วงการบันเทิงในสหรัฐฯ ร่วมไว้อาลัยเหตุกราดยิงในโรงเรียน

Logo Thai PBS
วงการบันเทิงในสหรัฐฯ ร่วมไว้อาลัยเหตุกราดยิงในโรงเรียน

วงการบันเทิงในสหรัฐฯ พร้อมใจปรับหลายรายการให้มีเนื้อหาเหมาะสมกับช่วงเวลาที่ทั่วประเทศกำลังไว้อาลัยกับเหตุโศกนาฏกรรมกราดยิงในโรงเรียนอนุบาล เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

Silent Night บทเพลงที่มักได้ยินในงานฉลองคริสต์มาส นำมาแสดงเร็วกว่ากำหนดในรายการ Saturday Night Live เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และเปลี่ยนเนื้อหารายการแนวตลกล้อเลียนให้ดูสำรวมมากขึ้น เป็นหนึ่งในการไว้อาลัยของวงการบันเทิงสหรัฐฯต่อการสูญเสียจากเหตุโศกนาฏกรรมกราดยิงในโรงเรียนประถมแซนดีฮุก รัฐคอนเนตทิคัต

สถานีโทรทัศน์ในสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนผังออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่คนทั้งชาติอยู่ในความเศร้าโศก โดย Fox ได้ระงับฉายการ์ตูน 2 เรื่องในวันอาทิตย์ คือ Family Guy ในตอนที่มีการดัดแปลงเรื่องราวการประสูติของพระเยซู และ American Dad ที่มีฉากปีศาจลงโทษเด็กดื้อในวันคริสต์มาส

ส่วนวงการภาพยนตร์มีการเลื่อนฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์ ทั้ง Parental Guidance หนังตลกเกี่ยวกับครอบครัว และ Jack Reacher หนังแอ็คชั่นของ ทอม ครูซ ที่เปิดฉากด้วยการลอบสังหารเหยื่อ 5 รายในสนามเบสบอลโดยฝีมือนักแม่นปืน

เจมี ฟ็อกซ์ นักแสดงนำจาก Django Unchained กล่าวว่า ความรุนแรงในสื่อมีอิทธิพลต่อสังคมซึ่งวงการฮอลลีวูดต้องยอมรับ ต่างจากความเห็นของ เควนติน ทาแรนติโน ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่กล่าวว่า หนังที่มีเนื้อหาเข้มข้นของเขามักกลายเป็นแพะรับบาปทุกครั้งที่มีการสูญเสีย โดยปัจจุบันยังไม่มีกลักฐานทางวิชาการใดๆ ยืนยันว่าความรุนแรงในสื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ประเด็นที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องคือการปรับปรุงกฎหมายการครอบครองปืนของชาวอเมริกันที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง โดยสุดสัปดาห์ที่ผ่านคนดังฮอลลีวูดต่างโพสต์ข้อความสนับสนุนให้ผู้นำสหรัฐฯเผชิญหน้ากับสมาคมไรเฟิลแห่งชาติ ซึ่งมีอิทธิพลสูงในสหรัฐฯเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองฝั่งรีพับลิกัน ซึ่งคัดค้านการจำกัดสิทธิครอบครองปืนของชาวอเมริกัน

หนึ่งในผู้วิจารณ์การพกปืนอย่างเสรี คือ ไมเคิล มัวร์ เจ้าของผลงานสารคดี Bowling for Columbine ซึ่งมีฉากที่เขาได้ปืนไรเฟิลอย่างง่ายดายเพียงไปเปิดบัญชีในธนาคารเล็กๆ ในรัฐมิชิแกน สารคดียอดเยี่ยมของออสการ์ปี 2003 นี้ได้สำรวจว่าขณะที่ชาวเยอรมันฟังดนตรีที่รุนแรงกว่าชาวฝรั่งเศสนิยมดูหนังที่มีความรุนแรง และชาวญี่ปุ่นเล่นเกมที่รุนแรงกว่า แต่สถิติอาชญากรรมด้วยปืนกลับน้อยกว่าในสหรัฐฯเกือบ 30 เท่า ซึ่งยืนยันว่าโอกาสที่สามารถพกปืนได้อย่างเสรี คือต้นเหตุของความรุนแรงในสหรัฐฯวันนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง