ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ภาษาสก๊อย" ความวิบัติทางภาษาไทย จริงหรือ ?

สังคม
27 ก.ค. 55
03:00
446
Logo Thai PBS
"ภาษาสก๊อย" ความวิบัติทางภาษาไทย จริงหรือ ?

ทุกปีในช่วงสัปดาห์วันภาษาไทยแห่งชาติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาแสดงถึงความกังวลเรื่องการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะการใช้ภาษาไทยในโลกออนไลน์ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา "ภาษาสก๊อย" หรือมีผู้เรียกว่า ภาษาสันสก๊อย ในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ได้รับความนิยมมีผู้กดไลค์มากกว่า 30,000 คน แม้ความนิยมจะเริ่มลดลงเนื่องจากมีผู้เผยแพร่วิธีการเล่น รวมถึงมีเว็บไซต์ที่สามารถแปลภาษา สก๊อยได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาไทย เชื่อว่า ภาษาสก๊อย จะไม่ทำให้ภาษาไทยวิบัติได้เพราะได้รับความนิยมในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

  

<"">
  
<"">

ตัวอย่างของ ภาษาสก๊อย ถ้าหากให้อ่านคงจะต้องใช้เวลานานอย่างมากกว่าจะทราบความหมาย แต่คำนี้แปลว่า สมาคมนิยมสก๊อย "ภาษาสก๊อย" เป็นภาษาเฉพาะของกลุ่มแฟนเพจใช้พยัญชนะที่มีอยู่ในภาษาไทยที่ไม่ค่อยมีการใช้ เช่น ฬ แทน ร ล ใช้ ฒ แทน ม ใช้ ญ แทน ย และใช้เทคนิคของแป้นพิมพ์ที่มีปุ่ม shift และ caplock เข้ามาเป็นตัวช่วย แม้จะไม่มีหลักเกณฑ์ทางภาษาที่ชัดเจนแต่มีผู้ชื่นชอบกดไลค์แล้วกว่า 30,000 คน

ไม่เพียงแต่แฟนเพจสมาคมนิยม สก๊อย แต่ยังมีผู้พัฒนาเว็บไซต์ให้สามารถพิมพ์ภาษาไทยให้สามารถแปลภาษา สก๊อย และสามารถแปลภาษา สก๊อย กลับเป็นภาษาไทยได้ นอกจากนี้แอพลิเคชั่นแชทกับบอทยอดนิยมอย่าง ซิมซิอิ ยังถูกเลียนแบบเป็น ซิมสก๊อย เบต้า ที่สามารถพิมพ์โต้ตอบเป็นภาษาสก๊อยได้ด้วย

"นายกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์" อาจารย์ผู้สอนวิชาภาษาไทยเชื่อว่า ภาษาสก๊อย ไม่ได้ทำให้ภาษาไทยวิบัติเหมือนที่หลายฝ่ายกังวลแต่ ภาษาสก๊อย เป็นเพียงภาษาเฉพาะกลุ่มของวัยรุ่นที่จะได้รับความนิยมช่วงสั้น ๆ

ครูลิลลี่ บอกอีกว่า ขณะนี้เด็กไทยขาดทักษะการอ่าน ขาดการวิเคราะห์ และอาจใช้คำที่ไม่ถูกต้องแล้ว ปัจจุบันยังมีเรื่องการใช้อวัจนะภาษา ที่หลายคนใช้มากเกินไปรวมถึงใช้ไม่ถูกต้องด้วย

ขณะที่ตามเว็บไซต์ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมและยังทำให้เกิดการอ่าน การเขียนแบบผิด ๆ ซึ่งวัยรุ่นบางส่วนที่ "ไทยพีบีเอส" ได้สอบถามมาเกี่ยวกับภาษาสก๊อย บอกว่า ภาษาสก๊อย ไม่ถึงขั้นทำให้ภาษาวิบัติเพราะเป็นการใช้สื่อสารเฉพาะกลุ่ม และ เน้นความสนุกสนานมากกว่าที่จะนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง

ด้านนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) กล่าวว่า เรื่องภาษาสก๊อย มองได้หลายด้าน เพราะภาษาเป็นการสื่อสารที่มนุษย์เข้าใจร่วมกันหากมองในด้านบวกเป็นการพัฒนาของภาษาให้เป็นลูกเล่น แบบถอดรหัสเล่นสนุก เป็นการสื่อสารระหว่างกันหากมองในด้านลบแสดงให้เห็นว่า คนรู้คำน้อยอ่านหนังสือน้อย จึงต้องมาสร้างคำใหม่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงในระยะยาว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง