เหล่าศิลปินร่วมสร้างศิลปะในพิธีพระราชทานเพลิงศพ "อังคาร กัลยาณพงศ์"

Logo Thai PBS
เหล่าศิลปินร่วมสร้างศิลปะในพิธีพระราชทานเพลิงศพ "อังคาร กัลยาณพงศ์"

ผลงานไม่ว่าจะเป็นบทกวี หรือ จิตรกรรม ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ล้วนมีคุณค่าฝากไว้ในวงการศิลปวัฒนธรรม ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มศิลปินหลากสาขา ร่วมกันถ่ายทอดผลงานศิลปะที่มีจิตรกรกวีผู้ยิ่งใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจ

<"">
<"">

 

พืชพันธุ์ธัญญาหารหลากชนิดวางข้างหม้อต้มน้ำขิง แยกประเภทอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ร่วมงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ "อังคาร กัลยาณพงศ์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้เรียนรู้วัตถุดิบธรรมชาติและขั้นตอนการปรุงขนมและอาหารพื้นบ้านก่อนรับประทาน ฝีมือชาวบ้านจากอยุธยา สร้างบรรยากาศวิถีพื้นบ้าน ควบคู่ไปกับการแสดงดนตรีไทยจากนักศึกษาและหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี จัดแสดงให้ชมตลอดทั้งวัน เปลี่ยนพื้นที่วัดทองนพคุณ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมและศิลปะ หวังให้งานสำคัญครั้งสุดท้ายที่ได้อุทิศให้กับจิตรกรกวีผู้ยิ่งใหญ่ ที่มอบความรู้ให้กับสังคมตลอดชีวิตศิลปิน

<"">
<"">

 

"ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งชาวบ้านจากอยุธยา และนักเรียนที่มาร่วมแสดง" ดุลย์พิชัย โกมลวานิช ศิลปิน/ผู้ดูแลการจัดงาน

"มีคนมาร่วมมากมาย น่าปลื้มใจแทน จัดกันจนเป็นป่าหิมพานต์" สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียน/นักวิชาการอิสระ

ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ก็ได้มีผลงานศิลปะของศิลปินหลากหลายแขนง ซึ่งทั้งหมดก็ได้แรงบันดาลใจและถ่ายทอดคุณค่าของงานศิลปะที่อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้ฝากให้กับวงการศิลปะ


"คางคกขึ้นวอทอง
ลอยล่องท่องเที่ยวสวรรค์
อึ่งอ่างไปด้วยกัน
เทวดานั้นหนีเข้ากะลาฯ"

ความตอนหนึ่งจากบทกวี วักทะเลเทใส่จาน ของอังคาร กัลยาณพงศ์ นำมาถ่ายทอดผ่านประติมากรรมนูนต่ำรูปคางคกในเกลียวคลื่น ประดับด้านหลังรูปปั้น พร้อมกับประติมากรรมรูป"นกอรหัน" ฝีมือจิตรกร หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ ที่ครั้งนี้ยังหันมาปั้นรูปเหมือนอาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ หวังให้ผลงานประติมากรรมชิ้นที่ 2 ในชีวิต สะท้อนคุณค่าผลงานทั้งจิตรกรรมและบทกวีของครูที่เคารพ

<"">
<"">

 

ยังมีวรรคทองจากบทกวี "หวังแสวงอะไรในชีวา" สลักลงบนฐานด้านหน้ารูปปั้น ถ่ายทอดบทกวีที่งดงาม เป็นอิสระ ไม่ถูกร้อยรัดด้วยรูปแบบที่ตายตัว ทั้งยังถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นจริงในสังคมผ่านจินตนาการด้วยภาษาที่สวยงาม หวังให้ประติมากรรมนี้ไม่เพียงเป็นอนุสรณ์แทนตัวครู ยังเป็นสื่อสืบทอดผลงานของศิลปินและกวีผู้เป็นแบบอย่าง

ความรู้ที่อาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้เคยศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานต่างๆ และถ่ายทอดผ่านบทกวีและงานจิตรกรรมมากมาย นำมาสร้างสรรค์ใหม่เป็นประติมากรรมลอยตัว ต่อยอดองค์ความรู้เดิมที่อาจารย์ศิลปินได้เคยทำไว้ ไม่เพียงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อรำลึกถึงศิลปินแห่งรัตนโกสินทร์ในวันสุดท้าย หากยังสะท้อนความตั้งใจของศิลปินรุ่นน้อง ที่แม้ อังคาร กัลยาณพงศ์ จะจากไปแล้ว หากผลงานที่ยังคงอยู่ไม่เพียงจะยังได้ทำหน้าที่สร้างสรรค์สังคมต่อไป ยังเป็นประโยชน์ให้ศิลปินรุ่นหลังได้นำมาเป็นแบบอย่างสร้างสรรค์งานศิลป์ต่อไปในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง