ความพร้อมของ "ไทยพีบีเอส" ต่อการก้าวเข้าสู่ทีวีระบบดิจิตอล

เศรษฐกิจ
21 ธ.ค. 55
13:36
238
Logo Thai PBS
ความพร้อมของ "ไทยพีบีเอส" ต่อการก้าวเข้าสู่ทีวีระบบดิจิตอล

การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินที่ กสทช.กำหนดให้มีฟรีทีวีเกิดขึ้นใหม่อีก 48 ช่อง ซึ่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเองเตรียมพร้อมต่อการพัฒนาช่องปัจจุบันให้เข้าสู่ระบบดิจิตอล โดยจะเริ่มทดลองออกกาศในบางพื้นที่ในเดือนมกราคมปีหน้า ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ และเพิ่มศักยภาพขององค์กร ไทยพีบีเอสก็ตั้งใจจะทำช่องไทยพีบีเอส ช่องที่ 2 ให้เกิดขึ้น โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะมากขึ้น รวมทั้งศักยภาพที่มียังทำให้ไทยพีบีเอสสามารถเป็นแม่ข่ายหลักให้สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นมาเช่าอุปกรณ์โครงข่ายเพื่อทำระบบดิจิตอลในอนาคตได้ด้วย

เป็นเวลาเกือบ 5 ปีที่ผู้ชมไทยพีบีเอสสามารถรับชมข่าว และรายการต่างๆ ของสถานีด้วยรูปแบบการแพร่ภาพสัญญาณภาคพื้นดินในระบบอนาล็อกที่ใช้เสาก้างปลา หรือหนวดกุ้ง เหมือนช่องฟรีทีวีทั่วไป ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และด้วยโลกเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งนโยบายของ กสทช.ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านการแพร่ภาพสัญญาณจากอนาล็อก ไปสู่ ระบบที่เรียกว่า ดิจิตอล ภาคพื้นดิน โดยไม่ใช่รูปแบบยิงสัญญาณผ่านดาวเทียม ซึ่งมีจุดเด่นทำให้การดูทีวีมีภาพคมชัดกว่าปัจจุบ้น และยังเพิ่มจำนวนช่องฟรีทีวีได้อีก 48 ช่องในปีหน้า

และในระหว่างที่รอรับใบอนุญาตเป็นทางการจาก กสทช. ไทยพีบีเอสจึงได้ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ทดลองออกอากาศระบบดิจิตอลให้ประชาชนรับชมในเดือนมกราคมปีหน้า ขณะที่สถานีโทรทัศน์โมเดินไนน์ ทีวี และช่อง 11 เอ็นบีที ก็จะทดลองในจังหวัดต่างๆ แตกต่างกันไป โดยทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงคุณภาพ

ในปีหน้า เมื่อฟรีทีวีระบบดิจิตอลเกิดขึ้นอีก 48 ช่อง ฝ่ายเกี่ยวข้องประเมินว่าจะเกิดแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ ซึ่งนอกจากช่องที่มีในปัจจุบันแล้ว ในอนาคต ไทยพีบีเอสก็ตั้งใจทำช่องที่ 2 เพิ่มด้วย เน้นเนื้อหาด้านเยาวชน การศึกษา วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข เป็นหลัก โดยเตรียมงบลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อเป็นแม่ข่ายหลักให้ผู้ประกอบกิจการช่องอื่นเช่าโครงข่ายอุปกรณ์ รวมทั้งการสร้างความแข็งแกร่งด้านเนื้อหาที่ต้องแข่งขันกับทีวีช่องสาธารณะที่จะเกิดขึ้นใหม่อีก 12 ช่อง

ข้อกำหนดของ กสทช.ที่ต้องมีทีวีประเภทสาธารณะ เกิดขึ้นอีก 12 ช่อง แต่นายธวัชชัย จิตภานันทน์ หนึ่งในกรรมการ กสทช. และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลเห็นสอดคล้องว่าไทยพีบีเอสมีความได้เปรียบคู่แข่งในตลาดทีวีดิจิตอล เพราะเป็นสื่อสาธารณะอยู่แล้ว และการมีทีวีสาธารณะ รวม 12 ช่องจะทำให้เกิดกลุ่มผู้ชมเฉพาะมากขึ้นด้วย

การให้บริการประเภททีวีสาธารณะที่มี 12 ช่อง เป็นหนึ่งใน 3 กลุ่มประเภทที่ กสทช.กำหนดไว้ โดยกลุ่มชุมชน และสาธารณะสามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการกับ กสทช.ได้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจอีก 24 ช่อง จะต้องประมูลแข่งกันเท่านั้น โดยแผนเปลี่ยนผ่านดิจิตอลทีวีแบ่งเป็น 3 ระยะ แบบค่อยเป็นค่อยไปควบคู่กับระบบอนาล็อก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคที่รับชมโทรทัศน์ได้กว่า 20 ล้านครัวเรือน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง