"เอกชน-สถาบันอาชีวะ"ร่วมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับนโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวัน

1 ม.ค. 56
06:35
98
Logo Thai PBS
"เอกชน-สถาบันอาชีวะ"ร่วมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับนโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวัน

วันนี้ (1 ม.ค.) ถือว่าเป็นวันแรกที่ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ จะปรับขึ้นเป็น 300 บาท ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการจะต้องเผชิญปัญหากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่กังวลกัน คือการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานฝีมือในภาคการผลิต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงมีแนวคิดจับคู่ระหว่างสถาบันอาชีวะกับสถานประกอบการ จัดหลักสูตรโรงเรียนในโรงงาน เพื่อให้นักศึกษาพร้อมปฏิบัติงานหลังจบการศึกษา ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม ขณะที่ผู้ประกอบการจะได้แรงงานที่มีฝีมือทันที

4 เดือนข้างหน้า กิตติพศ ฮั้นประเสริฐ นักศึกษา วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม จะสำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. ในสาขาแม่พิมพ์โลหะ พร้อมได้เป็นพนักงานเต็มตัว ในบริษัท เวสเทอร์น โมลด์ เช่นเดียวกับนักศึกษาอีก 8 คน ที่ร่วมโครงการโรงเรียนในโรงงาน หรือการให้นักศึกษา ปวช.เรียนต่อ ปวส.สถาบันอาชีวะของรัฐ ในระบบทวิภาคี ให้ทำงานในโรงงานและเรียนภาคทฤษฎีในวันหยุดและได้เงินเดือนอย่างน้อย 9,500 บาท และมีสวัสดิการเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไป พร้อมได้ทุนการศึกษาในภาคเรียนแรกด้วย

<"">
<"">

โครงการนี้เกิดจากแนวคิดของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สอท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา ที่จะแก้ปัญหาขาดแคลนช่างบางสาขา ซึ่งอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โลหะ เป็นหนึ่งในสาขาที่ประสบปัญหาแย่งตัวช่างในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น บริษัทกว่า 97 แห่ง จึงจับคู่กับสถาบันอาชีวะ เพื่อให้ได้นักศึกษาไปทำงานตามสาขาที่ต้องการ ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการต้องการกำลังคนจากอาชีวะ 5,382 คน สาขาที่มีความต้องการจากสายช่างมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สาขาช่างเชื่อม สาขาเครื่องกล และสาขาไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์ แต่ปัจจุบันนักศึกษาที่เลือกเรียนใน 3 สาขายังมีจำนวนน้อย

แม้ทั้ง 3 สาขาเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าต้องจบสาขาช่างยนต์ เมื่อเลือกเรียนผิด จึงไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

<"">
<"">

นายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวถึง การแก้ปัญหาในระยะยาว ต้องส่งเสริมการเรียนสายอาชีวศึกษามากขึ้น เพราะปัจจุบัน นักเรียนที่จบ มัธยมศึกษาปีที่ 3 ตัดสินใจเรียนต่อสายอาชีวะเพียงร้อยละ 40 แต่เลือกสายสามัญถึงร้อยละ 60 ทั้งที่อัตรางานว่างเกือบครึ่งต้องการผู้จบสายอาชีพ ต่างจากสายสามัญและอุดมศึกษาที่มีสถิติตกงานมากสุด โดยปี 2554 มีมากเกือบ 100,000 คน

จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 2 ปีก่อน มีนักศึกษาร่วมเพียง 20 คน สภาอุตสาหกรรมฯตั้งเป้าหมายในปี 2557 เพิ่มเป็น 20,000 คน และเสนอให้เป็นหลักสูตรบังคับทั้งสถาบันอาชีวะของรัฐและเอกชน เชื่อว่าท้ายสุด ประโยชน์จะตกอยู่ที่ตัวแรงงานเอง ที่จะมีโอกาสต่อรองค่าจ้างได้สูงกว่าแรงงานที่ไม่เคยสัมผัสงานจริง และพัฒนาศักยภาพแรงงานและตอบสนองอุตสาหกรรมได้ทั้งระบบ โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาอบรมแรงงานใหม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง