บทเพลงเพื่อจุดจบของ "มาร์กาเรต แทตเชอร์"

ศิลปะ-บันเทิง
10 เม.ย. 56
15:24
184
Logo Thai PBS
 บทเพลงเพื่อจุดจบของ "มาร์กาเรต แทตเชอร์"

ขณะที่ชาวโลกกำลังไว้อาลัยการจากไปของมาร์กาเรต แทตเชอร์ แต่สำหรับชาวอังกฤษที่เติบโตมากับการปกครองที่เข้มงวดของอดีตสตรีเหล็ก ความตายของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานเพลงมาแล้วมากมาย

 Ding Dong! The Witch Is Dead เพลงที่ใช้ฉลองจุดจบของแม่มดร้ายใน The Wizard Of Oz ภาพยนตร์คลาสสิกปี 1939 กลับมาเป็นที่นิยมในอังกฤษอีกครั้ง จากการรณรงค์บนหน้าเฟซบุ๊คที่เรียกร้องให้ผู้ที่ไม่พอใจการบริหารงานของ มาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัยของอังกฤษ ช่วยกันทำให้เพลงนี้ขึ้นอันดับหนึ่งของชาร์ตอังกฤษในสัปดาห์ที่เธอเสียชีวิต ซึ่งโครงการซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2007 สร้างเสียบตอบรับอย่างดี เมื่อมีแฟนเพลงช่วยกันดาวน์โหลดเพลงนี้จนเข้ามาติดชาร์ตอันดับที่ 54 ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา 

 
ขณะที่ศิลปินยุคหลังของอังกฤษ เช่น เจอรี ฮัลลีเวล ของ Spice Girls หรือ แฮร์รี สไตล์ ของ One Direction ไว้อาลัยกับการจากไปของแทตเชอร์ แต่สำหรับศิลปินชนชั้นกรรมาชีพที่เติบโตในสมัยที่ลัทธิแทตเชอร์เรืองอำนาจในอังกฤษยุค 70 และ 80 แทตเชอร์คือสัญลักษณ์ของแนวคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัด ที่นำไปสู่วิกฤตการว่างงานเกือบ 30 ล้านตำแหน่ง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กับเอกชน และลดภาษีเงินได้ ที่ส่งผลต่อชีวิตผู้คนมากมายในระดับรากหญ้า 
 
ศิลปินส่วนหนึ่งถ่ายทอดความไม่พอใจผ่านบทเพลง เช่น ปัญหาการว่างงานจากการปิดเหมืองนับพันแห่ง ถ่ายทอดใน Ghost Town ของวง The Specials และ Town Called Malice ของ The Jam การต่อต้านนโยบายกีดกันผู้อพยพใน Maggi Tatcha on di go wid a racist show ของลินตัน คเวซี จอห์นสัน All My Trials เวอร์ชั่นคัพเวอร์ของ พอล แม็คคาร์ทนี ที่ประท้วงการตัดงบประมาณสุขภาพ รวมถึงบทเพลงต่อต้านสงครามฟอล์กแลนด์ ได้แก่ How Does It Feel to Be the Mother of 1,000 Dead ของวง Crass และNo Bombardeen Buenos Aires โดยศิลปิน ชาร์ลี การ์เซีย จากอาร์เจนตินา 
 
การเสียชีวิตของเธอยังเป็นสิ่งที่ศิลปินจินตนาการผ่านบทเพลงมาเนิ่นนาน ทั้ง Tramp the Dirt Down ของ เอลวิส คอสเทลโล ที่ฝันถึงการเป็นผู้กลบดินฝังนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ ซึ่งกลับมาติดชาร์ตอีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีเพลงที่กล่าวถึงการฉลองการจากไปของเธอทั้งของ พีท ไวลี และวง Hefner รวมถึงเพลงที่อื้อฉาวที่สุดอย่าง Margaret on the Guillotine ของ มอริซซี ซึ่งอดีตนักร้องนำวง The Smiths กล่าวว่าฉายาสตรีเหล็กที่แทตเชอร์ได้รับมาจากการบริหารงานที่ดื้อดึงและไม่ยอมรับความคิดเห็นจากภายนอก 
 
บารอนเนส แทตเชอร์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 เมษายนในวัย 87 ปี ที่โรงแรมหรูอย่าง ริทซ์ โฮเทล ยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนชรามากมายที่ต้องจบชีวิตอย่างแร้นแค้นหลังถูกตัดบำนาญในสมัยที่เธอเป็นผู้นำประเทศ โดยคณะละครเพลงเรื่อง Billy Elliot ที่ฉากหลังเป็นการประท้วงของคนงานเหมืองในยุค 80 ได้ถามความเห็นต่อสมาชิกผู้ชมของทีมงานว่าควรจะถอดเพลง Merry Christmas, Maggie Thatcher ที่ประพันธ์โดย เอลตัน จอห์นซึ่งพูดถึงจุดจบที่กำลังมาเยือนแทตเชอร์จากการแสดงในสัปดาห์นี้เพื่อให้เกียรติผู้ตายหรือไม่ ปรากฏว่าเกือบทุกคนเห็นว่าสมควรที่จะนำเพลงนี้มาแสดงตามปกติ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง