"เหมายัน" วันสำคัญทางดาราศาสตร์ วันที่กลางคืนยาว-กลางวันสั้น

สิ่งแวดล้อม
21 ธ.ค. 55
02:47
13,641
Logo Thai PBS
"เหมายัน" วันสำคัญทางดาราศาสตร์ วันที่กลางคืนยาว-กลางวันสั้น

วันเหมายันนั้นจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันสำคัญทางดาราศาสตร์ แต่มีบางคน นำไปกล่าวอ้าง เชื่อมโยงกับเรื่องวันสิ้นโลก ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

"เหมายัน" คือ วันที่กลางคืนยาวที่สุด กลางวันสั้นที่สุด สำหรับด้านซีกโลกเหนือ โลกของเรามีแกนหมุนที่ขั้วโลกโลกเหนือทำมุมเอียง 23.5 องศา

เมื่อโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์มาจนถึงช่วงฤดูหนาว ซีกโลกเหนือเอียงห่างจากดวงอาทิตย์ ทำให้ได้รับแสงอาทิตย์น้อย อากาศเย็น ขณะที่ซีกโลกใต้ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้ได้รับแสงมาก อากาศร้อน จึงเป็นฤดูร้อนของซีกโลกใต้

ทุกๆ ปี มีวันหนึ่งในช่วงวันที่ 20-23 ธันวาคม ซึ่งส่วนใหญ่ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม จะเป็นวันที่แถบซีกโลกเหนือเป็น Winter Solstice หรือ เหมายัน คือกลางคืนยาวนานที่สุด ซึ่งถ้าอยู่บริเวณละติจูด 66.5 องศาเหนือขึ้นไป หรือบริเวณขั้วโลกเหนือ จะอยู่ในความมืดตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่บริเวณ 66.5 องศาใต้ลงไป หรือบริเวณขั้วโลกใต้ จะได้รับแสงอาทิตย์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่าพระอาทิตย์เที่ยงคืนนั่นเอง สำหรับซีกโลกใต้ จะเรียกว่า Summer Solstice หรือ ครีษมายัน เป็นฤดูร้อน บริเวณซีกโลกใต้ มีกลางวันยาวที่สุด กลางคืนสั้นที่สุด

ประเทศไทยอยู่ในแถบซีกโลกเหนือจึงเรียกว่า winter solstice หรือ เหมายัน ซึ่งมาจากคำว่า เหมันต์ ที่แปลว่า ฤดูหนาว สนธิกับคำว่า อายัน ที่แปลว่าการมาถึง ซึ่งอาจมองได้ว่า กลางคืนยาวที่สุด เป็นวันแรกของฤดูหนาว หรืออาจเป็นช่วงกลางของฤดูหนาว แล้วแต่มุมมอง

บ้านเราให้ความสนใจกับวันเหมายันน้อยกว่าชาวยุโรปหรืออเมริกา เพราะเราไม่ได้มี 4 ฤดูกาล และที่สำคัญคือประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตร มีกลางคืนนานน้อยกว่าประเทศแถบละติจูดสูงๆ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง