ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อังกฤษล้ำหน้า! เปิดตัววัคซีนหนองในชาติแรกลุยฉีดกลุ่มชายรักชาย

ต่างประเทศ
21 พ.ค. 68
19:04
81
Logo Thai PBS
อังกฤษล้ำหน้า! เปิดตัววัคซีนหนองในชาติแรกลุยฉีดกลุ่มชายรักชาย
"อังกฤษ" กลายเป็นชาติแรกในโลก ที่จะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันหนองในตั้งแต่ ส.ค.นี้ เน้นกลุ่มชายรักชายและกลุ่มเสี่ยง หลังยอดติดเชื้อพุ่งสูงสุดในรอบ 100 ปี วัคซีนนี้ป้องกันได้ 30-40% และอาจลดเคสติดเชื้อลงแสนรายใน 10 ปี

วันนี้ (21 พ.ค.2568) BBC รายงาน อังกฤษกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ด้านสาธารณสุข โดยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มฉีด วัคซีนป้องกันหนองใน (Gonorrhoea) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae โครงการนี้จะเริ่มในวันที่ 1 ส.ค.2568 ผ่านคลินิกสุขภาพทางเพศทั่วประเทศ หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อหนองในในอังกฤษพุ่งสูงถึง 85,000 คน ในปี 2566 ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกในปี 2461

วัคซีนนี้ไม่ได้ให้บริการสำหรับทุกคน แต่จะเน้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ชายรักชาย และชายที่มีรสนิยมรักทั้ง 2 เพศ ซึ่งมีประวัติเปลี่ยนคู่นอนบ่อยหรือเคยติดเชื้อหนองใน รวมถึงกลุ่มอื่น เช่น ผู้ให้บริการทางเพศ ที่สามารถขอรับวัคซีนได้ตามดุลยพินิจของแพทย์

ดร.อแมนดา ดอยล์ ผู้อำนวยการด้านการดูแลปฐมภูมิของ NHS England กล่าวว่าการเปิดตัววัคซีนหนองในครั้งแรกของโลกนี้เป็นก้าวสำคัญด้านสุขภาพทางเพศ จะช่วยปกป้องบุคคล ลดการแพร่เชื้อ และต่อสู้กับเชื้อดื้อยาที่เพิ่มขึ้น

วัคซีนทำงานอย่างไร-มีประสิทธิภาพแค่ไหน ?

วัคซีนที่ใช้ไม่ใช่วัคซีนที่พัฒนาขึ้นใหม่สำหรับหนองในโดยเฉพาะ แต่เป็น วัคซีน 4CMenB ซึ่งเดิมใช้ป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal B) ในเด็กทารก วัคซีนนี้ทำงานได้เพราะเชื้อ Neisseria meningitidis (สาเหตุของไข้กาฬหลังแอ่น) มีความใกล้เคียงทางพันธุกรรมกับเชื้อหนองใน ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยลดความเสี่ยงหนองในได้บางส่วน

จากงานวิจัยของคณะกรรมการร่วมด้านการฉีดวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพร้อยละ 32.7-42.0 ในการป้องกันหนองใน ซึ่งหมายความว่าไม่สามารถป้องกันได้ 100% ผู้ที่ฉีดวัคซีนยังต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยง ศ.แอนดรูว์ พอลลาร์ด ประธาน JCVI กล่าวว่าถึงแม้วัคซีนจะป้องกันได้แค่ร้อยละ 30 แต่ก็คุ้มค่าและอาจสร้างผลกระทบมหาศาลต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ปัจจุบัน "โรคหนองใน" กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขใหญ่ในอังกฤษ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ จำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดในรอบศตวรรษ ในปี 2566 อังกฤษมีผู้ติดเชื้อหนองใน 85,000 ราย เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2555 โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ วัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว (16-25 ปี), ชายรักชาย, และ กลุ่มชาติพันธุ์แคริบเบียนและผิวดำ

อีกข้อคือเชื้อหนองในเริ่มดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เช่น Ceftriaxone ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษา หน่วยงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) รายงานว่า ในช่วง ม.ค.2567 - มี.ค.2568 มีเคสที่ดื้อต่อ Ceftriaxone 17 คน และเคสที่ดื้อยาหลายตัว 9 คน ทำให้แพทย์บางคนกังวลว่าในอนาคตหนองในอาจรักษาไม่ได้เลย

การป้องกันด้วยวัคซีนจึงเป็นทางออกสำคัญ เพราะ "วิธีที่ดีที่สุดคือไม่ติดเชื้อตั้งแต่แรก ดร. ดอยล์กล่าว นอกจากนี้ การวิเคราะห์จาก Imperial College London คาดว่า หากวัคซีนได้รับความนิยม อาจป้องกันผู้ติดเชื้อได้ 100,000 ราย และประหยัดงบ NHS ได้เกือบ 8,000,000 ปอนด์ (ประมาณ 360 ล้านบาท) ใน 10 ปีข้างหน้า

วัคซีนนี้มีราคาเพียง 8 ปอนด์ต่อโดส (ประมาณ 360 บาท) ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษา นอกจากวัคซีนหนองใน ผู้รับจะได้รับการเสนอวัคซีนป้องกัน โรคฝีดาษลิง (mpox), ไวรัสตับอักเสบ A และ B, และ HPV พร้อมกัน เพื่อเพิ่มการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

นอกจากอังกฤษแล้ว สกอตแลนด์ ก็กำลังวางแผนโครงการวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ส่วน ไอร์แลนด์เหนือ อยู่ระหว่างพิจารณาและจะประกาศเร็ว ๆ นี้ และ เวลส์ ยังรอการยืนยันจากหน่วยงานสาธารณสุข

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

รู้จัก "หนองใน" ให้มากขึ้น

โรคหนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae (หนองในแท้) และบางครั้งรวมถึง Chlamydia trachomatis (หนองในเทียม) ซึ่งมักติดเชื้อพร้อมกัน

การรักษาหลัก คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากเชื้อหนองในมีแนวโน้มดื้อยาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่หนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อันดับต้น ๆ

หลังจากที่แพทย์เก็บตัวอย่างเชื้อและวินิจฉัยว่า คนไข้ติดเชื้อหนองในcmhแล้ว ก็จะทำการรักษาทั้งยาฉีด Ceftriaxone 500 มก. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ร่วมกับ ยาเม็ด Azithromycin 1 กรัม รับประทานครั้งเดียว เพื่อรักษาการติดเชื้อร่วม เช่น หนองในเทียม ส่วนกรณีคนไข้ติดเชื้อ หนองในเทียม จะใช้ Doxycycline 100 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน อาการมักดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังเริ่มรักษา แต่ต้องรักษาครบตามแพทย์สั่งเพื่อป้องกันการดื้อยา

ข้อมูลจาก WHO ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหนองในที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในวงกว้าง จึงต้องรักษาตามอาการหลังการติดเชื้อไปก่อน แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2568 "อังกฤษ" จะเป็นชาติแรกของโลกที่ให้บริการวัคซีนหนองในแก่ประชาชนในประเทศ หนองใน เป็นแล้วไม่หาย หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่อเนื่องได้ เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจทำให้มีบุตรยากในผู้หญิง หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด 

อ่านข่าวอื่น :

ญาติร้อง "หมอทศพร" เรียกสอบ 2 รพ. ชี้แจงคนไข้ตกสันเขื่อนตาย

มารยาทหรืออคติ ? ดรามาที่ไม่มีวันจบ พูด "ภาษาอื่น" ในที่สาธารณะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง