อาลัยการจากไปนักเขียนดัง "ศรีฟ้า ลดาวัลย์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

ศิลปะ-บันเทิง
17 เม.ย. 56
06:50
667
Logo Thai PBS
อาลัยการจากไปนักเขียนดัง "ศรีฟ้า ลดาวัลย์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

นักเขียนชื่อดัง เจ้าของนามปากกา "ศรีฟ้า ลดาวัลย์ -จุลลดา ภักดีภูมินทร์" สิ้นลมด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ หลังเข้ารับการรักษาที่รพ.พระมงกุฎเกล้า 4 วัน (ขอบคุณภาพจากคมชัดลึก)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ จากไปด้วยอาการอาการเส้นเลือดในสมองตีบ เมื่อเวลา 17.45 น. วันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา หลังเข้ารักษาตัวเพียง 4 วัน ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

 
โดยทายาทจะมีพิธีขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในเวลาร 18.00 น. วันที่ 18 เมษายน ที่ศาลาศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส และสวดอภิธรรมศพ จนถึงวันที่ 24 เมษายน จากนั้น จะเก็บศพไว้ 100 วัน เพื่อกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเพลิงศพต่อไป
   
<"">
  
<"">
ชีวิตความเป็นมาของ  หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ  ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2473 -เป็นทั้งนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น และสารคดีเกี่ยวชีวิตเจ้านายในวัง เจ้าของนามปากกา "ศรีฟ้า ลดาวัลย์" "สีฟ้า" และ "จุลลดา ภักดีภูมินทร์" ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2539
    
หม่อมหลวงศรีฟ้า เกิดที่วังมหาสวัสดิ์ เป็นธิดาของหม่อมราชวงศ์สนั่น ลดาวัลย์ กับนางบัวจันทร์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา มารดาเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 5 ขวบ  มีน้องสาวชื่อ หม่อมหลวงศรีทอง ลดาวัลย์ เป็นนักเขียนเช่นกัน ใช้นามปากกาว่า "ข.อักขราพันธ์" เป็นผู้เขียนนวนิยายเรื่อง "ภาพอาถรรพณ์", "ดาวพระศุกร์" และ "ดอกโศก"
                       
<"">
หม่อมหลวงศรีฟ้า จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เลิกเรียนเมื่ออยู่ชั้นปีที่ 3 แล้วไปเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟศรีราชา โรงเรียนพณิชยการพระนคร และโรงเรียนพณิชยการบพิตรพิมุข จนถึงปี พ.ศ. 2516 จึงลาออกมาเป็นนักเขียนอาชีพจนถึงปัจจุบัน
 
เริ่มงานเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายเมื่อ พ.ศ. 2489 ใช้นามปากกา "ภัฏฏินวดี" ตีพิมพ์ในนิตยสารเดลิเมล์ และไทยใหม่ ต่อมาได้ใช้นามปากกา "จุลลดา ภักดีภูมินทร์" เขียนนวนิยายเรื่อง "ปราสาทมืด" ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ เมื่อ พ.ศ. 2498 ได้รับความนิยมมาก ตีพิมพ์ใหม่หลายสิบครั้ง และมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ไทยและละครโทรทัศน์หลายครั้ง ต่อมาได้ใช้นามปากกา "ศรีฟ้า ลดาวัลย์" 
                       
<"">
ส่วนการเขียนเรื่องสั้น และนวนิยาย ส่วนนามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ใช้เขียนนวนิยายชีวิตครอบครัว ในระยะหลังได้ใช้นามปากกานี้ เขียนสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเชื้อพระวงศ์ในวัง ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย 
 
หม่อมหลวงศรีฟ้า เขียนนวนิยายสะท้อนสังคม โดยใช้นามปากกาว่า "สีฟ้า" ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ตั้งให้โดย มานิต ศรีสาคร (สีน้ำ) เป็นนามปากกาที่สร้างชื่อเสียง ผลงานได้รับรางวัล และถูกนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก เช่นเรื่อง "วงเวียนชีวิต" "ข้าวนอกนา" "ทำไม" "แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์" "ใต้ฟ้าสีคราม" "เศรษฐีนี" "ตะวันไม่เคยเลยลับ" โดยเฉพาะเรื่องข้าวนอกนา และ ใต้ฟ้าสีคราม ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยมูลนิธิโตโยต้า และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ สมรสกับนายบุญทัศน์ มหาวรรณ นักธุรกิจ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
                       
<"">
สำหรับผลงานโด่งดัง เป็นที่รู้จัก มีเรื่อง ขมิ้นกับปูน, ปราสาทมืด, บ่วง ,ข้าวนอกนา, กนกลายโบตั๋น, พรหมไม่ได้ลิขิต, วงเวียนชีวิต, สามอนงค์, กุหลาบไร้หนาม, คนกลางเมือง, พิกุลแกมเกดแก้ว ฯลฯ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง