เลือกตั้ง2566 : เปิด 6 ฉากทัศน์หลังเลือกตั้ง

การเมือง
12 พ.ค. 66
15:41
643
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : เปิด 6 ฉากทัศน์หลังเลือกตั้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สิ่งที่ต้องจับตาในช่วงทางตรงสุดท้าย คือการทิ้งทวนของพรรคการเมืองบนเวทีปราศรัยนัดส่งท้าย ซึ่งพรรคการเมืองใหญ่มักเลือกปิดเวทีหาเสียงที่กรุงเทพฯ คืนวันศุกร์ (12 พ.ค.) กระจายกันไปตามจุดต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังจะมีการ “ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย” ของแต่ละพรรคการเมือง อาจในรูปของคลิปหรือคำปราศรัยสั้นๆ แต่โดนใจคน หรือกระแทกใส่คู่แข่งอยู่ในที หรืออาจเป็นแคมเปญรณรงค์ในรูปวลีสั้นๆ ติดตามป้ายผู้สมัครส.ส. หรืออาจเป็นบทสัมภาษณ์ที่ต้องย้ำจุดเด่นตัวเองหรือพรรคตัวเอง

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางตัว บางคลิปก็เวิร์ค แต่บางวลี บางแคมเปญก็แป็ก ต้องพลิกแก้เกมกันใหม่ บางพรรคอาจอาศัยตัวช่วย ประกาศขอตัวกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน อ้อนให้ผู้คนเลือกบางพรรค เพื่อหวังปูทาง หรือช่วยให้ได้กลับบ้านได้จริงก็มี

เช่นเดียวกับคอการเมืองและผู้คนทั่วไปใคร่อยากรู้ หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้คือ ผลจะออกมาอย่างไร ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกับผลโพลหรือไม่ กับอีกประเด็นหนึ่ง คือการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ใครจะมา ใครจะไป ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนหนึ่งคะแนนและผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.นี้ จะเป็นตัวกำหนด

ประมวลจากแนวโน้มที่น่าจะเป็น รวมกับความเห็นของกูรูทางการเมืองหลายคน ฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาล จะมีอยู่ไม่เกิน 6 แนวทาง เว้นเสียแต่จะมีปัจจัยแทรกซ้อนทางการเมืองอื่น ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะอยู่นอกเหนือการคอนโทรล

ฉากทัศน์แรกๆ ยังคงเป็นไปตามสูตรเดิม ๆ ที่มีการวิเคราะห์คาดเก็งกันมาแต่ต้น คือพันธมิตรเดิมแต่ละขั้ว ยังคงเหนียวแน่นจับมือกันตั้งรัฐบาล

สูตรแรก ฝ่ายรัฐบาลเดิม รวมทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมกันตั้งรัฐบาล แต่เงื่อนไขสำคัญต้องหาส.ส.รวมกันเกินกว่า 251 คน แล้วรอเติมจากส.ว.ที่มีอยู่อีก 250 เสียง ไม่ต่างจากสูตรที่ 2 เปลี่ยนเป็นขั้วฝ่ายค้านเดิม และพรรคพันธมิตรเกิดใหม่ เช่น พรรคไทยสร้างไทย

สูตรนี้มีโอกาสจะได้ ส.ส.เกิน 251 คน หากเป็นไปตามกระแสหรือโพล แต่ปัญหาอยู่ที่ จะหา ส.ส.ให้ได้รวมกันเกินกว่า 376 คน ในวันโหวตเลือกนายกฯ ได้อย่างไร หากจะหวังจาก ส.ว.ก็อาจมีบางส่วนเท่านั้น

หากเป็นสูตรนี้ หากฝ่าด่านแรกไปได้ แต่การขับเคลื่อนบริหารประเทศอาจเป็นไปได้ยาก เพราะต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือกลไก สำหรับการปฏิรูปเดินหน้า หรือร่าง พ.ร.บ.ด้านการเงิน หรืองบประมาณ หากส.ว.ไม่เอาด้วย จะทำอย่างไร

สูตรที่ 3 คือสลับไพ่ล้างขั้วกันใหม่ คือมาจากทั้ง 2 ขั้ว รวมตัวจับมือกันตั้งรัฐบาลใหม่ แต่สูตรนี้ก็ไม่ง่าย เพราะหลายพรรคการเมืองประกาศจุดยืนเป็นสัญญาประชาคมแล้วว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับบางพรรคการ เช่น ก้าวไกลไม่ร่วมกับ 2 ลุง พรรคเพื่อไทยก็ประกาศซ้ำหลายรอบ ไม่เอา 2 ป.เหมือนกัน หากลืนน้ำลายตัวเอง จะไปต่อได้ยาก

ฉากทัศน์ที่ 4 มีการพูดถึงกันมาระยะหนึ่ง คือการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะเป็นไพ่เด็ดของขั้วรัฐบาลเดิม แต่ในทางปฏิบัติ จะเต็มไปด้วยปัญหาสาระพัน คือเดินหน้าบริหารประเทศไม่ได้ เป็นการวางกับดักให้กับตนเอง

ครั้นจะหวังงูเห่าให้เข้ามาเสริมในภายหลัง ก็ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะ “งูเห่า” ในยุคนี้ คงไม่เป็นได้ง่ายเหมือน “งูเห่า” สมัยที่ผ่านมา สูตรนี้ยาก เว้นเสียแต่จะชิงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพื่อรอยุบสภา หวังอานิสงส์ การเป็นรัฐบาลรักษาการเท่านั้น

ฉากทัศน์ที่ 5 จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดจำนวน ส.ส.ของทั้ง 2 ฝ่าย ขั้วรัฐบาลอาจได้ไม่ถึง 251 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านอาจได้เกินครึ่ง แต่ ส.ว.อาจไม่เอาด้วย หากไม่โหวตให้ หรืองดออกเสียง จะเป็นทางตันของการตั้งรัฐบาล ฉากทัศน์นี้ ถูกพูดถึงทั้งในก๊อกแรกและในก๊อก 2 นายกฯ คนนอก

ฉากทัศน์ที่ 6 เมื่อโหวตเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามก๊อก 2 ของรัฐธรรมนูญ คือ นายกฯ คนนอก ทางทฤษฎีมีความเป็นไปได้ แต่ในทางปฏิบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะหลายพรรคการเมือง ประกาศชัดเจนหลายรอบว่า ไม่เอานายกฯ คนนอก ขณะเดียวกันคนนอกที่ถูกเชิญมา จะมั่นใจในเสถียรภาพระหว่างการบริหารประเทศได้อย่างไร เหมือนนั่งทับอยู่บนกับระเบิดเวลา “ตูม” ได้ทุกเมื่อ

การตั้งรัฐบาลครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย คนวงในและกูรูการเมืองต่างทราบกันดี แต่อันดับแรกที่เชื่อว่าแต่ละพรรคแต่ละขั้วจะต้องช่วงชิงให้ได้ก่อน คือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะการได้ประธานสภาฯ เท่ากับว่า สามารถรวมจำนวนส.ส.ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาแล้ว

นอกจากนี้ ประธานสภาผู้แทนฯ ยังเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง สำหรับการเรียกประชุม 2 สภาโหวตเลือกนายกฯ และจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งนายกรัฐมนตรี

แนวทางเดินหน้า ลดความขัดแย้ง เมื่อดูจากสถานการณ์และองค์ประกอบแล้ว การเลือกตั้งอย่างเดียว คงไม่พอ สำหรับการนำพาประเทศชาติให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ สำคัญที่สุดอยู่ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะเป็นผู้กำหนดว่า จะให้เกิดฉากทัศน์ไหน หลังการเลือกตั้ง

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566: "วัชระ" ยื่นกกต.ล้อมคอกทุจริตบัตรเลือกตั้ง สกัดบัตรผี

เลือกตั้ง2566: งัดไม้เด็ด! หาเสียงก่อนสู้ศึกเลือกตั้ง 14 พ.ค.

เลือกตั้ง2566 : เปิดงบประมาณ "นโยบาย" หาเสียง ...เกินตัว?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง