จับตาทิศทางดีเปรสชั่นลูกใหม่ เคลื่อนผ่านแหลมญวนพรุ่งนี้

สังคม
13 พ.ย. 55
13:30
828
Logo Thai PBS
จับตาทิศทางดีเปรสชั่นลูกใหม่ เคลื่อนผ่านแหลมญวนพรุ่งนี้

ปลายสัปดาห์นี้ประเทศไทยอาจจะได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นกำลังก่อตัวขึ้นที่บริเวณทะเลจีนใต้ และมีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้นักวิชาการด้านภัยพิบัติ คาดการณ์ว่า อาจจะทำให้เกิดฝนตกหนักที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือชุมพร แต่อย่างไรก็ตามนักวิชาการด้านภัยพิบัติบอกว่า พายุลูกนี้อาจจะสลายตัวที่บริเวณแหลมญวน และไม่เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย ถ้าความกดอากาศสูงจากประเทศจีนมีกำลังแรงและพัดพาความหนาวเย็นลงมา

เมื่อคืนที่ผ่านมา(12 พ.ย.)หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ได้พัฒนาเป็นพายุดีเปรสชั่นแล้วในขณะนี้ จากแบบจำลองสภาพอากาศ พบว่า พายุมีทิศทางเคลื่อนที่ผ่านแหลมญวนในวันพรุ่งนี้(13 พ.ย.) หลังจากนั้นจึงเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และขึ้นฝั่งที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือชุมพร ในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ทำให้นักวิชาการด้านภัยพิบัติ คาดการณ์ว่า อาจจะส่งผลให้ทั้ง 2 จังหวัดเกิดฝนตกหนัก

"อาจจะมีน้ำท่วม เพราะลุ่มน้ำในแถบจ.ประจวบคีรีขันธ์และชุมพรเป็นลุ่มน้ำขนาดเล็ก หากให้คาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ก็คิดว่าจะมากกว่า 100 มม. อย่างแน่นอน และเมื่อฝนตกหนัก ก็จะเกิดน้ำท่วมขังได้" ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หน.หน่วยศึกษาพิบัติภัยฯ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

นักวิชาการด้านภัยพิบัติ วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ยังมีโอกาสที่พายุลูกนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากความกดอากาศสูงที่พัดพาความหนาวเย็นลงมาจากประเทศจีน เพราะหากมีกำลังแรง ก็จะทำให้พายุดีเปรสชั่นสลายตัวก่อนถึงประเทศไทย สอดคล้องกับ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่วิเคราะห์ว่า พายุดีเปรสชั่นลูกนี้ อาจจะสลายตัวที่บริเวณแหลมญวน และจะไม่เข้าสู่ประเทศไทย เพราะขาดความชื้นที่เป็นปัจจัยในการพัฒนาตัวของพายุ

<"">
<"">

 

"เราทราบดีอยู่แล้วว่า คาดกดอากาศสูงจากจีนนั้นมาแรง แต่ความชื้นไม่ค่อยมี อีกประการหนึ่งคืออุณหภูมิน้ำทะเลก็ไม่ได้สูงจนพายุจะพัฒนาตัวขึ้นมาได้ รวมถึงลมก็เช่นเดียวกัน ถ้าลมชั้นบนและลมชั้นล่างต่างกันมากก็จะทำให้พายุฟอร์มตัวยาก" รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าว

กรณีที่พายุดีเปรสชั่นขึ้นฝั่งที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ รศ.เสรี เห็นว่า จะส่งผลดี เพราะจะช่วยให้น้ำในเขื่อนต่างๆมีปริมาณเพิ่มขึ้น และสามารถบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งได้ อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามความคืบหน้าทิศทางพายุอีกครั้งในวันพฤหัสบดีนี้(15 พ.ย.)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง