1. Homepage
"ชีวิตสูงวัย" ในวันที่ยังไร้ "บำนาญถ้วนหน้า"

"ชีวิตสูงวัย" ในวันที่ยังไร้ "บำนาญถ้วนหน้า"

16 พฤษภาคม 2568
65
0

"แก่ จน เจ็บ" ชีวิตหลังเกษียณที่ไม่มีใครอยากเจอ ในภาวะที่โลกมีความผันผวนรายวัน ขณะที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์" ล่าสุดมีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติเพื่อจะดูแลคนสูงวัยอย่างถ้วนหน้าทั้งจากภาคประชาชนและพรรคการเมือง แต่กฎหมายทั้ง 4 ฉบับถูกปัดตก ด้วยเหตุผลเรื่องกฎหมายการเงินและความกังวลว่าจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดำเนินงาน

 

คำถามสำคัญในวันนี้คือ เราจะเดินหน้าต่อเพื่อผลักดัน ‘สวัสดิการเงินของคนวัยเกษียณ’ ให้ไปถึง ‘เงินบำนาญถ้วนหน้า’ ได้หรือไม่ วันนี้ที่ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่แก่ลงแต่มีเงินไม่เพียงพอในช่วงเกษียณ 

ชวนฟังเสียงของผู้สูงอายุจากหลายพื้นที่ ในประเด็นที่ว่า ตอนนี้ผู้สูงอายุไทยเผชิญกำลังเผชิญกับสภาวะแบบไหน เงินรายเดือนที่ได้จากรัฐทุกวันนี้พอหรือไม่ รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เหล่าสูงวัยอยากบอกไปถึงรัฐบาล
 

 

ยายสมหมาย อายุ 75 ปี

“เห็นรัฐบาลบอกว่าจะให้เงินผู้สูงอายุคน 3,000 บาทยายก็อยากได้ ทำไมไม่ได้สักที”

ยายหมายบอกว่า เงินผู้สูงอายุ 700 บาทนั้นไม่พอ ต้องประหยัดกินประหยัดใช้ ต้องปลูกผักเอง เก็บกินตามรั้วหน้าบ้าน ต้องกินอย่างประหยัดกินฟุ่มเฟือยไม่ได้

ส่วนลูกหลานนาน ๆ ทีเขาจะมาหาก็ซื้อมาให้กิน กินไม่หมดก็เก็บใส่ตู้เย็นไว้พอให้พยุงตัวได้ เพราะยายก็ไปทำงานอะไรไม่ได้แล้ว ส่วนเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ยายหมายไปหาหมอที่โรงบาลใกล้บ้าน แต่ก็ไม่ได้เสียเงินเพราะมีสิทธิ์บัตรทอง

“เงิน 700 เราก็เอามาเก็บไว้บำรุงภายในบ้าน ซื้อนมซื้อขนมมากิน เห็นเขามาขายผลไม้ก็นึกอยากกิน บางครั้งก็ซื้อแต่ไม่ได้ซื้อเยอะเพราะว่าประหยัด”

คุณยายยืนยันหนักแน่นว่า เงิน 700 บาทเดือนหนึ่งใช้มากกว่าแน่นอน เพราะต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนม ค่านม ส่วนข้าวของก็ราคาแพง

เธอยังฝากไปหารัฐบาลว่า ผู้สูงอายุนี้เงินเดือนน้อย คนที่ครอบครัวใหญ่เขาก็ไม่พอใช้ อยากฝากให้มาดูแล มาเพิ่มเงินเดือนให้อีกหน่อยในชุมชนของเรา

“รัฐบาลจะปรับเพิ่มให้ 3,000 บาท หรือจะให้ 4,000 บาท ยายก็ไม่ว่า แต่ว่า 700 นี่ไม่พอ ยังน้อยอยู่ ยายเองก็อยากมีไว้เก็บออมบ้าง พอได้ติดกระเป๋าไว้ให้หลาน 5 บาท 10 บาทแต่หลานเองก็นาน ๆ ถึงได้มาหาตามช่วงเทศกาล เพราะลูกเขาก็มีครอบครัว หลานก็เรียน ยายเองก็ไม่ได้อยากจะไปรบกวน” ยายสมหมาย กล่าว
 

 

พ่อค้าหมูปิ้ง อายุ 59 ปี

แม้ยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่สิ้นปีนี้พ่อค้าหมูปิ้งวัย 59 ก็จะเข้าเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์รับเงินรายเดือน 600 บาท ที่รัฐบาลให้สนับสนุนให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

สำหรับเขาเองไม่ได้มีการวางแผนเกษียณ แต่คงจะยึดขายของหารายได้ เพราะคิดว่าถ้าทำงานอื่นก็คงไม่ไหว นอกจากนี้เขายังได้รับสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดือนละ 300 ส่วนเงินผู้สูงอายุ 600 เขามองว่ายังน้อย เพราะข้าวของทุกวันนี้แพง

“600 มันน้อยมากค่าบ้านยังไม่ได้เลย ทุกวันนี้เฉพาะค่าห้องก็อยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท ค่าไฟก็เสียตามยูนิต เงิน 600 บาทไม่พอ เราก็ต้องไปหารับจ๊อบทางอื่นเพื่อมาผสมกัน ขายของก็ขายเป็นบางวัน บางวันก็โอเคบางวันก็เงียบ” พ่อค้าหมูปิ้งกล่าว

เขาเล่าให้ฟังว่า จ๊อบเสริมส่วนมากเป็นงานล้างจาน ถ้าวันไหนมีจ๊อบก็จะไม่ได้ขายของ เช่นไปทำงานเข้า 6 โมงก็เลิกบ่าย 3 โมงเย็นทำเป็นประเภททำงานในครัว จบงานก็ได้เงินสดเลย ส่วนงานก่อสร้างจะไม่ได้รับทำ เพราะทำไม่ไหวแล้ว

ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาล สำหรับพ่อค้าหมูปิ้งอย่างเขาไม่ได้กังวล เพราะเป็นทหารผ่านศึกมาก่อนจึงได้สิทธิ์รักษาฟรี แต่ถ้าเข้าเอกชนในกรณีฉุกเฉินก็ต้องสำรองจ่ายก่อนแล้วค่อยไปเบิก นอกจากนี้ยังมีเงินช่วยเหลือครั้งคราว หนึ่งปีไปเบิกได้สองครั้ง ครั้งละ 500 บาท ช่วงเดือนตุลากับมกรา ซึ่งที่ผ่านมาเขาไปเบิกทุกปีเพราะมองว่าเป็นสิทธิ์

เขาเองมองว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลสนับสนุนประมาณ 2,000-3,000 บาท แต่หลักที่จะให้หลักพันนี้ก็ได้ยินข่าวมาเหมือนกัน แต่ก็ไม่ทราบว่าจะได้ไหม เขาบอกว่า “มันหยั่งใจยากเรื่องแบบนี้”

“อยากขอเปิดโอกาสให้คนเกษียณอายุ คนไหนที่เขาทำงานไหวให้สนับสนุนหน่อย ไม่ใช่ว่าพอไปสมัครงานปุ๊บ บอกอายุปุ๊บ จะเขาก็บอกโอ๊ยทำไหวหรือ แต่สำหรับตัวผมยังโอเคอยู่เรื่องงานบริการ แต่งานเสิร์ฟคนสูงอายุอาจไม่เหมาะ แต่ถ้าอยู่หลังครัวก็ได้อยู่” พ่อค้าหมูปิ้ง กล่าว

 

 

ยายสำเนียง อายุ 75 ปี

ยายสำเนียงอยู่ในบ้านที่มีสมาชิกหลายคน แม้ว่าบ้านไม่ได้เช่า ข้าวไม่ได้ซื้อ แต่สำหรับเธอเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 700 บาทก็ไม่เพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหนึ่งเดือน ถึงจะได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยเดือนละ 300 เป็นเอาไว้ไปแลกของเช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน พอให้ทุเลาเบาบาง เงิน 700 ไม่พอ ถ้าไม่พอจริง ๆ บางทีลูกก็เอาให้ เพราะเราบอกว่าไม่มีเงินใช้แล้ว

“ที่บอกว่าจะช่วยเดือนละ 3,000 ก็แล้วแต่รัฐบาลจะคิดเห็น แต่ถ้าช่วยพวกผู้สูงอายุได้ ภาระลูกก็จะไม่หนัก ไม่มีหรอกเงินเก็บ ถ้าตายก็พอจะได้เอามาทำศพตัวเองนั่นแหละ” ยายสำเนียง กล่าว

เธอยังยกตัวอย่างว่า ต้องมีการจ่ายเงินกองทุนฌาปนกิจด้วย “บ้านนั้นตายก็เก็บศพละ 20 บาทเรา บ้านมีผู้ใหญ่อยู่สามคนก็จ่าย 60 บาท จ่าย 100 ทอนมา 40 สมมุติว่าหลานขอไปซื้อก๋วยเตี๋ยวก็ให้ไปทั้ง 40 บาท เงินหมดพอดี” ยายสำเนียงหัวเราะหลังพูดจบ

บางครั้งที่ไม่มีเงิน ยายสำเนียงจำเป็นต้องหาหยิบยืมเงินคนอื่นประมาณ 100 บาท พอได้เงินมาก็ค่อยเอาไปคืน เธอเองไม่ได้มีอาชีพเพราะกำลังไม่ได้มีมาก พยุงตัวแค่พอได้เห็นลูกหลาน ช่วยเขาปัดกวาดทำความสะอาดแถวบ้าน ส่วนงานหนักอย่างไปทุ่งนาก็ไปไม่ไหวแล้วเพราะขาไม่ดี

 

 

คุณยาย อายุ 74

คุณยายท่านหนึ่งอายุ 74 เธอมีรายได้คือ เบี้ยผู้สูงอายุ 700 บาท และบัตรประชารัฐ 300 บาท ส่วนนี้ไม่ได้เป็นเงินออกมาแต่เอาบัตรไปแลกของมาใช่ แต่แค่เงินสองส่วนนี้ ก็ยังไมพอสำหรับหนึ่งเดือน

“ยังไงก็ไม่พอ 700 บาทเราต้องเอาไปซื้อข้าวกิน เองเราเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวในบ้าน แล้วก็ตามทางที่เราเห็นเราก็เลี้ยง แต่เราอาศัยว่าถ้าอยากจะกินอะไร เรากิน พอไม่พอเราว่าทีหลัง” คุณยายกล่าว

สำหรับเธอแล้วชีวิตไม่ได้ลำบากนัก เพราะยังมีลูกเขยส่งเงินให้ แต่เธอเองก็พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัด เดือนไหนที่เงินจะไม่ถึงสิ้นเดือน แต่มีสิ่งของที่อยากจะซื้อ เธอก็จะไปรอซื้อเดือนหน้า

“เราต้องหักห้ามใจ ไม่อย่างนั้นจะลำบาก อดไว้ก่อน แต่ก็ไม่ถึงขั้นอดอยาก เพราะมีลูกเขยและลูกสาวคอยเลี้ยงดู บ้านไม่ต้องเช่า อาหารเขาก็ส่งให้กิน แต่บางทีเรามาตลาดเราก็อยากกินอย่างอื่น ถ้าไม่มีเงินเราก็เดินหนี วันนี้ไม่มีเดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ต้องมี” คุณยายเล่าให้ฟัง

เธอเล่าต่อว่า การรักษาพยาบาลต่าง ๆ ลูกเขยเป็นคนออกเงินให้หมด เพราะส่วนตัวเธอไม่มีเงินเก็บ สำหรับเธอเงิน 700 บาทบางทีก็นับวันนับคืน เมื่อไหร่จะถึงวันที่ 10 ต้องคอยถามว่าเมื่อไหร่จะถึงวันที่ 10 พอรู้ว่าใกล้จะถึงวันแล้ว ถ้าวันนี้อยากจะกินอะไร ก็จะรอวันที่ 10 ค่อยซื้อ

คุณยายยังฝากไปถึงรัฐบาลว่า ถ้า 700 บาทนี้ไม่พอ ก็แล้วแต่ว่าคุณจะเพิ่มให้เท่าไหร่ เธอถามต่อว่า “ถ้าขอเดือนละ 1,000 บาทจะให้ไหมล่ะ คำพูดง่าย ๆ กำขี้ดีกว่ากำตด” เธอเปรียบ ทั้งบอกว่ารัฐบาลเองสถานการณ์ก็ดูแย่ ต่อให้พูดไปก็คงไม่ได้อะไร ตอนนี้จึงมองว่าที่ได้เดือนละ 700 ก็ยังดี ดีกว่าไม่ได้อะไร แต่เธอก็ตั้งคำถามต่อว่า “มันก็ภาษีเรา เป็นเงินของเรานะ”

“ถ้าเกิดว่าไม่ลำบากใจก็เพิ่มให้อีกหน่อย พูดถึงเดือนละสัก 1,000 ก็ยังอยู่ได้ อย่างบางคนได้เดือนละ 600 ถ้าเพิ่มอีก 400 เขาก็ยิ้มแล้ว ส่วนเราได้ 700 เพิ่มอีก 300 ก็ยังดี” คุณยาย กล่าว
 

 

แม่บ้าน อายุ 54 ปี

แม่บ้านรายหนึ่งบอกว่า ตอนนี้รับจ้างทำงานเป็นแม่บ้านอยู่และคิดว่าจะทำไปจนกว่าจะทำไม่ได้ หลังจากนั้นก็จะกลับไปอยู่ที่บ้านต่างจังหวัด ไปปลูกผัก ทำนา กินอยู่แถวบ้าน ถ้าขายได้ก็จะขายเป็นรายได้ เพราะลำพังเงินผู้สูงอายุ 600 บาทคงไม่พอ

เงินสำหรับใช้ยามเจ็บป่วย คืออีกเรื่องที่แม่บ้านอย่างเธอกังวล “ตอนนี้มีประกันสังคม แต่ถ้าเกษียณไปก็กังวลถ้าป่วยก็ไม่รู้จะเอาตังค์ไหนไป เพราะช่วงนี้ก็ไม่มีตังค์เก็บอยู่แล้ว ไหนจะค่าเช่าบ้าน ไหนจะค่าอยู่ค่ากิน เงินเดือนก็ไม่เยอะแต่ต้องซื้อทุกอย่าง”

ตอนนี้เธอเองต้องรีบเก็บเงิน เผื่อกรณีที่ลูกไม่ดูแลก็จะกลับไปอยู่ต่างจังหวัดสองคนตายาย ลำพังเงินเก็บอย่างเดียวคงจะไม่พอ ส่วนเงินจากลูกหลานก็ไม่มี วันหนึ่งที่ทำมาหากินไม่ได้ ก็คงจะรอแต่เบี้ยผู้สูงอายุ กว่าจะถึงสิ้นเดือนกว่าจะได้ใช้ 600 นะ” แม่บ้านกล่าว

เธอยังฝากถึงรัฐบาลอีกว่า อยากให้ช่วยขึ้นเงินผู้สูงอายุมาให้สักหน่อย เช่นถ้าให้ 800 เราอาจจะเหลือเก็บ แต่ถ้าอยู่กันสองคนตายายก็คงจะไม่เปลืองมาก อยู่บ้านนอกมีผักมีพริก เราปลูกกินเองได้เราก็ประหยัดลง หาวิธีทางที่เราจะไม่ใช้ตังค์เยอะ

เหล่านี้เป็นเสียงจากคนสูงวัย ในยุคที่สังคมไทยยังไร้ "บำนาญถ้วนหน้า" หรือเรื่องนี้ต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งหวังตั้งใจของรัฐบาล ว่าจะร่วมสนับสนุนกฎหมายเพื่อสร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ให้กับประชาชนอย่างไร ภาตใต้สังคมสูงวัยที่ไทยกำลังเผชิญ

ชวนคุยกับสมชาย กระจ่างแสง เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ซึ่งร่วมผลักดันกฎหมายของภาคประชาชน และณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคประชาชน ประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม หนึ่งในผู้เสนอกฎหมายเพื่อการสร้างบำนาญประชาชน ในรายการ คุณเล่าเราขยาย ตอน "ปิดสวิตช์" บำนาญแห่งชาติ ชีวิตสูงวัยไทยจะเป็นยังไงต่อ? 
 .

📌 รับชมได้ทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข3 หรือรับชมทางออนไลน์

• Website : www.thaipbs.or.th/live

• ชมอีกครั้งทาง : www.thaipbs.or.th/KhunLao
 

ชุมชน-สังคม
เศรษฐกิจ
การเมือง
สัมภาษณ์
ภาคกลาง
เบี้ยผู้สูงอายุ
สังคมผู้สูงอายุ
บำนาญถ้วนหน้า
วัยเกษียณ
สังคมสูงวัย
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการ
บำนาญแห่งชาติ
ยกระดับเบี้ยยังชีพ
ผู้สูงอายุ
Share article

Paweena_CH

Paweena_CH

Local Project Leader

Recommended articles