ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดรหัสไฟใต้ระลอกใหม่ เมื่อบีอาร์เอ็นคือฝ่ายคุมเกม?

ภูมิภาค
11:07
116
ถอดรหัสไฟใต้ระลอกใหม่ เมื่อบีอาร์เอ็นคือฝ่ายคุมเกม?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้สังคมไทยจะเพ่งความสนใจปัญหาขัดแย้งกับกัมพูชา แต่สถานการณ์ชายแดนใต้ยังระอุต่อเนื่อง จากกรณีกลุ่มคนขนอุปกรณ์ประกอบระเบิดไปวางหลายจังหวัดฝั่งอันดามัน จนถึงเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายบุกโจมตีฐานทหาร ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ที่นราธิวาส

แต่สิ่งที่ไม่ค่อยปรากฎเป็นข่าว คือ ปฏิบัติการทางทหาร การปิดล้อมจับกุม และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ จากต้นปีถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ 93 คน สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นปัจจัยของความรุนแรงระลอกใหม่

การเมืองอ่อนแอ “บีอาร์เอ็น” โชว์ศักยภาพผู้ก่อการ

เหตุการณ์กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบประมาณ 50 คน บุกโจมตีฐานทหาร ชุดคุ้มครองตำบลเกียร์ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส นับว่าเป็นปฏิบัติการใหญ่ ในรอบ 12 ปี หลังเคยก่อเหตุเช่นนี้ นับตั้งแต่ปี 2547 เหตุปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

การบุกโจมตีฐานปฏิบัติการพระองค์ดำ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2554 จนปี 2556 คนร้ายกลุ่มเดียวกับกลุ่มโจมตีฐานพระองค์ดำ ได้บุกโจมตีฐานกองร้องปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 แต่ครั้งนั้น นายมะรอโซ จันทรวดี ผู้เป็นแกนนำเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในห้วงเวลาที่กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ พยายามใช้ปฏิบัติการทางทหารหลายครั้ง ในช่วงไฟใต้ลุกโชน หลังปี 2547 เป็นต้นมา ระบุว่า เมื่อไหร่ที่การข่าวอ่อนแอ และมีการแทรกซึมได้สำเร็จ ก็จะกลายเป็นเชื้อที่บีอาร์เอ็นนำไปสู่ปฏิบัติการทางทหารได้ทุกครั้ง

ตอนนี้ เขาสร้างคนได้สำเร็จอยู่ทุกตำบล มันก็ไม่แปลก ที่เมื่อมีความพร้อมก็ลงมือ

แต่สำหรับการก่อเหตุครั้งนี้ พล.ท.นันทเดช มองว่า บวกกับปัจจัยที่รัฐบาลอ่อนแอ และทิศทางนโยบายภาคใต้ไม่ชัดเจน แต่ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุขนระเบิดขึ้นมาบนภาคใต้ตอนบน ไม่ใช่สิ่งปกติ แม้จะเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

“ระเบิดการเมืองหรือเปล่า? ผมตั้งคำถามนะ เพราะหาก(บีอาร์เอ็น) ขยายพื้นที่ก่อเหตุขึ้นมา เขาจะมีปัญหากับคนมุสลิมภาคใต้ตอนบนไปทำไม” พล.ท.นันทเดช ตั้งคำถาม

บีอาร์เอ็นเป็นฝ่ายคุมเกม ก่อความรุนแรง-รัฐใช้อำนาจรังแก

ด้าน สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา ฮิวแมน ไรต์ส วอชท์ ประจำประเทศไทย ชี้ว่าขณะนี้ จากข้อมูลสถานการณ์ในภาพรวม เห็นชัดเจนว่า กลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นฝ่ายกำหนดเกมความรุนแรง ทั้งเลือกเป้าหมายโจมตี และใช้เงื่อนไขที่ฝ่ายความมั่นคงปิดล้อม-จับกุม แล้วไม่สามารถตั้งข้อกล่าวหาผู้ต้องสงสัยได้ จะใช้ปฏิบัติการไอโอตอบโต้ ใช้เงื่อนไขเรื่องคนในพื้นที่ถูกรังแก เป็นปัญหาวนลูป

สุณัยระบุว่า หากรัฐบาลไม่มีความชัดเจน ในทางนโยบาย ปล่อยให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเอง ตอบโต้กลุ่มก่อความไม่สงบด้วยปฏิบัติการทางทหาร ยิ่งเข้าทางกลุ่มบีอาร์เอ็นมากขึ้น

สำหรับผม เป็นเรื่องน่ากังวล พอรัฐบาล ไม่มีกรอบนโยบายชัดเจน คนรับผิดชอบหลักคือใครไม่รู้ ขณะนี้เรียกได้ว่าไม่มีรัฐมนตรีกลาโหม อำนาจไปอยู่กับทหาร เมื่อถูกกลุ่มก่อการออกมาโจมตี ทหารก็ใช้กฎหมายความมั่นคง ไปปิดล้อม ควบคุมตัวตามอำนาจที่มี ทีนี้กลุ่มบีอาร์เอ็น ก็ใช้เงื่อนไขนี้ไปขยายสร้างแนวร่วม เรียกว่าเข้าทางบีอาร์เอ็นมากขึ้น

ยอดผู้ถูกคุมตัวด้วย กม.พิเศษพุ่ง สะท้อนปัญหาวนในอ่าง

สิ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันในชายแดนใต้ คือการใช้ความรุนแรง กับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ

ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ ระบุว่า ปัจจุบันความรุนแรงในพื้นที่เกิดถี่ขึ้น และดูเหมือนกลุ่มบีอาร์เอ็น จะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และมีรูปแบบก่อเหตุต่างไปจากเดิม เช่น มีมือปืนสไนเปอร์ ออกปฏิบัติการทางทหารกับเป้าหมายแข็ง

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง บังคับใช้กฎหมายพิเศษมากขึ้น แม้แต่กับบางพื้นที่ บางอำเภอของชายแดนใต้ รวมถึง 4 อำเภอเขต จ.สงขลา ที่มีการประกาศยกเลิกไปแล้ว แต่ถูกนำมาใช้ใหม่ โดยอ้างการเชื่อมโยงว่า บุคคลนั้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในพื้นที่ที่มีกฎหมายพิเศษอยู่ ทำให้สถิติการเชิญตัวของ 6 ศูนย์ซักถามทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ต้นปี จนถึงเดือนมิถุนายน ตัวเลขรวมเกือบ 100 คน สูงกว่าปีก่อนหน้านี้

“คือจับไปก่อน บังคับใช้กฎหมาย เชิญตัวไปก่อน แต่พอแจ้งข้อหาเขาไม่ได้ ก็ปล่อยตัวกลับ พร้อมกับภาพลักษณ์ที่ติดตัว เท่ากับรัฐผลักเขาเป็นพวกขบวนการเรียบร้อยแล้ว” บูรหาน บือราเฮง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) กล่าว

ผู้ประสานงานเครือข่าย JASAD ชี้ว่า การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ควบคู่กับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังไม่ให้ความสำคัญกับระเบียบบังคับตามขั้นตอน เช่น ไม่ได้แจ้งผู้นำชุมชน อัยการ ไม่ติดกล้องกับชุดที่บุกไปควบคุมตัว ใช้กำลังนับร้อยเพื่อไปควบคุมตัวเพียงคนเดียว

และเมื่อเชิญตัวไปแล้ว มีการใช้การทรมานทางอ้อม เช่น ให้ยืนติดต่อกันหลายชั่วโมง ไม่ให้นั่งหรือนอน ในห้องอุณหภูมิต่ำ และบีบคั้นทางจิตใจ ด้วยการขู่บังคับไปถึงบุคคลในครอบครัว หรือสร้างผลกระทบถึงคนในครอบครัวด้วย เช่นไม่รู้ว่าเอาไปควบคุมตัวที่ไหน

แต่บูรหานตั้งข้อสังเกตว่า สถิติ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกเชิญตัวไปซักถาม หรือควบคุมตัว สุดท้ายหลุดคดี เพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอ แต่คนเหล่านี้ถูกตีตราเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ ไม่สามารถใช้ชีวิตปกติสุขในสังคมได้

ซึ่งปรากฎการณ์เช่นนี้ บูรหานแสดงความกังวลว่า อาจกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้วงล้อความรุนแรงหมุนวนต่อไปไม่สิ้นสุด

รายงาน : ณรรธราวุธ เมืองสุข บรรณาธิการข่าวสังคม ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : นักวิชาการชี้ “แพทองธาร” ต้องยุติหน้าที่ทั้งหมด แม้แต่ รมว.วัฒนธรรม

5 พรรคฝ่ายค้านผนึกกำลัง! ภท.เสริมแกร่งถกโหวตนายกฯ-กาสิโน

กุสุมาลวตีบุกคมนาคม! จี้ฟ้องอนุทิน ปมที่ดิน "เขากระโดง"