ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก CVI "โรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง" ที่หลายคนมองข้าม

ไลฟ์สไตล์
17:15
117
รู้จัก CVI "โรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง" ที่หลายคนมองข้าม
ปธน.ทรัมป์ ถูกวินิจฉัยเป็นโรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) หลังพบขาบวมเล็กน้อย แพทย์ยืนยันไม่รุนแรงและไร้ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน กระตุ้นความสนใจในโรคที่อาจกระทบคุณภาพชีวิตหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

วันนี้ (18 ก.ค.2568) ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกวินิจฉัยเป็นโรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (Chronic Venous Insufficiency - CVI) หลังพบอาการขาบวมเล็กน้อย จุดกระแสความสนใจต่อภาวะนี้ที่มักถูกมองข้าม แพทย์ประจำตัวของทรัมป์ยืนยันว่า อาการดังกล่าวไม่รุนแรงและเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยไม่มีหลักฐานของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis - DVT) หรือโรคหลอดเลือดแดงใด ๆ

การวินิจฉัยนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจ CVI ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิต หากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม 

อ่านข่าว : "ทรัมป์" มือ-ขาบวมจากภาวะหลอดเลือดดำบกพร่อง

รู้จักโรคหลอดเลือดดำ ขาหนัก ขาบวม สัญญาณเตือน CVI

ข้อมูลจาก Cleveland Clinic โรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) เกิดจากการที่ลิ้นในหลอดเลือดดำที่ขา ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับและคั่งอยู่ในขา เพิ่มความดันในหลอดเลือดดำ ซึ่งนำไปสู่อาการต่าง ๆ เช่น ขาเมื่อยล้า รู้สึกหนัก แสบร้อน คัน หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่ม ตะคริวตอนกลางคืน ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลแดง ผิวลอกหรือคัน เส้นเลือดขอด ในกรณีรุนแรงอาจเกิดแผลเปิดใกล้ข้อเท้าที่หายยากและเสี่ยงติดเชื้อ

CVI อาจเกี่ยวข้องกับหลอดเลือดดำประเภทต่าง ๆ เช่น หลอดเลือดดำลึก หลอดเลือดดำตื้น หลอดเลือดดำทะลุ รวมถึงหลอดเลือดฝอย และเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ

สาเหตุของ CVI เกิดได้ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในร่างกาย ความผิดปกติแต่กำเนิด การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดดำ เช่น หลอดเลือดกว้างเกินไป หรือจากภาวะทุติยภูมิ เช่น DVT ซึ่งประมาณร้อยละ 20-50 ของผู้ป่วย DVT อาจพัฒนาเป็นกลุ่มอาการหลังลิ่มเลือดอุดตัน (Post-thrombotic Syndrome) อันเป็นรูปแบบหนึ่งของ CVI

ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติ DVT เส้นเลือดขอด โรคอ้วน การตั้งครรภ์ ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การนั่งหรือยืนนาน อายุเกิน 50 ปี และส่วนใหญ่เกิดในเพศหญิง

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

แนวทางการวินิจฉัย รักษา CVI

CVI โดยทั่วไปไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่เป็นโรคที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เจ็บปวด และลดคุณภาพชีวิต หากไม่รักษา ความดันในหลอดเลือดดำที่เพิ่มสูงอาจทำให้หลอดเลือดฝอยแตก ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลแดง และเกิดแผลเรื้อรังที่หายยากและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงหากไม่รักษาทันที ผู้ป่วย CVI ยังมีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเกิด DVT เนื่องจากเลือดคั่งอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะอันตรายถึงชีวิต

การวินิจฉัย CVI มักทำผ่านการตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณ เช่น แผลหรือการเปลี่ยนสีผิว และการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์หลอดเลือด ซึ่งเป็นวิธีไม่เจ็บปวดที่ใช้คลื่นเสียงสร้างภาพหลอดเลือดดำเพื่อแสดงส่วนที่เสียหาย แพทย์อาจใช้การตรวจ MRI Magnetic Resonance Venography (MRV) หรือ Computed Tomography Venography (CTV) เพื่อแยกโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกัน

การรักษา CVI มุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการบำบัดด้วยการรัด แต่หากมาตรการเหล่านี้ไม่เพียงพอ แพทย์อาจแนะนำการทำหัตถการหรือการผ่าตัด เป้าหมายของการรักษาคือช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นในหลอดเลือดดำ ช่วยให้แผลหายและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ ปรับปรุงรูปลักษณ์ของผิวหนัง และลดอาการปวดและบวม

  • การยกขาให้สูง ให้อยู่เหนือระดับหัวใจสามารถช่วยลดความดันในหลอดเลือดดำที่ขาได้
  • การออกกำลังกาย การเดินและการออกกำลังกายรูปแบบอื่น ๆ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นในหลอดเลือดดำขา กล้ามเนื้อน่องทำหน้าที่เหมือน "หัวใจดวงที่ 2" ในการสูบฉีดเลือดกลับสู่หัวใจ
  • การควบคุมน้ำหนัก น้ำหนักส่วนเกินสามารถสร้างแรงกดดันต่อหลอดเลือดดำและทำลายลิ้นได้
  • หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน
  • ตรวจเช็กผิวหนัง เป็นประจำ
  • ดูแลสุขอนามัยผิวที่ดี ล้างและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวทุกวัน

การบำบัดด้วยการรัด (Compression Therapy) เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำบ่อยที่สุดสำหรับ CVI ช่วยลดอาการบวมและไม่สบายขา มีหลายประเภท เช่น ถุงน่องแบบรัด และผ้าพันแผลแบบรัด แต่ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (PAD) ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษกับการบำบัดด้วยการรัด

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ยาที่ใช้รักษา CVI ได้แก่

  • ยาปฏิชีวนะ สำหรับรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือแผลที่เกิดจาก CVI
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือ "ยาละลายลิ่มเลือด" ใช้รักษาและป้องกันลิ่มเลือดในอนาคต
  • ผ้าพันแผลยา เช่น Unna boot
  • ยาเวโนแอคทีฟ (Venoactive drugs - VADs)

การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด (Nonsurgical Treatment)

  • Sclerotherapy แพทย์จะฉีดสารละลายที่เป็นโฟมหรือของเหลวเข้าไปในเส้นเลือดฝอยหรือเส้นเลือดขอด ทำให้เส้นเลือดนั้นยุบตัวหรือหายไป
  • Endovenous Thermal Ablation การใช้เลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงสร้างความร้อนรุนแรงเพื่อปิดหลอดเลือดที่เสียหาย
  • Chemical Adhesive การฉีดสารยึดติดเข้าไปในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปิด
  • Mechanochemical Ablation (MOCA) เป็นเทคนิคที่ใช้ลวดสั่นสะเทือนทำลายเยื่อบุหลอดเลือดพร้อมกับการฉีดสารเคมีเพื่อทำให้หลอดเลือดฝ่อ

การผ่าตัด (Surgical Treatment)

  • Ligation and Stripping ตัดและผูกหลอดเลือดดำที่มีปัญหา และนำหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ออก
  • Microincision/Ambulatory Phlebectomy การเอาเส้นเลือดขอดใกล้ผิวหนังออกผ่านแผลเล็ก ๆ หรือรอยเจาะด้วยเข็ม
  • Subfascial Endoscopic Perforator Surgery (SEPS) การใช้คลิปปิดหลอดเลือดดำทะลุที่เสียหายเหนือข้อเท้า
  • Vein Bypass คล้ายกับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ โดยแพทย์จะนำส่วนหนึ่งของหลอดเลือดดำที่ดีจากส่วนอื่นของร่างกายมาใช้เพื่อเปลี่ยนเส้นทางการไหลเวียนของเลือดรอบหลอดเลือดดำที่เสียหาย วิธีนี้ใช้ในกรณีที่รุนแรงมากเท่านั้น
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

ความแตกต่างระหว่าง CVI และ DVT

CVI - ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง 

  • โรคเรื้อรังที่เกิดจากลิ้นในหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ อาจจากความผิดปกติแต่กำเนิด หลอดเลือดขยายผิดปกติ หรือภาวะทุติยภูมิ เช่น จาก DVT ทำให้เลือดคั่งในขา นำไปสู่อาการบวม เมื่อยล้า ตะคริวตอนกลางคืน ผิวเปลี่ยนสี เส้นเลือดขอด หรือแผลเรื้อรัง
  • ไม่รุนแรงถึงชีวิต แต่ลดคุณภาพชีวิตจากอาการปวด บวม และแผลเรื้อรัง เสี่ยงติดเชื้อหรือ DVT ในภายหลัง
  • วินิจฉัยโรคด้วยการตรวจร่างกายหาสัญญาณ เช่น การเปลี่ยนสีผิวหรือแผล และอัลตราซาวนด์เพื่อดูการไหลย้อนของเลือด
  • การรักษา มุ่งลดอาการบวมและป้องกันแผล ด้วยการยกขา ถุงน่องรัด ยาเวโนแอคทีฟ หรือหัตถการ เช่น Sclerotherapy

DVT - ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก

  • ภาวะเฉียบพลันจากลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดดำส่วนลึก มาจากปัจจัย เช่น การนั่งนาน ขาดการเคลื่อนไหว หรือภาวะเลือดแข็งตัวง่าย ซึ่งอาจหลุดไปอุดตันที่ปอดได้ (Pulmonary Embolism - PE)
  • มีอาการปวด บวม แดง หรือร้อนบริเวณขา มักเกิดฉับพลัน อาจไม่มีอาการในบางกรณี
  • อันตรายถึงชีวิตได้หากลิ่มเลือดหลุดไปปอด และอาจนำไปสู่ CVI ในระยะยาว
  • วินัจฉัยโดยการอัลตราซาวนด์ เพื่อตรวจหาลิ่มเลือด 
  • การรักษา เน้นป้องกันลิ่มเลือดลุกลามด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือในกรณีรุนแรงอาจต้องผ่าตัด
  • DVT เป็นสาเหตุหนึ่งของ CVI แต่ CVI ไม่จำเป็นต้องเกิดจาก DVT เสมอไป
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ทั้งนี้ CVI เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ถูกประเมินต่ำเกินไป โดยพบใน 1 ใน 20 ของผู้ใหญ่ และพบบ่อยในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี โดยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่มีเส้นเลือดขอด ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของ CVI

National Library of Medicine ระบุในด้านเศรษฐกิจ ค่ารักษาโรคหลอดเลือดดำในฝรั่งเศสและเบลเยียมเมื่อปี 2538 คิดเป็นร้อยละ 2-2.6 ของงบประมาณการดูแลสุขภาพ แสดงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ การตรวจพบและรักษา CVI ตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก การวินิจฉัยของทรัมป์จึงเป็นโอกาสให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและส่งเสริมสุขภาพโดยรวม

รู้หรือไม่ : ภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (CVI) ไม่ใช่ "เส้นเลือดขอด" โดยตรง แต่เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดเส้นเลือดขอดได้

ที่มาแหล่งข้อมูล : Cleveland Clinic National Library of Medicine

อ่านข่าวอื่น :

"มัทฉะ" ทำไมต้องดื่มเพียว ถึงได้สุขภาพ ดีต่อร่างกายอย่างไร

อนุสัญญาออตตาวา ห้ามใช้ สะสม ผลิต ถ่ายโอน "ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล"