เสียงสะท้อนคน 3จังหวัดชายแดนใต้เสนอใช้เขตปกครองพิเศษ

13 พ.ย. 55
13:41
259
Logo Thai PBS
เสียงสะท้อนคน 3จังหวัดชายแดนใต้เสนอใช้เขตปกครองพิเศษ

เหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้เกิดการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชนที่ต้องการร่วมกันหาทางออกของปัญหานี้ หนึ่งในแนวทางที่กำลังมีการขับเคลื่อนก็คือการผลักดันให้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านจัดเวทีนโยบายสาธารณะชายแดนใต้จัดการตนเอง

                                

<"">

วันหยุดของอับดุลฮาเล็ม สาแลแม ครูโรงเรียนบ้านเกียรติ อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา หมดไปกับการช่วยภรรยาที่เป็นพยาบาลดูแลลูกสาว 2 คนที่ยังเล็ก วันนี้เขายังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่ต้องทำ เพื่อแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเหตุรุนแรงในพื้นที่ผ่านเวทีนโยบายสาธารณะชายแดนใต้จัดการตนเอง โดยหวังว่า จะได้ร่วมสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับความไม่มั่นใจในความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เนื่องจากที่ผ่านมาเหตุรุนแรงมักเกิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เวทีที่จัดขึ้นครั้งนี้ต่างไปจากที่ผ่านมา เพราะเป็นการหาทางออกโดยการเลือกรูปแบบโครงสร้างการปกครอง
                          
<"">

นายอับดุลฮาเล็ม สาแลแม ชาว อ.รามัญ จ.ยะลา กล่าวว่า "ก่อนการเข้ามาร่วมเสวนามีความคาดหวังแต่เดิมคือคิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เกี่ยวกับความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ปากท้อง รายได้ พอมาถึงก็เป็นเรื่องที่ไกลตัวหน่อย แต่ก็เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ทุกคนได้ร่วมแสดงความเห็นว่าต้องการแบบใด"

รูปแบบการปกครองที่ถูกยกมาเป็นทางเลือกให้ตัวแทนประชาชนหลากหลายอาชีพร่วมพิจารณา ได้มาจากแนวคิดภาคประชาสังคมที่ร่วมกันกำหนด 6 รูปแบบการปกครองที่จะใช้ในพื้นที่พิเศษคล้ายกับกรุงเทพฯและพัทยา คือ แบบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้หรือ ศอ.บต.ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน แบบทบวง ที่อำนาจสั่งการขึ้นตรงกับรัฐมตรี

<"">
<"">

แบบ 3 นคร 2 ชั้น ที่มีผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้งเป็นรายจังหวัด โดยคงเทศบาลและอบต.ไว้ แบบ 3 นคร 1ชั้น ที่รูปแบบคล้ายกัน แต่ยกเลิก อบจ.,เทศบาลและ อบต.

แบบมหานคร 2 ชั้น และแบบมหานคร 1 ชั้น ซึ่งจะมีการรวมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไว้ด้วยกัน โดยมีผู้ว่าฯเพียงคนเดียว และต่างกันตรงการยกเลิกและคงไว้ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่น แต่หากตัวแทนประชาชนไม่เห็นด้วยกับทั้ง6 รูปแบบก็สามารถเสนอรูปแบบอื่นเพิ่มได้ โดยภาคประชาชน ส่วนหนึ่งเชื่อว่า หากมีรูปแบบการปกครองที่มีความเหมาะสมตามความต้องการของคนในพื้นที่ จะช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้
                                    

<"">

สมพร สังข์สมบูรณ์ สมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ระบุว่า "รูปแบบในช่วงหลัง คือ การปกครองจำเป็นต้องลดอำนาจรัฐทั้งปัจเจกและนโยบายมากขึ้น เพิ่มอำนาจประชาชนให้มากขึ้น โดยมีสภาที่เกิดจากประชาชนที่แท้จริง และมีคณะประสานงานระหว่างส่วนภูมิภาคและรัฐบาลกลาง โดยมีประชาชนจากฐานรากเป็นคณะกรรมการซึ่งทราบถึงบริบทและวัฒนธรรม "
                                   
<"">

ขณะที่ รอมฎอน ปันจอร์ ผู้ปฎิบัติการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า "สิ่งที่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังทำหน้าที่ของมันคือ ทำให้ความรุนแรงกินพื้นที่ในการแสดงความเห็นให้ถูกจำกัด กระบวนการที่ทำให้ประชานในแสดงความเห็น ความคิด สิ่งที่พวกเขาคาดหวังอย่างปลอดภัยเพียง ตรงไปตรงมา กระบวนการเหล่านี้ถือว่าสำคัญมากหรืออาจจะสำคัญกว่าตัวเนื้อหา แต่แน่นอนว่าเนื้อหาก็คงสำคัญ ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาจะได้น้ำหนักหากไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น"

เวทีนโยบายสาธารณะชายแดนใต้จัดการตนเอง จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานปฎิรูปหรือ สปร. เพื่อขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางแก้ปัญหาเหตุรุนแรงในภาคใต้ โดยมีเป้าหมายจัด 200 เวที ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งข้อสรุปที่ได้การจัดเวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ปัญหาที่ภาค ประชาชนในพื้นที่จะเสนอต่อรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง