การส่งต่อ "ผู้นำจีน" รุ่นที่ 5 ...จุดเปลี่ยนผ่านเพื่อสานต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจแดนมังกร

3 พ.ย. 55
04:21
197
Logo Thai PBS
การส่งต่อ "ผู้นำจีน" รุ่นที่ 5 ...จุดเปลี่ยนผ่านเพื่อสานต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจแดนมังกร

การประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 ที่กรุงปักกิ่ง ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของการเมืองจีน เนื่องจากเป็นวันที่ที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะทำการเลือกประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่ รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะรัฐมนตรีและกรรมการประจำกรมการเมือง ซึ่งจะนับเป็นผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน

หลังจากที่ หู จิ่นเทา และเวิน เจียเป่า ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาอย่างยาวนานถึง 10 ปี จากการได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง 2 สมัยซ้อน

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ยังมีความสำคัญในมิติทางเศรษฐกิจ ภายใต้ภาวะการณ์ที่เศรษฐกิจโลกผันผวนด้วยปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปและความอ่อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งกระทบต่อเนื่องมายังจีน ทำให้สายตาทุกคู่ต่างจับจ้องมาที่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญครั้งนี้ ว่ายักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างจีนจะสามารถส่งต่อการเปลี่ยนแปลงผู้นำไปพร้อมๆ กับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างราบรื่นเพียงใด และนโยบายเศรษฐกิจของผู้นำใหม่จะเป็นไปในทิศทางใด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์นัยของการเปลี่ยนแปลงผู้นำจีนที่กำลังจะเกิดขึ้น ต่อการวางนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงผลในมิติทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ในระยะสั้น ... การประคับประคองเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์ของว่าที่ผู้นำใหม่ ผนวกกับช่องว่างการดำเนินนโยบาย (Policy room) ที่ยังมีอยู่

ปี 2555 เป็นปีสำคัญที่เศรษฐกิจจีนถูก ท้าทายจากแรงกระแทกจากปัญหาเศรษฐกิจในซีกโลกตะวันตก จนเศรษฐกิจไตรมาส 3/2555 เติบโตต่ำสุดในรอบ 14 ไตรมาส และพร้อมกันนั้น ปลายปี 2555 ยังเป็นช่วงเวลาสุดท้ายก่อนการส่งต่อตำแหน่งผู้นำ ส่งผลให้รัฐบาลจีนชุดปัจจุบันมีภารกิจที่สำคัญยิ่งที่จะต้องพยายามพยุงเศรษฐกิจจีนให้เติบโตในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจในช่วงปลายปีเป็นไปอย่างราบรื่น

ที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับการวางตัวเป็นผู้นำใหม่ทั้งสอง ได้แก่ นายสี จิ้นผิง (รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) และนายหลี่ เค่อ เฉียง (รองนายกรัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่ดูแลนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และสิ่งแวดล้อมในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน) นับว่าเป็นคณะทำงานซึ่งใกล้ชิดกับผู้นำรุ่นปัจจุบันอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ว่าที่ผู้นำทั้งสองน่าจะสามารถสานต่อนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งน่าจะช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนในระยะข้างหน้าเป็นไปอย่างราบรื่น

โดยที่ผ่านมาในปี 2555 รัฐบาลชุดปัจจุบันจีนได้มีความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านหลากมาตรการ ทั้งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายและสัดส่วนสำรองธนาคารพาณิชย์มาแล้วอย่างละ 2 ครั้ง รวมถึงการอัดฉีดเงินผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลหลายครั้ง

ขณะที่ในด้านการคลัง รัฐบาลจีนได้มีการออกนโยบายให้เงินอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ประหยัดพลังงานเพื่อกระตุ้นการบริโภค รวมทั้งอนุมัติโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนับร้อยโครงการทั่วประเทศในวงเงินกว่า 14 ล้านล้านหยวน มีระยะเวลาดำเนินการทั้งระยะสั้นภายใน 1 ปี และต่อเนื่องในระยะยาวถึง 10 ปี ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นในเดือนก.ย.2555

ด้านการค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และมูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้น และน่าจะยังคงแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 จากการที่มาตรการต่างๆ เริ่มออกผล และในปี 2556 คาดว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี น่าจะมีการสานต่อนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งการดำเนินการต่อเนื่องในโครงการเดิม อีกทั้งยังมีช่องว่างการดำเนินนโยบาย (Policy room)

สำหรับการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้อีกหากจำเป็น ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับไม่สูง ซึ่งทำให้แนวโน้มจีนยังสามารถอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านเครื่องมือต่างๆ เพิ่มได้อีก ผนวกกับเงินทุนสำรองที่มีสูง ซึ่งช่วยให้รัฐบาลสามารถกระตุ้นการบริโภค และใช้ในโครงการลงทุนต่างๆ เพิ่มเติมอีกได้ในปีหน้า ซึ่งน่าจะช่วยให้จีนสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555

ด้วยทิศทางดังกล่าวทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจจีนน่าจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา และกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแรงในปีหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ในปี 2555 และปรับตัวดีขึ้นมาที่ร้อยละ 8.1 ในปี 2556

ในระยะกลาง ... การปฏิรูปประเทศจะถูกสานต่อ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558)

นอกจากการประคับประคองเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการดำเนินงานในระยะสั้นแล้ว การเร่งดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปฏิรูป และเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายสังคมที่มีความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในระยะยาว ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของผู้นำรุ่นใหม่ที่จะต้องสานต่อเช่นกัน โดยแนวทางการออกนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ในระยะข้างหน้า จะต้องมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) ซึ่งถูกวางไว้ตั้งแต่สมัยผู้นำรุ่นปัจจุบัน เพื่อเป็นแกนหลักของการกำหนดมาตรการต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจไปจนถึงปี 2558 โดยแนวนโยบายสำคัญ ดังนี้

•การบริโภคในประเทศเป็นองค์ประกอบหลักที่ต้องการส่งเสริม เพื่อลดการพึ่งพาภาคการส่งออกที่อ่อนไหวต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เห็นได้จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านการอุดหนุนการซื้อรถยนต์/เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ที่ออกมาในปี 2555 และเป้าหมายระยะกลาง ในการตั้งเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปีระหว่างปี 2554-2558 พร้อมกับเร่งยกระดับรายได้ของผู้คนในเขตเมืองและชนบทเฉลี่ยกว่าร้อยละ 7 ต่อปี เพื่อกระตุ้นให้การบริโภคของชาวจีนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว

•ภาคบริการได้รับการส่งเสริมให้เพิ่มบทบาททั้งในประเทศจีนเอง และการออกไปให้บริการในตลาดโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มของการผลิตของประเทศ ทดแทนกิจกรรมในภาคการผลิตบางส่วนที่ล้าสมัยและมีมูลค่าเพิ่มต่ำ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วิสาหกิจของจีนในต่างประเทศอีกด้วย โดยธุรกิจบริการที่สำคัญที่จีนออกไปให้บริการในต่างประเทศ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง การก่อสร้าง และธุรกิจพลังงาน เป็นต้น

•รัฐบาลมีแนวโน้มส่งเสริมให้ทุนจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนด้านเงินทุน และการให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าต่างๆ ในระดับภูมิภาค และการดึงดูดทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในจีนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยทางการจีนมีแนวโน้มปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ และปรับโครงสร้างภาษี รวมถึงกลไกกำหนดราคาสินค้าทุนให้เอื้อต่อการแข่งขันทางธุรกิจยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมจากการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเก่าซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้ต่ำ เป็นการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มสูง อีกทั้งใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า และก่อมลพิษน้อยกว่า

•รัฐบาลมีนโยบายเน้นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น และเน้นสร้างความมั่นคงทางพลังงาน & พลังงานทางเลือก/ทดแทนมากขึ้น โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนใน 7 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งจะช่วยปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมในจีน สู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ 7 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริม ได้แก่ อุตสาหกรรมประหยัดพลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Energy saving and environmental protection), อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง (High-end manufacturing) เช่น การบิน รถไฟความเร็วสูง, อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ (New materials), อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ (New energy) เช่น นิวเคลียร์ แสงอาทิตย์ พลังลม ชีวมวล, อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด (Clean energy vehicles), อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology), อุตสาหกรรมสารสนเทศสมัยใหม่ (Next generation IT)

สรุป ในการเลือกผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน จากท่าทีที่ค่อนข้างแน่นอนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการวางตัวผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้นำต่อไป ซึ่งได้แก่ นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และนายหลี่ เค่อ เฉียง รองนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งทำหน้าที่ดูแลนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และสิ่งแวดล้อมในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ทำให้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปลี่ยนผ่านตำแหน่งครั้งนี้น่าจะดำเนินไปอย่างราบรื่นและไม่น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายบริหารเศรษฐกิจของประเทศจีนมากนัก เนื่องจาก ว่าที่ผู้นำทั้งสองเป็นคณะทำงานซึ่งใกล้ชิดกับผู้นำรุ่นปัจจุบัน ซึ่งน่าจะช่วยให้การตัดสินใจด้านนโยบายเศรษฐกิจ มีความต่อเนื่องสอดคล้องกับรัฐบาลชุดก่อน

อีกทั้ง จีนมีแผนแม่บทด้านนโยบายเศรษฐกิจซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วเป็นแผนระยะกลาง ได้แก่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) ซึ่งจะต้องได้รับการสานต่อโดยผู้นำรุ่นใหม่ต่อไป โดยนโยบายสำคัญที่จะถูกผลักดันอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มบทบาทการบริโภคและภาคบริการ รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการออกไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจจีน และพร้อมกันนั้น ในระยะสั้น ผู้นำรุ่นใหม่เองก็ต้องมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาสานต่อการดูแลเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

หลังจากที่ล่าสุดเครื่องชี้เศรษฐกิจบางส่วนในเดือนก.ย.และต.ค.2555 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งด้วยเครื่องมือทางการเงินการคลังที่มีอยู่พร้อม น่าจะเปิดโอกาสให้ผู้นำใหม่มีความยืดหยุ่นในการปรับเพิ่มระดับความเข้มข้นของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการออกมาตรการใหม่ๆ ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกปรากฎสัญญาณอ่อนแอกว่าที่คาด

ส่วนในด้านตลาดเงินและตลาดทุนนั้น ประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ท่าทีทางเศรษฐกิจของผู้นำใหม่ของจีนภายหลังที่ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. ทั้งในด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะมีผลต่อหลายตัวแปรทางเศรษฐกิจ

ทั้งการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ที่จีนอาจถูกกดดันให้ผ่อนคลายมากขึ้นหากผู้นำใหม่ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะหยิบยกขึ้นมาสร้างแรงกดดันในประเด็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมอีก ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ เช่น เหล็กและทองแดง ที่อาจมีราคาเพิ่มขึ้นหากผู้นำใหม่ของจีนมีการประกาศเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งยังอาจมีผลกระทบต่อเนื่องยังตัวแปรอื่นๆ ในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง