ท่องเที่ยวกับวัฒนธรรม

Logo Thai PBS
ท่องเที่ยวกับวัฒนธรรม

ส่งท้ายปลายปีด้วยแนวคิดควบรวมงานท่องเที่ยวให้มาอยู่รวมกับวัฒนธรรมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เท่าที่ผ่านมาบทเรียนของการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวทำให้หลายแห่งต้องเผชิญกับวิกฤต และเป็นแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ว่าจะเกิดการควบรวม 2 กระทรวงนี้หรือไม่

เพียงไม่ถึงสัปดาห์ เรือนแถวไม้อายุเกือบ 100 ปี ที่สุนีย์ ณรงค์ฤทธิ์ เช่าอาศัยเป็นที่ค้าขายริมคลองอัมพวามากว่าครึ่งชีวิตถูกรื้อถอนเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงฉากหน้าบ้านแทนความทรงจำเรือนแถวไม้ 12 หลัง พอให้เห็นโครงสร้างเดิมที่มีประตูบานเฟี้ยมเป็นเอกลักษณ์ ย้อนไปยังใจหายเสียดายบ้านเก่า แต่จำยอมเปลี่ยนจากวิถีที่เคยเป็น เช่นเดียวกับหลายครอบครัวที่ถูกไล่รื้อ เพื่อปรับปรุงพื้นที่รองรับโครงการชูชัยบุรีศรีอัมพวา

หากแบบอาคารสถาปัตยกรรมยุโรป สูงถึง 5 ชั้น ของโครงการฯ ขัดกับเรือนไม้ริมน้ำ สวนผลไม้ ซึ่งเป็นนิเวศวัฒนธรรมเดิม ทำให้คนในพื้นที่รวมพลังค้านโดยขอให้ลดขนาด หรือปรับให้กลมกลืนกับเมืองอัมพวา จนถึงวันนี้ยังคงอยู่ระหว่างระงับโครงการชั่วคราว เพื่อทำความเข้าใจหาข้อสรุปร่วมกัน

สุนีย์ ณรงค์ฤทธิ์ ชาวบ้าน ชุมชนอัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมคงไม่ได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้มีความสุขเหมือนเดิมแล้ว เมืองที่เราเคยอยู่แบบสงบทำไร่ทำสวนมันหายไป 

เดิมอัมพวามีพื้นที่เกษตรกว่า 87,000 ไร่ จากเนื้อที่ 106,000 ไร่ ระยะหลังที่ดินถูกจัดสรรไปทำธุรกิจท่องเที่ยวทั้งรีสอร์ต ที่พัก ร้านอาหาร ขณะที่แผนรองรับปัญหาจากความแออัดของนักท่องเที่ยวยังไม่ชัดเจน การมุ่งหวังทำกำไรในพื้นที่ มากกว่าเดินตามแนวคิดเดิมที่เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมยั่งยืน นำความเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่ชุมชนชาวสวนคลอง นับวันสิ่งที่เห็นยิ่งห่างไกลกับวิถีดั้งเดิมอัมพวา
 
มานะชัย ทองยัง นักอนุรักษ์เครือข่ายประชาคมรักแม่กลอง กล่าวว่า จริงๆ เราไม่ได้ปิดว่าการลงทุนจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่อย่าใจร้อน ต้องมาศึกษากับชุมชนก่อน แต่อย่าทำให้อัมพวาเป็นเหมือนๆ กับที่ทั่วไป ดูๆ แล้วจะเหมือนเซเว่นไปที่ไหนก็มีเหมือนกัน

เกือบ 10 ปีที่ฟื้นคืนตลาดน้ำอัมพวา ทำให้สมุครสงคราม เป็นที่หมายของนักท่องเที่ยวในวันสุดสัปดาห์ ด้วยเสน่ห์ของเรือนริมคลอง รวมทั้งยังเป็นแหล่งสินค้าประมง และอาหารพื้นบ้าน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตควบคู่กับการลงทุนเพื่อการท่องเที่ยวมาตลอด และการค้านการสร้างอาคารสูงที่ทำให้เกิดการไล่รื้อเรือนแถวไม้ 12 หลัง เป็นตัวอย่างความเจริญที่ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมออกแบบ ซึ่งเป็นลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายเมืองท่องเที่ยว

การขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เปลี่ยนวิถีท่องเที่ยวปาย ให้คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะฤดูหนาวมีผู้มาเยือนปายวันละไม่น้อยกว่า 100,000 คน เกินกว่าเมืองเล็กๆ จะรองรับได้

ปัญหาการสูญเสียอัตลักษณ์เมืองเดิม เนื่องจากธรรมชาติแวดล้อมและวิถีผู้คนเปลี่ยนแปลง ยังเกิดขึ้นกับเมืองท่องเที่ยวสำคัญมานาน ทั้งเชียงใหม่ เชียงคาน สมุย  และอีกหลายแห่ง ซึ่งเกิดจากการใช้ทุนทางวัฒนธรรมในฐานะสินค้า    

ผศ.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวว่า การไม่ขายเมืองท่องเที่ยวไปในรูปของสินค้า แต่สร้างความเข้าใจให้กับทั้งคนพื้นที่ และนักท่องเที่ยวเรียนรู้ร่วมกัน

หลายประเทศทั่วโลกเห็นความสำคัญ และมูลค่าของงานวัฒนธรรม โดยตั้งหน่วยงานรับผิดชอบโดยใช้วัฒนธรรมนำการท่องเที่ยว ตัวอย่างผู้ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรื่องนี้คือเกาหลี  หากแต่บทเรียนส่วนใหญ่ที่ผ่านมากลับตีค่าวัฒนธรรมในฐานะสินค้า ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์มูลค่าทางการท่องเที่ยว  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง