ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิด 5 อันดับประเทศ ครอบครอง "ทุ่นระเบิด" มากสุดในโลก

ต่างประเทศ
10:35
186
เปิด 5 อันดับประเทศ ครอบครอง "ทุ่นระเบิด"  มากสุดในโลก
อ่านให้ฟัง
06:18อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของอนุสัญญาออตตาวา ทำให้หลายพื้นที่ของโลกปลอดจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล แต่ทุ่นระเบิดไม่ได้หายไปจากคลังแสงของหลายประเทศ โดยเฉพาะ 5 ชาติที่ครอบครองมากที่สุดในโลก รวม 45 ล้านลูก

ปัจจุบันหลายประเทศยังคงใช้ทุ่นระเบิดในการทำสงคราม สร้างแนวป้องกันศัตรู หรือแม้กระทั่งป้องกันคนในประเทศเอง ทั้งในเกาหลีเหนือ อิหร่าน เมียนมา และยูเครน มีการวางทุ่นระเบิดใหม่สูงติดอันดับโลก โดยเฉพาะจากฝีมือของรัสเซีย นับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้นในเดือน ก.พ.2565

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค.2568 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมากล่าวหาว่า ยูเครนละเมิดอนุสัญญาออตตาวา ทั้งที่ยังไม่ได้ถอนตัวออกจากอนุสัญญาฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่ามีหลักฐานที่ชี้ว่า ยูเครนใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเพื่อทำร้ายพลเรือนอย่างเป็นระบบ

แต่จากข้อมูลในรายงาน Landmine Monitor 2024 ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อการห้ามทุ่นระเบิดในสวิตเซอร์แลนด์ ชี้ว่า รัสเซียใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอย่างน้อย 13 ชนิดในยูเครน ขณะที่ปัจจุบัน ยูเครนยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน กรณีทหารยูเครนใช้ทุ่นระเบิดในประเทศบริเวณพื้นที่ที่รัสเซียยึดครอง แม้รัฐบาลยูเครนจะยืนยันว่าไม่ได้ละเมิดอนุสัญญาออตตาวา

รัสเซียเป็นหนึ่งในกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่ยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติมหาอำนาจและประเทศที่มีความขัดแย้ง ขณะที่ 5 ประเทศนี้ คือ กลุ่มที่ไม่ได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญา และครอบครองทุ่นระเบิดสังหารบุคคลมากที่สุดในโลก

ทั้งนี้ รัสเซียมีทุ่นระเบิดมากกว่า 26 ล้านลูก ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างปากีสถานหลายเท่าตัว ส่วนอินเดียถือครองทุ่นระเบิดในจำนวนพอ ๆ กับปากีสถาน ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการ ขณะที่จีนมีไม่ถึง 5 ล้านลูก และสหรัฐฯ มี 3 ล้านลูก โดยทั้ง 5 ชาติรวมกัน ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 45 ล้านลูก

ในปี 2542 ประเทศที่ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาออตตาวา มีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลรวมกันประมาณ 160 ล้านลูก แต่ในปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวลดลงมาเหลืออยู่ที่ประมาณไม่ถึง 50 ล้านลูก หมายความว่าทุ่นระเบิดเกือบทั้งหมดทั่วโลกกระจายอยู่ในมือของ 5 ประเทศนี้

ขณะที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศที่แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐภาคี ก็ยังตัดสินใจที่จะทำลายทุ่นระเบิดในคลังแสงของตัวเองด้วย เช่น จีน อิสราเอล มองโกเลีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม

แต่สำหรับรัฐภาคี ทั้งยูเครนและกรีซเป็นสองประเทศที่ยังคงละเมิดมาตรา 4 ของอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีต้องกำจัดทุ่นระเบิดในครอบครองทั้งหมดภายใน 4 ปีหลังเริ่มบังคับใช้อนุสัญญา คือ ในปี 2551 และปี 2553 ปัจจุบันยูเครนและกรีซมีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่รอการทำลาย รวมกันกว่า 3.7 ล้านลูก ในจำนวนนี้อยู่ในยูเครนกว่า 3.3 ล้านลูก

สำหรับมาตรา 3 ในอนุสัญญาออตตาวา อนุญาตให้รัฐภาคีมีทุ่นระเบิด หรือโอนทุ่นระเบิดจำนวนหนึ่งไปให้กับประเทศอื่น ๆ ได้ หากเป็นไปเพื่องานวิจัย การพัฒนาและการฝึกอบรมต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 63 รัฐภาคีที่เข้าข่ายนี้ โดยอ้างอิงจากข้อมูลในรายงานรายประเทศจะพบว่า ฟินแลนด์ถือครองทุ่นระเบิดเพื่อการวิจัยมากที่สุด 15,000 ลูก

ตามมาด้วยบังกลาเทศ 12,000 ลูก, ศรีลังกา 6,000 ลูก, ขณะที่ตุรกีและกรีซมีเกิน 5,000 ลูก, แต่กรีซยังมีทุ่นระเบิดที่รอการทำลายในคลังอีกกว่า 300,000 ลูกด้วย ส่วนรัฐภาคีในอาเซียนมีทุ่นระเบิดเพื่อใช้ในงานวิจัยเช่นกัน โดยอินโดนีเซีย มีจำนวน 2,000 ลูก และกัมพูชา 1,056 ลูก ในจำนวนนี้มีรุ่น PMN-2 ซึ่งเป็นรุ่นที่เป็นประเด็นกับไทยอยู่ในขณะนี้รวมอยู่ด้วย

สถานการณ์ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในหลายจุดของโลก โดยเฉพาะที่เป็นผลพวงมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาแสดงท่าทีในการกลับมาผลิตทุ่นระเบิดอีกครั้ง นอกเหนือไปจากการถอนตัวออกจากอนุสัญญาออตตาวา เช่น ลิทัวเนีย ฟินแลนด์ ที่มีข่าวว่าอาจเริ่มผลิตทุ่นระเบิดในปีหน้า เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ตัวเอง และสำหรับสนับสนุนยูเครนด้วย

ขณะที่โปแลนด์และลัตเวีย ระบุว่า ถ้าจำเป็นก็พร้อมที่จะเริ่มผลิตทุ่นระเบิดได้อย่างรวดเร็ว ส่วนเอสโตเนียไม่ตัดตัวเลือกนี้เช่นเดียวกัน โดยในอดีตมีมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกที่มีศักยภาพในการผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลได้เอง ซึ่งเกือบทั้งหมดก็เลือกที่จะยุติการผลิต รวมถึงประเทศที่ไม่ได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวาด้วย

ในช่วงที่บรรยากาศทั่วโลกเต็มไปด้วยความร่วมมือและมีสัญญาณของความปรองดองในยุคหลังสงครามเย็น ทำให้การห้ามใช้ สะสม และผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลประสบความสำเร็จ แต่แนวโน้วสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสั่งสมอาวุธกันมากขึ้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่บั่นทอนความมั่นคงของโลกด้วย

วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

อ่านข่าว : TMAC ประณามเหตุทุ่นระเบิด เรียกร้องกัมพูชารับผิดชอบ-สอบสวน 

ส่องสถานะล่าสุด "อนุสัญญาออตตาวา" 

ทบ.ส่งทหารช่างเคลียร์ทุ่นระเบิด-เก็บหลักฐานส่ง กต.ทำหนังสือถึง UN