุคนต้องรีบออกจากบ้านเดินทางไปทำงาน ขณะที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากท้องถนนเกือบหมื่น บาดเจ็บร่วม 2 แสน จักรยานยนต์เป็นสาเหตุหลัก

จากกรณี "ยายยุพิน" อายุ 83 ปี ประสบอุบัติเหตุจากรถเมล์สาย 66 ชนเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา

รถเมล์ทับยาย 83 ปี ข้ามทางม้าลายไปซื้อข้าวให้หลานป่วยมะเร็ง

คนขับรถเมล์ขอขมาครอบครัว "ยายยุพิน" ถูกชนเสียชีวิต

วันนี้ (25 เม.ย.2566) ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดสถิติจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ระบุว่า ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564 ) ที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 9.43 จากจำนวนประชากรทั้งหมด ที่เสียชีวิต 44,810 คน และ บาดเจ็บ 1,945,345 คน

เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนผู้ประสบภัยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วง 5 ปี (2560-2564) แยกได้ดังนี้

  • ผู้เสียชีวิต 7,526 คน
  • บาดเจ็บ 179,978 คน
  • ทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เป็นเพศหญิง ร้อยละ 3.41 เพศชายร้อยละ 6.01
  • ส่วนใหญ่เป็นคนขับยานพาหนะนั้นๆ สูงถึงร้อยละ 7.71 รองลงมาคือผู้โดยสารร้อยละ 1.22 และบุคคลอื่นๆ ร้อยละ 0.5

จำนวนผู้ประสบภัยแยกตามขนาดเครื่องยนต์ พบว่าจำนวนผู้ประสบภัยสูงที่สุดเกิดจาก

  • ยานพาหนะขนาด 111-125 CC มากถึงร้อยละ 53.28
  • รองลงมาร้อยละ 41.37 จากยานพาหนะขนาดไม่เกิน 110 CC

ซึ่งทั้ง 2 ชนิดยานพาหนะ คือ รถจักรยานยนต์

ในขณะที่พาหนะที่มีขนาด 156-300 CC หรือ รถเมล์ รถสาธารณะที่รวมอยู่ในนั้น มีสถิติอยู่ที่ร้อยละ 0.16

"คนเดินเท้าเสียชีวิต" ในไทยไตรมาสแรกเกินครึ่งร้อย

กลุ่มพัฒนานโยบาย และสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค เปิดข้อมูล "คนเดินเท้าเสียชีวิตในประเทศไทย" วันที่ 1 ม.ค.-2 เม.ย.2566

  • มีผู้เสียชีวิต 60 คน
  • พาหนะที่ชนมากที่สุดคือ รถเก๋งและรถกระบะ ชนิดละร้อยละ 32 เท่ากัน
  • ช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ 03.00-05.59 น.
  • สถานที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ ถนนทางหลวง ร้อยละ 65
  • กทม. พบจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุด 11 คน รองลงมาคือ นนทบุรี 6 คน และ มหาสารคาม อุดรธานี จังหวัดละ 5 คนตามลำดับ

กลุ่มพัฒนานโยบาย และสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร วิเคราะห์ข้อมูลข้างต้นว่า

เกิดเหตุรถกระบะและรถเก๋งชนคนเดินเท้าบนถนนทางหลวงมากที่สุด ลักษณะเป็นถนนทางตรง 1-10 ช่องทางจราจร (รวมไปกลับ) ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุชนคนเดินเท้าเสียชีวิตใน 2 ช่วงเวลามากที่สุดคือ 03.00-05.59 น. โดยคนเดินเท้าถูกรถชนมากที่สุดในเขต กทม. ช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ทันเวลาเข้างานในช่วงเช้า อาจจะส่งผลให้การจราจรติดขัด รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่คนเดินเท้าเดินทางไปขึ้นรถเมล์ หรือรถสาธารณะ หรือออกไปซื้อของที่ตลาด หรือไปออกกำลังกายในตอนเช้า เดินหรือวิ่งบริเวณไหล่ทางที่ไม่ได้จัดไว้ให้คนใช้ออกกำลังกาย ในขณะที่พระสงฆ์เดินบิณฑบาตในช่วงเช้ามืดซึ่งเสี่ยงต่อการโดนรถชน

รองลงมาคือช่วง 06.00-08.59 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องจากช่วงเวลาเช้ามืด เกิดจากการจราจรที่พลุกพล่าน ผู้คนสัญจรไปมาโดยใช้รถใช้ถนนและคนเดินเท้า เร่งรีบข้ามถนนทางตรงที่ไม่ใช่ทางม้าลายจัดไว้ สำหรับคนเดินข้ามถนนเพื่อไปขึ้นรถเมล์หรือรถสาธารณะไปทำงาน เด็กเดินทางไปโรงเรียนโดยไม่ได้อยุ่ในความดูแลของผู้ปกครอง

เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่า ผู้เดินเท้าขาดการประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์อุบัติเหตุ ไม่ระมัดระวังในการเดินข้ามถนน หรือเดินในบริเวณที่ไม่ได้จัดให้คนเดินเท้าใช้ในการสัญจร ไม่ว่าจะเป็นทางแยก ทางข้าม หรือทางม้าลาย จึงทำให้ถูกพาหนะที่วิ่งบนถนนชน

สำหรับผู้ขับขี่พาหนะต่างเร่งรีบเดินทางไปทำงานเพราะเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน อาจจะไม่ได้ประเมินสถานการณ์โดยรอบ ขับขี่รถด้วยความเร็ว ตัดสินใจผิดพลาด ปัจจับน้ำหนักรถกระบะที่บรรทุกของอาจมีผลต่อระยะเบรค ซึ่งทำให้รถเสียหลักชนคนที่อยู่ในบ้านหรือทางเท้า ทำให้คนเดินเท้าบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ข้อควรรู้ แนะนำ การใช้รถใช้ถนนบริเวณทางข้าม

  1. เดินบนทางเท้าหรือชิดขอบถนนด้านในทุกครั้ง และควรเดินสวนทางกับรถ
  2. หากมีเด็กเล็ก จูงมือให้แน่น ป้องกันเด็กวิ่งออกถนน
  3. ถ้าเดินในช่วงเวลาที่มีแสงสว่างน้อย ควรใส่เสื้อผ้าสีสว่าง หรือมีแถบสะท้อนแสงตามเสื้อผ้า
  4. ถ้าต้องข้ามถนน ควรเลือกทางข้ามที่ปลอดภัย เช่น สะพานลอย ทางม้าลาย และข้ามถนนด้วยความระมัดระวัง
  5. การเดินข้ามถนน ควรปฏิบัติตาม STEP มองขวา มองซ้าย มองขวา
  6. ระหว่างเลน ถ้ามีรถจอดบังสายตา ต้องชะลอและมองด้านขวาก่อนข้ามเลนต่อไป
  7. กรณีหยุดบริเวณกลางถนนที่ไม่มีเกาะกลางถนน ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
  8. ส่วนผู้ขับขี่ควรลดความเร็วในชุมชน 30 กม./ชม.
  9. ในช่วงเวลากลางคืนที่มีแสงสว่างน้อย ผู้ขับขี่ควรขับขี่ด้วยความเร็วไม่สูง เพื่อความปลอดภัยเมื่อต้องหยุดรถกะทันหัน

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน, กลุ่มพัฒนานโยบาย และสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง