จับตาผัน “น้ำโขง” ลง “น้ำพอง” “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” จะไปต่อหรือพอแค่นี้

ภูมิภาค
4 พ.ค. 67
19:34
13,419
Logo Thai PBS
จับตาผัน “น้ำโขง” ลง “น้ำพอง” “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” จะไปต่อหรือพอแค่นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กว่า 2 ทศวรรษ ที่มูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิตขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำเชิงนโยบาย ผ่านโครงการ “ผันโขงลงพอง” ด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำโขง บริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ผ่านอุโมงค์มาลงที่ “เขื่อนอุบลรัตน์” จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นธนาคารน้ำแห่งอีสาน

“โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล” ด้วยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกเป็น 5 ระยะ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ทบทวนและศึกษาเพิ่มเติม รายงานการศึกษาฉบับของกรมชลประทาน และจัดทำรายงานผลการประเมินผลกระทบประเมินโครงการบริหารจัดการโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 เสนอต่อคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญ การพิจารณาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก.

สมคิด สิงสง ประธานกรรมการมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต ระบุว่า จากการรับฟังข้อเท็จจริง และสำรวจความคิดเห็นประชาชน และผู้ที่จะได้รับผลกระทบตามแนวพาดผ่านทั้ง 4 จังหวัด พบว่า “ประชาชนยังไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการ และยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึง”

มูลนิธิน้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน ได้ติดตามความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด หากโครงการดังกล่าว มีผลกระทบตามที่กล่าวมาข้างต้น หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม มูลนิธิฯ ก็มีความห่วงใยกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ไม่น้อย

เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม จากผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบ รับฟังข้อมูลทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน มูลนิธิน้ำจึงได้เปิดเวทีกลางให้ผู้มีส่วนได้เสียได้ปรึกษาหารือ และนำเสนอข้อมูลเพื่อหาทางออกร่วมกัน และให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ดร.ฉวี วงศ์ประสิทธิพร อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สทนช. เปิดเผยว่า โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล จากปากแม่น้ำเลย ไปสิ้นสุดที่ จ.อุบลราชธานี ระยะทาง ระยะทางกว่า 850 กม.

โครงการนี้เป็นการเอาน้ำโขงเข้ามาโดยที่ไม่ต้องสูบ เพราะความสูงของปากแม่น้ำเลย อยู่ที่ 210 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อผันน้ำไปตามแรงโน้มถ่วง ไปลงที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ความสูงอยู่ที่ 182 เมตร รทก. ส่วนเขื่อนปากมูลความสูงอยู่ที่ 108 เมตร

ในช่วงฤดูน้ำหลาก แม่น้ำโขงจะไหลย้อนหรือเท้อ เข้ามาในแม่น้ำเลยราว 15 กิโลเมตร แต่หากเป็นฤดูแล้ง จะไหลย้อนเข้ามาประมาณ 2 กิโลเมตร ดังนั้นจึงมีแผนจะทำคลองชักน้ำโขงบริเวณปากแม่น้ำเลย ระยะทางประมาณ 900 เมตร

จากนั้นก็จะผันน้ำด้วยระบบท่อ ตั้งแต่ อ.เชียงคาน จ.เลย ผ่านหนองบัวลำภู อุดรธานี และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ระยะทางของเฟสแรก จะมีการเจาะอุโมงค์ยาว 60 กว่ากิโลเมตร

หากตั้งข้อสังเกตว่า แม่น้ำโขงจะไหลตามแรงโน้มถ่วงได้ไหม สทนช.ได้ให้ เค-วอเตอร์ (K-water) จากเกาหลี จำลองโมเดล 3 มิติ ด้วยการต่อท่อส่งน้ำยาว 1 กิโลเมตร วัดอัตราการไหลตั้งแต่ต้นอุโมงค์ ไปยังท้ายอุโมงค์ พบว่า อัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ 120-150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ตามแบบวิศวกรรมที่ออกแบบไว้ หากจะทำคลองส่งน้ำเต็มศักยภาพ จะต้องสร้างถึง 16 อุโมงค์ เพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสานได้มากถึง 31 ล้านไร่ จากเดิมที่มีพื้นที่ในเขตชลประทาน 30 กว่าล้านไร่ แต่เมื่อมันเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงได้ศึกษาความเหมาะสมไปทีละอุโมงค์ (1 อุโมงค์จะมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านไร่)

สำหรับการศึกษาความเหมาะสมและทบทวน การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ขณะนี้ ไปรายงานไปยังคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญ การพิจารณาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ซึ่งก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงาน

เตือนใจ ดุลจินดาชบาพร นักวิชาการอิสระ สะท้อนความกังวล เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น หากมีการดำเนินโครงการนี้ด้วยข้อมูลวิชาการ (base on)

เตือนใจ ระบุว่า ในเฟสแรกของโครงการนี้ ดำเนินการผ่าน 4 จังหวัด ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของรอยเลื่อน บริเวณหัวงานโครงการ คือปากแม่น้ำเลย

“โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีการใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เป็นที่จับตาว่า อาจมีผลสะท้อนกลับในเรื่องของการคอร์รัปชั่น”

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการ โดยตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว กสม.ขอให้ สทนช.ชะลอการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และให้ไปแก้ไขปรับปรุงอีไอเอ ภายใน 180 วัน

การเปิดเวทีรับฟังความเห็น เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของ สทนช.และบริษัทที่ปรึกษา ที่ผ่านมาชาวบ้าน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์กรภาคเอกชน มองว่า รัฐ “ไม่เห็นหัวชาวบ้าน”

กับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อประกอบอีไอเอ รวมทั้งการประเมินสิ่งแวดล้อม ระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA

ที่ผ่านมา โครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ทำโดยเน้นการพัฒนา การจัดการน้ำ แต่ลืมไปว่าผู้มีส่วนได้เสีย คนที่ใช้น้ำเพื่อการดำรงชีวิต รัฐกลับไม่เห็นหัวชาวบ้าน การเปิดเวทีรับฟัง จัดทำขึ้นเพื่อให้ครบกระบวนการเท่านั้นเอง

อ.เตือนใจระบุว่า ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบ ด้วยการทำ Social Lab พบว่า มีชาวบ้านได้รับผลกระทบกว่า 1,000 คน ที่ต้องสูญเสียวิถีชีวิต ขนบ ธรรมเนียมประเพณี และมีชาวบ้านกว่า 300 ครัวเรือน ที่จะต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน

นี่คือข้อมูลที่นักศึกษาได้จากการลงพื้นที่ ไม่ใช่แค่การเปิดเวทีรับฟัง แต่จะต้องไปฝังตัว ไปดูวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ โดยส่วนตัวแล้วไม่มีคัดค้านโครงการนี้ แต่กระบวนการระหว่างดำเนินโครงการจะต้องปรับปรุงแก้ไข

เน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และอย่าให้โครงการขนาดใหญ่ ที่ใช้เงินมหาศาล เป็นการเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

สำหรับข้อเสนอของภาควิชาการที่รวบรวมคือ มีอยู่ 3-4 ประเด็นที่หน่วยงานรัฐจะต้องรับผิดชอบ คือ

1.ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ชะลอการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำทุกระยะ

2.ให้ สทนช.เร่งรัดการจัดทำผังน้ำและทบทวนผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ของลุ่มน้ำภาคอีสานทั้งหมด โขง ชี มูล

3.ให้ใช้กลไกการมีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.น้ำ ปี 2561 เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ ประชาชนผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้มีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน และเพื่อให้การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำสอดคล้องกับความต้องการ ภูมินิเวศ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของประชาชนแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน

4.ให้สำนักงานนโยบายและแผน (สผ.) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกระบวนการการมีส่วนร่วม อย่าทำแค่เป็นพิธีการ

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกโครงการ ที่เข้าข่ายต้องทำอีไอเอ ไม่นำหลักการ กลไก การมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ใช้น้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาเป็นแนวทางประกอบความเห็นให้กับผู้ชำนาญการ ก่อนที่จะพิจารณารายงานอีไอเอ

สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่เห็นว่า โครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล ระยะที่ 1 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

ดร.มณีรัตน์ มิตรประสาท ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ระบุว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปลายปี 2564 และได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อร้องเรียนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในประเด็นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ที่ไม่ครอบคลุมและไม่รอบด้าน

กสม.ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้อง เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ และเป็นนโยบายที่เสนอโดยภาคประชาชน โดยเฉพาะมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต กระบวนการตรวจสอบ เราจึงให้ความสำคัญ

ตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้าน คุยกับหน่วยงานผู้ถูกร้อง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามแนวโครงการ คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาคประชาสังคม พบว่า โครงการจัดเวทีให้ข้อมูล (ปฐมนิเทศ และปัจฉิมนิเทศ) ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นภาคราชการ ส่วนภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย

มีบ้านเรือนประชาชนในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ประมาณ 1,000 คน แต่บริษัทที่ปรึกษาส่งเอกสารไปให้ประชาชนตอบแบบสอบถาม 900 กว่าคน ร้อยละ 50 เห็นด้วย และอีกร้อยละ 43 ไม่เห็นด้วย

เมื่อครั้งที่ กสม.ลงไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประชาชนหลายคนสะท้อนถึงความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะเขามองว่า ไม่อยากสูญเสียแผ่นดินของเขาไป เพราะนี่มันเป็นแผ่นดินในการฝังรกรากของเขา

มิตินี้ไม่ใช่แค่มิติทางเศรษฐกิจ แต่มันคือ รากฐานทางวัฒนธรรมของคนอีสาน แต่คำถามในแบบสอบถาม ระบุว่า คุณจะรับค่าชดเชยเท่าไหร่ เขาก็เลยรู้สึกว่า เขาไม่รู้จะตอบอย่างไร

“ข้อสรุปจากการลงพื้นที่พูดคุย ตรวจสอบข้อเท็จจริง จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มติ กสม.มีความเห็นว่า โครงการผันน้ำโขงเลยชีมูลระยะที่ 1 เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านการมีส่วนรวม คือ มีการกระทำ หรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ดร.มณีรัตน์ ระบุ

ที่ผ่านมา การทำงานของ กสม.ยึดรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นตัวตั้ง โดยเฉพาะมาตรา 43 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุล และยั่งยืนตามวิถี

มาตรา 57 รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วม ในการดำเนินการด้วย

และมาตรา 58 การดำเนินการใดของรัฐ หรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสีย

สำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

ข้อเสนอของ กสม.ไปยัง สทนช.และ คชก. คือ ให้ชะลอการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และให้ สทนช.กลับไปทบทวนกลไกของรัฐที่มีอยู่ ทั้ง SEA EIA และ พ.ร.บ.น้ำปี 2561 ใช้กลไกนี้ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.น้ำปี 2561

ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ จัดตั้งอนุกรรมการน้ำระดับจังหวัด จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนสูงมาก แต่กลไกของรัฐมันกลับแยกส่วนกัน” ที่ปรึกษา กสม.กล่าว

รายงาน : มยุรี อัครบาล ผู้สื่อข่าวอาวุโส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง