"มังคุด" ราชินีผลไม้ที่ซ่อนเนื้อขาวนวลในเปลือกสีม่วงหวานละมุนลิ้น ไม่เพียงแค่รสชาติที่ชวนหลงใหล มังคุดยังอัดแน่นด้วยคุณประโยชน์ล้นลูก มาเปิดเปลือกสำรวจผลไม้ลูกกลมชนิดนี้ พร้อมเรื่องที่หลายคนอาจต้องรู้
"มังคุด" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia mangostana Linn. จัดอยู่ในวงศ์มังคุด Guttiferae เป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบเขตร้อนชนิดหนึ่ง ที่ได้รับขนานนามว่า "ราชินีแห่งผลไม้" ไม่ใช่แค่เพราะเนื้อในสีขาว รสชาติหวานละมุนเท่านั้น แต่ลักษณะภายนอกของผล ยังดูสง่างามด้วยกลีบเลี้ยงหัวขั้วของผลคล้ายมงกุฎของราชินี

อย่าคิดว่ามังคุดมีดีแค่เนื้อขาวหวานฉ่ำ เพราะ "เปลือก" และ "ยาง" ของผลไม้ชนิดนี้ ก็เปี่ยมไปด้วยสรรพคุณทางยาและคุณค่าทางสุขภาพ มังคุดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะกินสดให้อร่อย หรือดัดแปลงเป็นเมนูคาวหวานก็เข้ากันอย่างลงตัว ที่สำคัญยังอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แข็งแรงจากภายในสู่ภายนอก มีส่วนช่วยในการชะลอวัย บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง อีกด้วย
"เนื้อมังคุด" มีสารอาหารที่จำเป็นทั้ง วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 บี 6 บี 9 และ บี 12 อีกทั้งยังมีแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม เหล็ก แมกนีเซียม และอื่น ๆ เป็นผลไม้ที่มีกากใยสูง ช่วยในเรื่องการขับถ่าย มีฤทธิ์เย็น ช่วยคลายร้อนกินแล้วสดชื่น
ข้อมูล กรมวิชาการเกษตร จากการตรวจวิเคราะห์พบว่า ในน้ำมังคุด 100 มิลลิลิตร ประกอบด้วย โพแทสเซียม ปริมาณสูงถึง 87.14 มิลลิกรัม แคลเซียม 34.53 มิลลิกรัม และแมกนีเซียม 111.22 มิลลิกรัม

"เปลือก" ของมังคุด เปลือกของมังคุด มีสารให้รสฝาด คือ แทนนิน แซนโทน (โดยเฉพาะแมงโกสติน) แทนนินมีฤทธิ์ฝาด ทำให้แผลหายเร็ว มังคุดช่วยลดอาการอักเสบ และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง
ในทางยา สมุนไพร ใช้เปลือกมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำหรือย่างไฟ ฝนกับน้ำปูนใส แก้ท้องเสีย เปลือกแห้งฝนกับน้ำปูน ใส ใช้รักษาอาการน้ำกัดเท้า แผลเปื่อย เปลือกมังคุดมีสารป้องกันเชื้อราเหมาะแก่การหมักปุ๋ย
นอกจากเนื้อและเปลือกจะอุดมไปด้วยคุณค่าแล้ว "ยางมังคุด" ก็ถือเป็นอีกส่วนที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ยางมังคุดเป็นวัตถุดิบในการสกัดสารในกลุ่ม "แซนโทน" ซึ่งแต่ละชนิด มีฤทธิ์ทางยาแตกต่างกัน ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ยางมังคุด ยังมีบทบาทในการใช้เป็นสารเจือปนในอาหาร เพราะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ ที่ก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ อีกด้วย
มังคุด แปรรูปไปทำอะไรได้บ้าง
ปัจจุบันมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมังคุดหลากหลายรูปแบบ เพื่อจัดการผลผลิตล้นตลาด ถนอมอาหาร และเพิ่มมูลค่าให้สินค้า โดยใช้ทั้งเนื้อมังคุด เปลือก ยกตัวอย่างเช่น มังคุดกวน ขนมหวานแปรรูปที่มีรสหวานอมเปรี้ยว, แยมมังคุด ใช้ทาขนมปังหรือเป็นส่วนผสมในเบเกอรี่ มีรสเปรี้ยวอมหวาน อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ, มังคุดแช่อิ่มอบแห้ง ผลไม้แปรรูปที่ยืดอายุการเก็บรักษา รวมถึงมังคุดอบแห้ง/แช่แข็ง รักษาคุณภาพและรสชาติ ใช้เป็นของว่างหรือส่วนผสมอาหาร, มังคุดลอยแก้ว ขนมหวานแบบไทย นอกจากนี้ยังมีไอศกรีมมังคุด ผลิตภัณฑ์ของหวานที่เพิ่มมูลค่า
ผลิตภัณฑ์จากเปลือกมังคุดสารสกัดแซนโทน ใช้ในอาหารเสริมและสกินแคร์ มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และรักษาสิว เช่น สบู่เปลือกมังคุด ช่วยรักษาผด ผื่น สิว และทำความสะอาดผิว นอกจากนี้ ยังมี ผลิตภัณฑ์จากส่วนเหลือทิ้งแป้งและสเปรย์กำจัดกลิ่นเท้า ใช้สารสกัดจากเปลือก ต้านเชื้อราและระงับกลิ่น เช่น ผลิตภัณฑ์ "กันเกา" และ "ดีจี้" จากวิสาหกิจชุมชนคลองน้ำเค็มทันใจ จ.จันทบุรี เป็นต้น

มังคุดในฤดูกาลปกติของไทย จะให้ผลผลิตช่วงเดือน "เมษายน-กันยายน"
- ภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ให้ผลผลิตช่วงเดือน เมษายน-กรกฎาคม (ออกสู่ตลาดมากสุดเดือน พฤษภาคม)
- ภาคใต้ (เป็นแหล่งที่ให้ผลผลิตมากที่สุด) ให้ผลผลิตช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน
How To เลือก "มังคุด" อย่างไร ให้ได้ลูกดี อร่อยสุด
กรมส่งเสริมการเกษตรมีเคล็ดลับดี ๆ มาบอกต่อ ใครอยากได้ "มังคุด" รสชาติหวานฉ่ำ สดใหม่ ไม่เจอยางขม ไม่ต้องเดาอีกต่อไป มาติดตามกันแบบไหน "ควรซื้อ" และแบบไหน "ควรเลี่ยง"
"มังคุด" แบบนี้ "น่าซื้อ"
- มีขั้วสีเขียวสด ผลมังคุดมีสีออกแดงดำก่ำม่วงแต่ไม่เข้มดำจนเกินไป
- ผลเล็กดีกว่าผลใหญ่ เพราะเนื้อมักหวาน เข้มข้น ยางน้อยกว่า และไม่ค่อยเป็น "เนื้อแก้ว"
- มังคุดที่มีเปลือกขรุขระ ผิวไม่มันวาว ผิวไม่ลื่น ถ้ามีมดตามขั้วผล ส่วนใหญ่มักไม่ใช้ยาหรือสารเคมีหรืออาจใช้แต่น้อย
- มังคุดผิวตกกระหรือผิวลายไม่ใช่มังคุดเสีย แต่เกิดจากการโดนเผลี่ยไฟทำลายผิวเปลือกมังคุด เมื่อเซลล์ผิวที่เปลือกโดนทำลาย เปลือกมังคุดคายน้ำออกมาเป็นจำนวนมาก แต่รสชาติจะดีเข้มข้นกว่ามังคุดทั่วไป
"มังคุด" แบบนี้ ไม่น่าซื้อ
- ขั้วเหี่ยวแห้ง แสดงว่าเก็บไว้นานแล้ว
- เปลือกสีดำเข้มและแข็ง บีบไม่ยุบ (เน่าเสีย กินไม่ได้) หรือหากสีดำเข้มแต่ เปลือกนิ่ม แสดงว่าแก่เกินไป
- เปลือกมีรอยแตก บุบ มีทรายติด อาจเป็นมังคุดที่ตกจากต้น
- มียางสีเหลืองไหลซึมออกมาที่เปลือก ทำให้เนื้อมีรสฝาดขม
- มังคุดที่เก็บนานแล้วน้ำหนักจะน้อยจับแล้วจะสัมผัสได้ถึงความเบาหวิวและผิวเปลือกจะแห้งหรือเหี่ยวไม่เต่งตึง
ทำไม "มังคุดผลเล็ก" ถึงครองใจสายกิน
นั้นเพราะ รสเข้มข้นหวานนำ เปรี้ยวตาม รับประทานง่าย พอดีคำ เมล็ดเล็ก เคี้ยวกลืนได้ เนื้อสีขาวฟูมีความฉ่ำ ราคาถูกกว่ามังคุดผลใหญ่ แถมมีเนื้อให้กินเยอะเมื่อเทียบต่อกิโลกรัม และเปลือกบางอีกต่างหาก ส่วนสาเหตุที่ทำให้มังคุดผลเล็กเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลต่อการออกดอกและการสลัดผลที่ผิดปกติ แต่ก็ยังคงคุณค่าไว้ครบถ้วน และยังมีรสชาติดีเยี่ยมเช่นเดิม

คนทานมังคุด ควรรู้ เรื่องอะไรบ้าง
- หากกินมังคุดที่มีรสชาติหวานให้เลือกมังคุดที่มีผิวสีม่วงเข้ม หากอยากได้รสชาติแบบหวานอมเปรี้ยวให้เลือกมังคุดที่มีผิวสีแดง
- การแกะมังคุดให้ใช้มีดผ่าเป็นเส้นกากบาทที่กันผล แล้วบิดออกจะทำให้เนื้อไม่ซ้ำและไม่เสียรสชาติ
- เมล็ดของมังคุดก็เป็นส่วนที่รับประทานได้ แต่ต้องเคี้ยวก่อนกลืน
- มังคุดที่มีผลสีเขียวอ่อนอมชมพูและมีจุดประสีชมพูเข้มกระจายทั่วผล ไม่ใช่มังคุดอ่อนแต่เป็นมังคดที่เพิ่งเก็บเกี่ยวจากต้น เพื่อให้วางจำหน่ายได้ยาวนานขึ้น
- หากผลเป็นเนื้อใสและแข็งในบางกลีบหรือทั้งผล เรียกว่ามังคุดแก้ว เกิดจากมังคุดได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ ขาดน้ำเป็นเวลานานๆ แล้วได้รับน้ำกะทันหันหรือถูกฝนตกหนักก่อนเก็บสามารถกินได้ (แต่ทำให้ขายไม่ได้ราคา)
- กรณีกินทุเรียนคู่กับมังคุด แม้มังคุดจะมีฤทธิ์เย็น ช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ แต่ผลไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ หากกินมากเกินไปก็จะทำให้ปริมาณ "น้ำตาล" ที่ได้รับสูงตามไปด้วย ดังนั้นคนที่ชอบกินทุเรียนควรใช้วิธีดื่มน้ำเปล่าตามมากๆ จะช่วยขับสารซัลเฟอร์ในทุเรียน แก้ร้อนในเผาผลาญผลังงานและดีต่อร่างกายมากกว่า
คนที่ควรระวังในการบริโภค "มังคุด"
แม้มังคุดจะอร่อยและอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ แต่การกินในปริมาณที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงลองเช็กดู คนที่ควรระวังในการบริโภค "มังคุด"
1. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มังคุดมีน้ำตาลธรรมชาติสูง กินมากอาจทำให้ได้รับน้ำตาลสูงเกินไป
2. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร มังคุดมีสารแทนนินที่พบมากในเปลือก เมื่อรับประทานมังคุดเป็นเวลานาน สารแทนนินสามารถรบกวนการย่อยอาหารและการดูดซึมของแร่ธาตุอื่น ๆ จนอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกและปวดท้องได้
3.ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ผ่าตัดหรือทำศัลยกรรมควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมังคุด เนื่องจากมังคุดอุดมไปด้วยแซนโทนที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ซึ่งอาจทำให้กระบวนการแข็งตัวของเลือดช้าลง
4. ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือศัลยกรรมควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมังคุดประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
สุดท้าย "มังคุด" มีประโยชน์ แต่ต้องกินให้พอดีแต่ก็อย่าลืมว่าสิ่งที่มีประโยชน์ หากเกินพอดี ก็อาจกลายเป็นโทษได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรบริโภคมังคุดในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้ร่างกายได้รับสิ่งดีๆ โดยไม่ต้องเสี่ยง
อ้างอิงข้อมูล : กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร, hellokhunmor
อ่านข่าว : เข้าพรรษา 2568 "บวชเณร-พระ" สืบสานพุทธศาสนาและพัฒนาตน
ศาลไต่สวนพยานได้ 5 ปาก คดี "ทักษิณ" ชั้น 14 สั่งเลื่อนไต่สวนไป 8 ก.ค.
ศาลปกครองสูงสุด รับฟ้อง กสทช. ฐานละเลยควบคุม OTT มีโฆษณาคั่นชมทีวี
แท็กที่เกี่ยวข้อง: