นักวิชาการ ชี้ บทบาท อปท. ต้องเป็นข้อต่อ นักถักทอชุมชน

ภูมิภาค
4 เม.ย. 56
11:01
115
Logo Thai PBS
นักวิชาการ ชี้ บทบาท อปท. ต้องเป็นข้อต่อ นักถักทอชุมชน

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมจัดเสวนา"บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างพลเมืองรุ่นใหม่"

 ภายใต้โครงการอบรม"หลักสูตรนักถักทอชุมชน : เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว" โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านชุมชน สังคมมาชี้ประเด็นได้อย่างน่าสนใจ 

 
รองศาสตราจารย์ปาริชาติ วลัยเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า "ท้องถิ่น" และ "ชุมชน" เป็นหน่วยทางสังคมที่สำคัญที่สุด เพราะมีสถาบันทางสังคมครบ ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน มีความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนนั้นสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน เพราะชุมชนรู้จักคนในพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นชุมชนต้องมองให้เห็น "ความหมาย" ความมี "คุณค่า" ของความเป็นท้องถิ่น เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของบ้าน เป็นธุระเมื่อมีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน ทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ป่า ผู้คนทั้งหลาย 
 
ชุมชนก็เหมือนกับจิตวิญญาณที่สอดแทรกอยู่ในพื้นที่ ดำรงอยู่อย่างมีความหมาย สำคัญเหมือนกับหัวใจ พื้นที่ก็เหมือนกับร่างกาย ถ้าไม่มีหัวใจ ไม่มีจิตวิญญาณมันก็ไร้คุณค่า ไร้ความหมาย ฉะนั้นความเป็นชุมชนมันเหมือนหัวใจที่ทำหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้เจริญเติบโต และมีพลังความสามารถที่สร้างให้พื้นที่นั้นมีชีวิตชีวา มีความหมายและทำให้เรามีความรัก ความเมตตาและความสุขร่วมกันในพื้นที่ โดยเยาวชนเองนั้นถือว่า เป็นกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น ที่จะสร้างความเข้มแข็งของทุนมนุษย์ ในท้องถิ่น และเยาวชนนั้น ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ในวันข้างหน้า การสร้างความเข็มแข็งชุมชนด้วยวิธีการถักทอความเข้มแข็งเหล่านี้ จะนำไปสู่เป้าหมายในระยะยาว หรือในเป้าหมายสูงก็คือการสร้างชุมชนเข้มแข็งและจัดการตัวเอง เพราะเราต้องถักทอตลอด ไม่ใช่ถักทอเฉพาะคนในพื้นที่เรา เราต้องไปหาภาคีมาช่วยเราทำงาน เราต้องหาผู้อื่น หาพรรคพวก หาคนที่เราจะทำงานด้วยมากๆ เพื่อจะสร้างพลังที่เข้มแข็งร่วมกัน
 
ด้าน นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป รองประธานกรรมการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ชี้ 4 ประเด็นใหญ่ๆ ที่ชุมชนต้องร่วมกันมอง คือ 1. เรื่องการรื้อฟื้นความเป็นชุมชน ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้นไปกว่าเดิมจากอดีต เพื่อที่จะให้อยู่รอดได้ในยุคที่มีการแข่งขัน หรือยุคโลกาภิวัฒน์ 2. ผู้ใหญ่ต้องเห็นคุณค่าของเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง โดยมองทิศทางไปที่เยาวชนตั้งแต่ 5-10 ปี และต้องมองให้เห็น ว่าเด็กคือคนที่จะรับช่วง รับภารกิจดูแลประเทศ บ้านเมือง ชุมชน ต่อไป 3. การสร้างคนรุ่นใหม่ได้ต้องมีการจัดการศึกษา ที่เน้นเรื่องการจัดการการศึกษา การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และต้องหวังผลเชิงคุณภาพของทรัพยากรคน และสุดท้าย 4.องค์กรปกครองท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญเรื่องการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 
 
สำหรับทิศทางของการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล หรือทุนมนุษย์ ในท้องถิ่นนั้น คงต้องจับมือกันระหว่างสถาบันแบบราชการ กับสถาบันแบบภาคประชาสังคม หรือองค์กรแบบมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่มีความคล่องตัวกว่า คนที่มาเข้าหลักสูตรถักทอชุมชนอาจจะเป็นบุคลากรของการปกครองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้บริหารท้องถิ่น หรืออาจจะเป็นข้าราชการท้องถิ่น แต่ผมว่าในอนาคต ถ้าจะประสบความสำเร็จ คนในท้องถิ่นสักครึ่งหนึ่ง หน่วยงานข้างนอกด้วย เพราะคำว่านักถักทอจะอยู่ทั้งในท้องถิ่นและนอกองค์กรปกครองท้องถิ่น การผสมกันครึ่งๆ จะต่อยอดกันได้มากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานส่วนกลาง สถาบันฝึกอบรมของราชการ และภาคประชาสังคม ต้องจับมือกันให้ดี
 
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กล่าวว่า เรื่องเด็กและเยาวชน ถ้าฝ่ายรัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม ทำงานร่วมกันจะเป็นพลังทำให้องค์กรของท้องถิ่นทำงานได้ดียิ่งขึ้น ถ้าเด็กดี เด็กมีคุณภาพ ปัญหาท้องถิ่นจะคลี่คลาย เพราะเรื่องนี้จะเป็นต้นทางของการแก้ปัญหาต่างๆ ปัญหาจะไม่โถมเข้ามาเป็นปัญหาระดับใหญ่เพราะว่า จะมีเด็ก เยาวชน และครอบครัว เปรียบเป็นฝายชะลอน้ำของประเทศ คือ คอยกรองในสิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศให้ลดลง ดังนั้น ท้องถิ่นจะสามารถทำอะไรได้หลายอย่างถ้าคนร่วมมือกัน 
 
"ที่ผมใช้คำว่า ฝายชะลอน้ำ เพราะปัญหาของประเทศมันก็มีเป็นปกติ แต่มันจะค่อยๆ บรรเทาลงด้วยฝายที่อยู่ในท้องถิ่นที่เราสังกัดอยู่ อันนี้ก็พูดจากความเชื่อและประสบการณ์ ผมถือว่าโครงการนี้ จะทำให้อย่างน้อยเราจะมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีทัศนคติที่ดีต่อปัญหา เด็กและเยาวชน และผมก็เชื่อว่า ทัศนคติที่ดีนี้แหละ ที่แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่จะสร้างความแตกต่าง อันยิ่งใหญ่ในสังคมได้"
 
ด้าน คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ชี้ว่าในชุมชนนั้นมีความงอกงามอยู่มากมาย เพียงแต่นักถักทอจะต้องลงไปสำรวจฐานทุนของตัวเองให้มาก โดยยกกรณีศึกษาบ้านน้ำคลำ ที่ อบต.มีความเข้มแข็ง มีบทบาทเข้ามาเสริมทุกส่วน ทั้งในเรื่องจัดการศึกษาและอื่นๆ เช่น จัดกิจกรรมให้กลุ่มเด็กเยาวชน ตามหานิทานในชุมชน เพราะปัจจุบันหนังสือมีราคาแพง ตกเย็นเด็กๆ จะวิ่งเข้าไปตามบ้านผู้เฒ่า ผู้แก่ ไปนั่งนวด คนเฒ่า คนแก่ ให้เล่านิทานให้ฟัง คนเฒ่าคนแก่ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความหมาย เด็กๆ เองก็ได้เก็บเรื่องราวมาถักร้อยเป็นนิทานที่เกิดจากชุมชน โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นครูบาอาจารย์ที่ปรึกษา ถือเป็นตัวอย่างการใช้สื่อนิทานถักทอคนในชุมชนให้เชื่อมร้อยกันอย่างมีพลัง และยิ่งมีองค์กรส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยหนุนเสริมด้วยแล้ว จะยิ่งมีพลังที่จะทำงานขยายทั้งในแง่คุณภาพ และในแง่ของจำนวนของกลุ่มคนเยาวชนในพื้นที่ 
 
นายทวีป จูมั่น หัวหน้าโครงการตำบลสุขภาวะ ตำบลหัวไผ่ จังหวัดสิงห์บุรี ตัวแทนภาคคนทำงานในพื้นที่ ระบุว่า บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องทำงานแบบคิดนอกกรอบ แต่ให้ยึดหน้าที่ ยึดระเบียบ สร้างสรรค์โครงการแบบมีชีวิต ส่วนนายกอบต. ปลัดสำนักอบต. ควรลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ ที่มีบทบาทเป็นนักกำกับ คอยกำกับสามส่วนใหญ่ๆ คือ นักวิเคราะห์ นักวิชาการศึกษา นักพัฒนาสังคม ให้เกิดการยกระดับ และช่วยพัฒนาการทำงานอย่างสอดประสานกัน หากทำได้ดังนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแน่นอน 
 
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง