แนะสธ. สปสช. แก้ปัญหาคนไข้แน่นรพ.ขนาดใหญ่

สังคม
21 ธ.ค. 55
08:50
113
Logo Thai PBS
แนะสธ. สปสช. แก้ปัญหาคนไข้แน่นรพ.ขนาดใหญ่

หมอวิจารณ์" แนะ ส่งเสริมป้องกันโรคแก้ปัญหาคนไข้กระจุกตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เผยแพทย์-พยาบาล มีความกดดันในการทำงานสูง ต้องปรับมุมมองใหม่ใช้หลัก "มิติจิตตปัญญา"

 ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช คณะกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และคณะกรรมการกำกับทิศโครงการสร้างเสริมมิติจิตตปัญญาสู่ระบบสุขภาพที่ยั่งยืน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม "SHA Conference & Sharing คุณภาพ คุณค่า คุณธรรม" ว่า ระบบบริการสุขภาพของไทยจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะมีระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการและใช้งบประมาณน้อย แต่ยังคงมีรายละเอียดบางจุดที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ โดยแบ่งเป็นปัญหาในเชิงระบบและปัญหาเชิงบุคคล ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะต้องขับเคลื่อนการแก้ไขไปพร้อมๆกัน
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า

ปัญหาในเชิงระบบ อาทิ การกระจุกตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตรงนี้หน่วยงานหลักอย่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพ ต้องมีส่วนช่วยในการแก้ไข โดยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องของการรักษาพยาบาลตามความใกล้ไกลของสถานพยาบาล และตามความจำเป็นต่างๆ ไม่ใช่เลือกไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่จนทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังต้องสนับสนุนให้มีระบบเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลแม่ข่ายและลูกข่าย เพื่อเพิ่มคุณภาพของระบบบริการและทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะการส่งต่อและรับกลับผู้ป่วย รวมไปถึงต้องหันมาส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเป็นหลักให้มากขึ้น ไม่ได้เน้นที่การรักษาโรคให้ผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว เช่น ต้องรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักการดูแลสุขภาพของตัวเอง การฉีดวัคซีน เป็นต้น

ปัญหาเชิงบุคคลคือ ผู้ให้บริการหรือบุคลากรทางการแพทย์อาจไม่มีความสุขในการทำงาน เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับความกดดันต่างๆ อาทิ ภาระงานเกินกำลังบุคลากรที่มี ขาดแคลนงบประมาณ และยา ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต้องปรับสภาพจิตใจของตนเอง ด้วยการใช้หลักของจิตตปัญญา เพื่อพัฒนาคุณภาพ คุณค่า และคุณธรรมของตนเอง ก็จะช่วยให้ระบบบริการสุขภาพของทุกสถานพยาบาลมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ลดรอยต่อของการบริการ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล

กรรมการกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องทำให้แพทย์ พยาบาล ฯลฯ เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย และอะไรที่เป็นสาเหตุของการป่วย โดยอาจต้องมีการลงพื้นที่ชุมชน และหันมาเน้นในเรื่องของการส่งเสริมป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษาโรคที่เป็นการแก้ปัญหาสุขภาพแบบปลายเหตุ เช่น โรคเรื้อรังนอกจากจะต้องรักษาให้ได้คุณภาพดีแล้ว จะต้องทำเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดอาการลุกลามหรือมีอาการแทรกซ้อน ส่งเสริมการป้องกันเบื้องต้นโดยเข้าไปดูในแต่ละครอบครัวหรือชุมชนว่ามีบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ แล้วไปปรับพฤติกรรมของผู้ที่มีแนวโน้มเพื่อป้องกันการเกิดโรค เป็นต้น
ด้าน นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล

ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวว่า สถาบันฯได้ร่วมมือกับ สสส.จัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน (Sustainable Health Care and Health Promotion Be Appreciation and Accreditation : SHA) เพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ เป็นการผสมผสานแนวคิดการพัฒนาคุณภาพด้วยมิติจิตใจ ใช้มุมมองที่ละเอียดอ่อน ความหมายและคุณค่าของชีวิตเข้าไปในระบบบริการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีโรงพยาบาลนำร่องจำนวน 124 แห่งที่มุ่งอยากเห็นโรงพยาบาลมีความปลอดภัย มีมาตรฐาน ผสมผสานมิติจิตใจของคนทำงาน มีความประณีต ทำงานร่วมกับชุมชนได้ ทำงานอยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเอื้ออาทร ผู้รับบริการและคนทำงานมีความสุข


ข่าวที่เกี่ยวข้อง