นักวิชาการ เตรียมยื่นเรื่องขอความร่วมมือ "กสทช." ช่วยควบคุมเนื้อหาที่แฝงอคติทางเพศ

สังคม
6 ธ.ค. 55
14:27
179
Logo Thai PBS
นักวิชาการ เตรียมยื่นเรื่องขอความร่วมมือ "กสทช." ช่วยควบคุมเนื้อหาที่แฝงอคติทางเพศ

นักวิชาการ ชี้ สื่อยังผลิตซ้ำ "ความรุนแรง-อคติทางเพศ" เห็นได้ชัดในซิทคอม แม้ตลก แต่มีแฝงอคติเรื่องเพศมาก ขณะที่แนะให้เปิดเวทีแลกเปลี่ยน หามุมมองใหม่เรื่องเพศให้หลากหลาย อีกทั้ง เตรียมยื่นเรื่องขอความร่วมมือกสทช. ควบคุมเนื้อหา

มีเดียมอนิเตอร์ และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง " สื่อกับการผลิตซ้ำ ความรุนแรงและอคติทางเพศ" ปรากฏการณ์ความรุนแรงและอคติทางเพศ ผ่านทางละครซิทคอมของฟรีทีวีในประเทศไทย รวมถึงการเสนอข่าวบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ในประเด็นเรื่องของเพศ โดยพบว่า การนำเสนอของสื่อในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก เช่น ความรุนแรงในครอบครัว, การที่ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่ไร้เหตุผล เอาแต่ใจ ตลอดจนการอคติต่อเพศหญิงแบบเหมารวม เช่น เด็กที่ท้องไม่พร้อม และทิ้งลูกตัวเองเป็นผู้หญิงใจแตก หรือ ผู้หญิงต้องการสวยจนขาดสติ

แต่ทั้งนี้ ระบุว่า การนำเสนอของสื่อในประเด็นเรื่องการค้าประเวณี และการความหลากหลายทางเพศนั้นมีมากขึ้น โดยมีการเจาะลึกปัญหา และสร้างความเข้าใจในสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีกลุ่มองค์กรออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องด้วย

นอกจากนี้ ภาพรวมการนำเสนอในกลุ่มของเพศหญิง และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ยังคงถูกนำเสนอด้วยอคติ และมุมมองที่จำกัด โดยการนำเสนอของละครซิทคอมปัจจุบัน ผู้หญิงมักได้รับความสำคัญในฐานะคนรักของผู้ชาย และจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชาย ขณะที่กลุ่มของชายรักเพศเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นเพียงตัวประกอบ เพื่อเรียกเสียงหัวเราะ และทำให้มองว่าเป็นคนหมกมุ่นเรื่องเพศ

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การผลิตซ้ำนั้น ในบางครั้งอาจจะทำไปด้วยความไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการแบ่งปันกันในสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของวัฒนธรรมทางเพศที่มีความรุนแรง เช่น การยึดเป็นแนวปฏิบัติว่า หัวหน้าจะต้องเป็นผู้ชาย โดยรศ.กฤตยา ได้ยกตัวอย่าง กรณีที่การนำเรื่องเพศมาให้เพื่อการโจมตี หรือลดทอนคุณค่าของเพศลงไป ได้แก่ การเขียนการ์ตูนล้อเลียนนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงในแง่ชู้สาว ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชาย เรื่องดังกล่าวจะไม่ถูกนำมาเป็นประเด็นทางสังคม หรือกรณีที่ร้านหนังสือปฏิเสธจำหน่ายขายหนังสือที่เพศที่โจ่งแจ้ง และรักเพศเดียว เป็นต้น

<"">

ทั้งนี้ รศ.กฤตยา ได้เสนอแนะว่า ควรมีการตั้งคำถามกับวัฒนธรรมทางเพศ เพื่อก่อให้เกิดแนวทางใหม่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีหลายมิติ รวมถึงควรมีการวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอข่าวของสื่อด้วยกันเองด้วย

ขณะที่รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า สาเหตุที่เลือกศึกษาละครซิทคอม ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นละครที่มีความตลก แต่เป็นละครที่มีการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์มากที่สุด ทั้งนี้ การผลิตซ้ำสามารถสะท้อนได้ถึงกรอบของสังคมที่ยังถูกจำกัดว่า ทุกอย่างต้องเป็นขาว-ดำ หรือต้องแบ่งขั้ว และยังคงแฝงไปด้วยอคติในการนำเสนอ เช่น การใช้ภาษา หรือการมองว่าความรุนแรงในสังคมเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ซึ่งควรจะมีพื้นที่ให้กลุ่มคนทุกคนได้แลกเปลี่ยนกัน

รศ.วิลาสินี ยังกล่าวอีกว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. เข้ามามีบทบาทในการควบคุมเนื้อหาร่วมกัน กับองค์กรอื่น ๆ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยลดปัญหาดังกล่าว ซึ่งก็เตรียมที่จะยื่นเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการกสทช.ด้วย รศ.วิลาสินี ยังย้ำอีกว่า การสื่อสารนั้น มีทั้งผู้รับและผู้ส่งสาร ซึ่งผู้รับสารจำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงต้องรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่สื่นำเสนอให้มาก ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ควรมีการนำประเด็นเรื่องของเพศมาใช้เพื่อโจมตี หรือลดทอนคุณค่าของเพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งหากสามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อในเรื่องดังกล่าวได้ จะสามารถสร้างกรอบวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา

น.ส.อาภาณี มิตรทอง นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพคนสตรีพิการ กล่าวถึงการนำเสนอของสื่อว่า ไม่ควรเสนอข่าว หรือใช้คำพูดในการเชิงตอกย้ำถึงความพิการ ที่เชื่อมโยงไปยังเรื่องของเวรกรรม เช่น หญิงพิการถูกข่มขืน หรือชายพิการมีความรู้กสึกรักแบบชายรักชาย เพราะถือเป็นการใช้อคติอย่างรุนแรง ขณะที่ น.ส.ทัศนวรรณ บรรจง มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท แสดงความเห็นว่า ควรมีการบรรจุเรื่องเพศในหลักสูตรนิเทศศาสตร์ เนื่องจากว่า สื่อถือเป็นผู้ผลิตที่ควรมีความรับผิดชอบ และมีมุมมองที่หลากหลายในเรื่องเพศอย่างกว้างขวาง

ความหมายของคำว่า ละครซิทคอม (situation comedy) มีลักษณะ คือ ตัวละครจะอยู่ในสถานการณ์จำลองเดียวกันจากตอนหนึ่งไปตอนถัดไป สถานการณ์จำลองมักจะเป็นในครอบครัว ที่ทำงาน หรือ ในวงเพื่อน มุกตลกในซิตคอมมีหลากหลาย แต่ปกติแล้วจะมีลักษณะเป็นแบบตัวละครนำเรื่องไป (character-driven) นำมาซึ่งการใช้ running gags (มุกซ้ำๆประจำตัวละคร ย้ำเรื่อยๆตลอดเรื่อง)

และเพื่อที่จะรักษาสถานการณ์ให้คงที่ตลอดจำนวนตอนที่มากมาย ในซิตคอมต่างๆ ตัวละครจึงมักมีความเป็นไปที่คงที่ (เช่น ถ้าเป็นเรื่องความรัก ก็จะไม่มีความคืบหน้าของความรักในแต่ละตอนมากนัก ทำให้ความสัมพันธ์ของตัวละครคงเดิม) เหตุการณ์ในแต่ละตอนก็จะมีบทสรุปภายในตอน และมีไม่บ่อยนักที่จะเกี่ยวโยงข้ามตอน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง